แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ห้างหุ้นส่วนจำกัดน. เป็นผู้รับขนส่งน้ำยางพาราจากบริษัทอ. ไปส่งที่ท่าเรือน้ำลึก การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดน.สั่งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างไปรับน้ำยางพาราจากบริษัทอ.ถือว่าบริษัทอ. ได้มอบการครอบครองน้ำยางพาราให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดน. แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับมอบการครอบครองน้ำยางพารานั้นด้วยเมื่อจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 เอาน้ำยางพาราไปในระหว่างการขนส่ง ห้างหุ้นส่วนจำกัดน. ย่อมเป็นผู้เสียหายในฐานะเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาน้ำยางพาราจึงมีอำนาจร้องทุกข์ จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย แม้ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างผู้เสียหายลักทรัพย์ของผู้เสียหายในเวลากลางคืนก็ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้างด้วยเพราะความเป็นลูกจ้างเป็นเหตุเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7) วรรคสาม,83 เท่านั้น
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันโดยให้เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดนพชลและจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันลักทรัพย์น้ำยางพารา จำนวน 4,000 กิโลกรัม ราคา 60,000 บาทซึ่งเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดนพชลไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา334, 335, 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความคิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7)(11) วรรคสาม,83 จำคุกคนละ 5 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าน้ำยางพาราเป็นของบริษัทอินเตอร์รับเบอร์ลาเท็กซ จำกัดห้างหุ้นส่วนจำกัดนพชลจึงไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจร้องทุกข์นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดนพชลเป็นผู้รับขนส่งน้ำยางพาราจากบริษัทอินเตอร์รับเบอร์ลาเท็กซ จำกัด เพื่อนำไปส่งที่ท่าเรือน้ำลึกจังหวัดภูเก็ต การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดนพชลให้จำเลยที่ 1 ไปรับน้ำยางพาราจากบริษัทอินเตอร์รับเบอร์ลาเท็กซ จำกัด ถือว่าบริษัทอินเตอร์รับเบอร์ลาเท็กซ จำกัด ได้มอบการครอบครองน้ำยางพาราดังกล่าวให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดนพชลแล้วจำเลยที่ 1 หาได้รับมอบการครอบครองน้ำยางพารานั้นด้วยไม่จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 เอาน้ำยางพาราไปในระหว่างการขนส่ง ห้างหุ้นส่วนจำกัดนพชลย่อมเป็นผู้เสียหายในฐานะเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาน้ำยางพาราจึงมีอำนาจร้องทุกข์ฎีกาทุกข้อของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง จำเลยที่ 2 มิได้เป็นลูกจ้างของผู้เสียหายการที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลักทรัพย์ของผู้เสียหายในเวลากลางคืนจำเลยที่ 2 ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7) วรรคสาม, 83เท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายก็ตามจำเลยที่ 2 ก็ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้างตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1) ทั้งนี้เพราะความเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 จึงมิได้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(7)(11) วรรคสาม, 83 นั้นไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7) วรรคสาม, 83 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3