คำวินิจฉัย(คำสั่ง)ที่ 2/2561

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ทั้งสิบสามยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ – ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและจำเลยที่ ๔ – ๘ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ จำเลยทั้งแปดโต้แย้งว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลที่รับฟ้อง ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง จนกระทั่งคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล มีคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๑๒๕/๒๕๖๐ ว่า คดีอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ผู้ร้องซึ่งเป็นทนายความโจทก์ทั้งสิบสามยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล เพื่อขอให้ทบทวนคำวินิจฉัยและมีคำวินิจฉัยใหม่ว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติว่า ถ้าศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น ให้ศาลที่ส่งความเห็นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดให้เสร็จสิ้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นให้คณะกรรมการลงมติให้ขยายเวลาออกไปได้ไม่เกินสามสิบวัน โดยให้บันทึกเหตุแห่งความจำเป็นนั้นไว้ด้วย และวรรคสองของมาตราดังกล่าว บัญญัติให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการที่เกี่ยวกับเขตอำนาจศาลตามวรรคหนึ่ง (๓) ให้เป็นที่สุด ดังนั้น เมื่อคดีนี้คณะกรรมการได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๑๒๕/๒๕๖๐ ว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกาหรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ตามมาตรา ๑๑ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลในคดีนี้ จึงถือเป็นที่สุด ตามมาตรา ๑๐ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องนี้

Share