แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ส. เป็นข้าราชการในมหาวิทยาลัยของรัฐ สิทธิขอรับสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์ซึ่งได้ประดิษฐ์ขึ้นในฐานะข้าราชการมหาวิทยาลัยดังกล่าวจึงมิใช่ของตน เมื่อ ส. โอนสิทธิไปให้โจทก์ โจทก์นั้นจึงไม่อาจอ้างความเป็นเจ้าของสิทธิในการขอรับสิทธิบัตรได้ ประกอบกับยังมีกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับผู้มีสิทธิในการขอรับสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์พิพาทที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
การฟ้องเรียกค่าเสียหายการละเมิดสิทธิบัตรต้องยื่นฟ้องต่อศาลหลังจากที่ได้มีการออกสิทธิบัตรให้แก่ผู้ขอรับสิทธิบัตรแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 เพิกถอนคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เลขที่ 052140 ชื่อการแสดงการประดิษฐ์ “เตาเผ่าแกลบแบบไซโคลน 2 ชั้น และวิธีการเผาไหม้” ที่มีรายละเอียดและสาระสำคัญการประดิษฐ์และข้อถือสิทธิเช่นเดียวกันคำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 058380 ชื่อแสดงการประดิษฐ์ “เตาและวิธีการเผาเศษวัสดุการเกษตร เพื่อกำเนิดพลังงานความร้อนที่ปลอดมลพิษด้วยห้องเผาไหม้ระบบลมหมุนวน 2 ห้อง” ของโจทก์และให้จำเลยที่ 2 เพิกถอนคำคัดค้านการขอรับสิทธิบัตรของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 1,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลมีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการแรกตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์เป็นเจ้าของสิ่งประดิษฐ์อันจะทำให้มีสิทธิขอรับสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์หรืออีกนัยหนึ่งโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ตามทางนำสืบของโจทก์รับฟังได้ว่า สิทธิในการประดิษฐ์และงานประดิษฐ์ตามฟ้องหรือที่โจทก์นำไปขอรับสิทธิบัตรต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นงานที่สำคัญที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยให้ทุนแก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีดำเนินการวิจัยและคิดค้นโดยมีศาสตราจารย์ ดร. สมชาติ ซึ่งเป็นนักวิชาการของมหาวิทยาลัยเป็นหัวหน้ากลุ่มวิจัยและเอกสารที่แนบโดยในสัญญาข้อ 8 ระบุให้หน่วยงานทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมกันในสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นจากโครงการวิจัยนี้ ต่อมาเมื่องานวิจัยเสร็จสมบูรณ์ ศาสตราจารย์ ดร.สมชาติ ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการได้ทำหนังสือโอนสิทธิในงานวิจัยให้แก่สองหน่วยงานดังกล่าวและโจทก์เพื่อนำไปยื่นขอรับสิทธิบัตรและสิทธิอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหน่วยงานทั้งสองและโจทก์จึงได้ไปยื่นขอรับสิทธิบัตรต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาตามคำขอเลขที่ 058380 อย่างไรก็ตาม ทางนำสืบของโจทก์ก็หาได้แสดงว่าหนังสือทำให้โจทก์มีอำนาจที่จะนำคดีมาฟ้องให้จำเลยที่ 1 ต้องเพิกถอนการยื่นขอรับสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์ที่โจทก์อ้างว่ามีสาระการประดิษฐ์เช่นเดียวกับงานตามโครงการวิจัยดังกล่าวพร้อมชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิด เพราะตามเอกสารที่โจทก์เป็นฝ่ายอ้างส่งมีใจความสำคัญระบุให้กองทุนสนับสนุนการวิจัยและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเป็นเจ้าของสิทธิในโครงการวิจัยนี้ร่วมกันโดยมีศาสตราจารย์ ดร.สมชาติเป็นเพียงผู้ทำการวิจัยในฐานะข้าราชการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเท่านั้น จึงไม่ใช่เจ้าของสิทธิในงานวิจัยที่จะมีอำนาจโอนให้โจทก์ได้ โจทก์จึงไม่อาจอ้างความเป็นเจ้าของสิทธิมาฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ กรณีจึงไม่จำต้องพิจารณาพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยที่ 1
นอกจากนี้สิทธิเนื่องจากทั้งโจทก์ (รวมถึงหน่วยงานทั้งสอง) และจำเลยที่ 1 ต่างยื่นคำขอรับสิทธิบัตรด้วยกัน และปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่าฝ่ายใดมีสิทธิขอรับสิทธิบัตร กรณีจึงเป็นไปตาม บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 35 ทวิ ที่บัญญัติให้ผู้ขอรับสิทธิเรียกค่าเสียหายจากผู้ละเมิดสิทธิด้วยการยื่นฟ้องต่อศาลแต่ต้องหลังจากที่ได้มีการออกสิทธิบัตรให้แก่ผู้ขอรับสิทธิบัตรแล้ว ดังนั้นเมื่อยังไม่มีการออกสิทธิบัตรให้แก่โจทก์เช่นนี้ โจทก์จึงยังไม่อาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ยื่นคำแก้อุทธรณ์ด้วยตนเองจึงไม่สั่งค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้.