แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สัญญาค้ำประกันและจำนองเป็นประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ตกลงค้ำประกันหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 1 ด้วยเมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681 วรรคสองบัญญัติว่าหนี้ในอนาคตก็ประกันได้ และมาตรา 707 บัญญัติว่าบทบัญญัติมาตรา 681 ว่าด้วยค้ำประกันนั้น ท่านให้ใช้ได้ในการจำนองอนุโลมตามควร ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันไว้ก่อนที่จำเลยที่ 1กู้ยืมเงินโจทก์ครั้งที่ 3 ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินครั้งที่ 3 ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2538 จำเลยที่ 1กู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 1,500,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ตกลงผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนโจทก์เป็นรายเดือน อย่างน้อยเดือนละ 37,000 บาท ภายในวันที่ 29 ของทุกเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 29 กันยายน 2538เป็นต้นไป ทั้งนี้ต้องชำระให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 60 เดือนหากผิดนัดยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี และยินยอมชดใช้ค่าเสียหายอัตราร้อยละ 5 ของหนี้ที่ค้างชำระโดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม นอกจากนี้จำเลยที่ 2ยังจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 579 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้ทุกชนิดทุกประเภทที่จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์อยู่ในเวลานี้และในเวลาใดเวลาหนึ่งต่อไปในภายหน้าในวงเงิน 4,000,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่า หากโจทก์บังคับจำนองแล้วได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้จำเลยที่ 2 ยอมชำระส่วนที่ขาดอยู่แก่โจทก์จนครบถ้วน เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2538 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 1,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 1ออกตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ 1 กันยายน 2538 สัญญาว่าจะใช้เงินจำนวน 1,000,000 บาท แก่โจทก์เมื่อโจทก์ทวงถามพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี นับแต่วันที่ออกตั๋วตกลงชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์เป็นรายเดือน เริ่มชำระครั้งแรกในวันที่ 30 กันยายน2538 งวดต่อไปชำระทุกวันสิ้นเดือนโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงิน 2,500,000บาท และเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2538 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 1,500,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ 12 กันยายน 2538 สัญญาว่าจะใช้เงินจำนวน 1,500,000บาท แก่โจทก์เมื่อทวงถามพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปีตกลงจะชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์เดือนละครั้งเริ่มชำระครั้งแรกในวันที่ 30 กันยายน 2538 ครั้งต่อไปชำระทุกวันสิ้นเดือนภายหลังทำสัญญา จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์เพียงบางส่วนโจทก์จึงมีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยที่ 1 และมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 2 แล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,476,578.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี จากต้นเงิน 3,875,031 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 579 พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยกู้ยืมเงินและไม่เคยออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องให้ไว้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2ไม่เคยค้ำประกันและไม่เคยจดทะเบียนจำนองที่ดินไว้แก่โจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน4,407,826.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีจากต้นเงิน 3,875,031 บาท นับตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน2540 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดจำนวน 2,742,559.82 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 579 ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภีจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วนคำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2538 จำเลยที่ 1ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 1,500,000 บาทยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ตกลงชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนโจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 37,000 บาททุกวันที่ 29 ของเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 29 กันยายน 2538กำหนดชำระให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 60 เดือน หากผิดนัดยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญากู้ยืมและสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.7 และ จ.9 ในวันเดียวกันนั้น จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 579 ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ในวงเงิน 4,000,000 บาท ตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.10 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2538 จำเลยที่ 1กู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 1,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 1ทำบันทึกข้อตกลงและออกตั๋วสัญญาใช้เงินสัญญาว่าจะใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 1,000,000 บาท เมื่อทวงถาม หากผิดนัดยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามบันทึกข้อตกลงตั๋วสัญญาใช้เงิน และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.12 จ.14และ จ.15 และเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2538 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 1,500,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงและออกตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาว่าจะใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 1,500,000 บาท เมื่อทวงถามหากผิดนัดยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ตามบันทึกข้อตกลงและตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.16 และ จ.17 ภายหลังทำสัญญา จำเลยที่ 1ชำระหนี้แก่โจทก์เพียงบางส่วน โจทก์จึงทวงถามจำเลยที่ 1 และบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองได้รับแล้วเพิกเฉย ตามเอกสารหมาย จ.22 ถึง จ.25 ยอดหนี้คำนวณเพียงวันฟ้องโดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ตามสัญญากู้ฉบับแรกคิดเป็นต้นเงิน 1,375,031 บาท ดอกเบี้ย 215,446.63บาท ยอดหนี้ตามสัญญากู้ฉบับที่ 2 คิดเป็นต้นเงิน 1,000,000บาท ดอกเบี้ย 152,082.19 บาท ยอดหนี้ตามสัญญากู้ฉบับที่ 3คิดเป็นต้นเงิน 1,500,000 บาท ดอกเบี้ย 165,267.12 บาทรวมยอดหนี้ตามสัญญากู้ทั้งสามฉบับเป็นเงินทั้งสิ้น 4,476,578.49บาท
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกมีว่า การที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์ในครั้งที่ 3เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2538 จำนวน 1,500,000 บาท นั้น จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ เห็นว่า ในวันเดียวกับที่จำเลยที่ 1ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ฉบับแรก เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2538จำนวนเงิน 1,500,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย จ.7นั้น จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ร่วม ตามเอกสารหมาย จ.9และทำหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1เอกสารหมาย จ.10 ซึ่งในสัญญาจำนองข้อ 1 มีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 2 ตกลงจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวทั้งแปลงแก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้สินทุกชนิดของจำเลยทั้งสองที่มีต่อโจทก์ทั้งในเวลานี้และต่อไปในภายหน้าทั้งสิ้น เป็นจำนวนเงิน4,000,000 บาท และในหนังสือสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกัน เอกสารหมาย จ.11 ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจำนอง ข้อ 1 ก็ระบุว่าจำเลยที่ 2 ตกลงจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่จะมีขึ้นอีกในภายหน้าทั้งสิ้นแก่โจทก์ และโจทก์ตกลงรับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไว้เพื่อเป็นประกันหนี้สินทุกชนิดทุกประเภทที่จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์อยู่ในเวลานี้และในเวลาใดเวลาหนึ่งต่อไป ในภายหน้าเป็นเงินจำนวน4,000,000 บาท นอกจากนี้ในวันเดียวกับที่จำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.12 นั้นจำเลยที่ 2 ยังทำหนังสือสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ร่วมด้วยตามเอกสารหมาย จ.15ซึ่งในสัญญาค้ำประกันข้อ 1 มีข้อความระบุว่า ตามที่โจทก์ได้ให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์หรือได้นำตั๋วเงินซึ่งสั่งจ่ายโดยจำเลยที่ 1 เองหรือสั่งจ่ายโดยบุคคลอื่นใดก็ตามไปขายลดหรือแลกเงินไปจากโจทก์เป็นครั้งคราวซึ่งเป็นหนี้โจทก์อยู่ในเวลานี้และในเวลาใดเวลาหนึ่งต่อไปในภายหน้าในจำนวนเงิน2,500,000 บาท ดังนี้ ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าหนังสือสัญญาค้ำประกันและจำนองที่ดินเป็นประกันดังกล่าวนั้นค้ำประกันรวมถึงหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 1 ด้วย เพราะจำนองเป็นวงเงิน 4,000,000บาท และค้ำประกันทั้ง 2 ครั้ง ก็เป็นเงิน 4,000,000 บาท เช่นกันซึ่งเท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมไปจากโจทก์ทั้ง 3 ครั้งแม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองและทำหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.15 ให้ไว้แก่โจทก์ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะกู้ยืมเงินโจทก์ครั้งที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.16ก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681วรรคสอง บัญญัติว่าหนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขจะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริง ก็ประกันได้และมาตรา 707 บัญญัติว่า บทบัญญัติมาตรา 681 ว่าด้วยค้ำประกันนั้น ท่านให้ใช้ได้ในการจำนอง อนุโลมตามควร ดังนั้น แม้ว่าสัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ทำไว้ก่อนแต่ก็สามารถค้ำประกันหนี้การกู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ประธานในอนาคตได้ จำเลยที่ 2จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้ที่เกิดจากการผู้ยืมเงินครั้งที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.16 ด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ชำระเงินจำนวน 4,407,826.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18ต่อปี จากต้นเงิน 3,875,031 บาท นับตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน2540 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น