แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 มีกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนคือ ท. หรือน. ร่วมกับกรรมการอื่นอีกคนหนึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นเพียงกรรมการของจำเลยที่ 1ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คโดยไม่ระบุให้ชัดว่ากระทำแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ย่อมต้องรับผิดตามเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 901
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินลงทุน260,000 บาท คืนโจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระก็ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3ร่วมกันชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินผลประโยชน์ตามสัญญาแก่โจทก์รวมทั้งสามสัญญาเป็นเงิน 17,700 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปทุกเดือนจนกว่าจะใช้เงินลงทุนคืนโจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 260,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ไม่เคยเชิดจำเลยที่ 3 ออกเป็นตัวแทนสัญญาการลงทุนและเช็คไม่มีลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และประทับตราจำเลยที่ 1 จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 การรับเงินหรือการสั่งจ่ายเช็คเป็นการกระทำโดยส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด เพราะจำเลยที่ 2 กระทำในนามของจำเลยที่ 1 แม้สัญญาจะมิได้ประทับตราของจำเลยที่ 1 เนื่องจากขณะทำสัญญาจำเลยที่ 1 ยังจดทะเบียนตั้งบริษัทไม่เสร็จจึงไม่อาจประทับตราได้ แต่จำเลยที่ 1 ยอมรับนิติกรรมต่าง ๆ สัญญาการลงทุนจึงผูกพันจำเลยที่ 1 เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1มิได้จัดทำสัญญาการลงทุนในฐานะส่วนตัว แต่ทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คร่วมกับจำเลยที่ 2ในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 1 ตามสัญญาการลงทุนมีปรากฏชัดว่าเป็นการออกเช็คเป็นประกัน และต้องนำเช็คไปแลกเงินสดกับจำเลยที่ 1 การที่โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินเป็นการกระทำนอกเหนือข้อตกลง จำเลยที่ 3จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินลงทุนรวม 260,000 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ และให้จำเลยที่ 1ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาทให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินจำนวน 260,000 บาท ให้โจทก์ ก็ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันใช้เงินตามเช็คจำนวน 200,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกามีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2 เพิกเฉยไม่จัดการนำส่งสำเนาฎีกาภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ เป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ให้จำหน่ายคดีของจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความของศาลฎีกา และวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1มีกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนคือพลตำรวจโทกริช ปัจฉิมสวัสดิ์แต่ผู้เดียวหรือนายนาวี ปัจฉิมสวัสดิ์ ร่วมกับกรรมการอื่นอีกหนึ่งคนลงลายมือชื่อและประทับตราของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2ที่ 3 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.1 และ ล.1/1 แต่จำเลยที่ 3 ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คเอกสาร จ.5 และ จ.8 โดยไม่ได้เขียนแถลงระบุให้ชัดว่ากระทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดตามความในเช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 901จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คทั้งสองฉบับแก่โจทก์คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน