แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ที่ดินเดิม มีเพียง ส.ค.1 หากต่อมาเจ้าพนักงานออก น.ส.3 ให้แต่มีจำนวนเนื้อที่ไม่ตรงกัน ถือว่าจำนวนเนื้อที่ตามที่ปรากฏใน น.ส.3 ถูกต้องกว่า เพราะการออก น.ส.3 นั้น จะต้องมีการรังวัดเนื้อที่ดิน และมีเจ้าของที่ดินข้างเคียงรับรองแนวเขตว่าถูกต้อง แม้จำเลยฟ้องแย้งโจทก์เมื่อยังไม่เกิน 1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครอง ไม่ขาดสิทธิฟ้องแย้งเพื่อเอาคืนการครอบครอง แต่เมื่อ โจทก์ปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำในที่ดินของจำเลยโดยสุจริต จำเลย จึงไม่อาจบังคับให้โจทก์รื้อถอนโรงเรือนส่วนที่รุกล้ำได้ ฟ้องแย้งของจำเลยไม่ได้ขอให้โจทก์ใช้ค่าที่ดินที่โจทก์รุกล้ำ ดังนั้น การที่ศาลล่างพิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าที่ดินแก่จำเลยจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอฟ้องแย้ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์จะไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน 1 แปลง พร้อมโรงเรือนปลูกอยู่บนที่ดิน 1 หลังปี พ.ศ. 2501 – 2502 จำเลยปลูกโรงเรือนในที่ดินของจำเลยรุกล้ำเข้ามาในที่ดินโจทก์ทางทิศตะวันออกบางส่วน โจทก์ทักท้วงและยอมให้ที่ดินแปลงย่อยที่ 1 ซึ่งโรงเรือนจำเลยรุกล้ำเป็นของจำเลย แต่ส่วนหลังคาโรงเรือนจำเลยที่ยื่นเข้ามาในที่ดินโจทก์แปลงย่อยที่ 2โจทก์ให้จำเลยอาศัยอยู่ต่อไปจนกว่าโจทก์จะปลูกโรงเรือนหลังใหม่ จึงจะให้จำเลยรื้อหลังคาส่วนนี้ออก โดยจำเลยสัญญาว่าถ้าโจทก์ปลูกโรงเรือนหลังใหม่จำเลยยอมให้โจทก์ใช้ฝาผนังโรงเรือนของจำเลยร่วมด้วย ปี พ.ศ. 2525 โจทก์รื้อโรงเรือนหลังเก่าปลูกโรงเรือนหลังใหม่ โจทก์ขอใช้ฝาผนังร่วมตามสัญญาแต่จำเลยไม่ยอม โจทก์จึงให้จำเลยรื้อหลังคาโรงเรือนที่รุกล้ำออก จำเลยไม่รื้อ เดือนกันยายน 2525 จำเลยทำรั้วสังกะสีเข้ามาในที่ดินโจทก์และขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินส่วนที่รุกล้ำและในเดือนกรกฎาคม 2526 จำเลยได้ขอออกโฉนดที่ดินส่วนที่รุกล้ำดังกล่าวแปลงย่อยที่ 2 ที่พิพาทหมาย ก. ในคราวเดียวกันก็ขอออกโฉนดที่ดินรุกล้ำที่ดินโจทก์แปลงย่อยที่ 3 ที่พิพาทหมาย ข. โจทก์คัดค้านแล้ว แต่จำเลยยังละเมิดสิทธิของโจทก์ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทหมาย ก. และหมาย ข. เป็นของโจทก์ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องให้จำเลยรื้อหลังคาโรงเรือนจำเลยที่ยื่นเข้ามาในที่ดินโจทก์และรื้อรั้วสังกะสีในที่พิพาทหมาย ก. ออกจากแนวเขตที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินแปลงย่อยที่ 1 และที่ 2 จำเลยได้เข้าครอบครองเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 20 ปี โจทก์ไม่เคยทักท้วง อ้างสิทธิจำเลยไม่เคยให้สัญญาว่าจะให้โจทก์ใช้ฝาผนังโรงเรือนของจำเลยร่วมกัน และหลังคาโรงเรือนจำเลยไม่เคยล้ำเข้าไปในเขตที่ดินโจทก์ เดือนตุลาคม 2525 โจทก์รื้อโรงเรือนหลังเก่าและปลูกโรงเรือนหลังใหม่ล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยประมาณ 3 เมตรยาวตลอดแนวตามที่ดินแปลงย่อยที่ 3 จำเลยห้ามแล้วโจทก์ไม่ยอมรื้อถอนและกลับใช้สิทธิไม่สุจริตมาฟ้องคดีนี้ จำเลยปลูกโรงเรือนโดยสุจริตมาประมาณ 26 ปีและจำเลยครอบครองโรงเรือนนี้มาตลอด โจทก์และบุคคลอื่นไม่เคยเกี่ยวข้องโต้แย้งสิทธิฟ้องโจทก์ขาดอายุความและหากฟังว่าหลังคาโรงเรือนจำเลยรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ที่ดินดังกล่าวย่อมตกเป็นภารจำยอม โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรื้อหลังคาไม่ได้ จำเลยขอใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 50 บาท ขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์ และบังคับโจทก์ให้รื้อถอนโรงเรือนส่วนที่ปลูกสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินจำเลย ทำที่ดินให้กลับเป็นตามสภาพเดิม
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินแปลงย่อยที่ 1, 2 และ 3 เป็นของโจทก์ จำเลยปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินโจทก์ ชายคาโรงเรือนจำเลยทับชายคาโรงเรือนหลังเก่าของโจทก์ ที่ดินแปลงย่อยที่ 2 ไม่ตกอยู่ในภารจำยอม ข้อเสนอจำเลยยอมชดใช้ค่าภารจำยอมปีละ 50 บาท นั้นน้อยไปสมควรเป็นเดือนละ 200 บาท ฟ้องแย้งจำเลยขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ใช้เงินเป็นค่าใช้ที่ดินรายปีปีละ 200 บาท แก่จำเลยคำขออื่นของโจทก์จำเลยให้ยก
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาว่า ที่พิพาทหมาย ก.และหมาย ข. ตามแผนที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า เดิมที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินมี ส.ค. 1 ตามเอกสารหมาย จ.4 มีรูปที่ดินโดยประมาณกว้างด้านละ 5 วา ยาวด้านละ9 วา ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 โจทก์ได้ขอออก น.ส. 3 ปรากฏตามสำเนา น.ส. 3 เอกสารหมาย จ.5 มีรูปที่ดินโดยประมาณคือ ทิศตะวันตกและทิศตะวันออกยาวด้านละ8 วา 3 ศอก ทิศเหนือและทิศใต้ยาวด้านละ 4 วา 10 เซนติเมตร ที่โจทก์นำสืบว่าที่ดินของโจทก์ยังมีเนื้อที่ตาม ส.ค. 1 นั้นจึงฟังไม่ขึ้นเพราะการออก น.ส. 3 นั้นต้องมีการรังวัดเนื้อที่ดินและมีเจ้าของที่ดินข้างเคียงรับรองแนวเขตว่าถูกต้อง เจ้าพนักงานจึงจะออก น.ส. 3 ให้ได้ ส่วน ส.ค. 1 นับเป็นเพียงเจ้าของที่ดินไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานว่าตนมีที่ดินที่อยู่ในความครอบครองที่จำนวนเนื้อที่เท่าไรเท่านั้นโดยเจ้าพนักงานไม่ได้ออกไปรังวัดสอบเขตเนื้อที่ดินที่แจ้งไว้ เนื้อที่ดินตาม ส.ค. 1 จึงไม่แน่นอนต้องถือว่าเนื้อที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่ตามที่ปรากฏอยู่ใน น.ส. 3 ซึ่งตาม น.ส. 3ซึ่งตาม น.ส. 3 ดังกล่าวระบุว่าที่ดินโจทก์ด้านทิศตะวันตกยาว 8 วา 8 ศอก ซึ่งเท่ากับ17 เมตร 50 เซนติเมตร แต่ตามแผนที่พิพาทที่เจ้าหน้าที่ศาลทำขึ้นปรากฏว่าโจทก์นำชี้ที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกซึ่งรวมที่พิพาทหมาย ข. ว่ายาว 18 เมตร ซึ่งเกินเนื้อที่ดินของโจทก์ตาม น.ส. 3 ไป 50 เซนติเมตร โรงเรือนของโจทก์จึงรุกล้ำเข้าไปที่ดินของจำเลยด้านทิศใต้กว้าง 50 เซนติเมตร ไม่ใช่ 3 เมตร 40 เซนติเมตร ตามที่จำเลยฟ้องแย้ง เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าโจทก์ปลูกสร้างโรงเรือนดังกล่าวเมื่อปี พ.ศ. 2525และจำเลยฟ้องแย้งโจทก์คดีนี้ในปี พ.ศ. 2526 ซึ่งยังไม่เกิน 1 ปี จำเลยจึงไม่ขาดสิทธิฟ้องแย้งเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครอง แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำในที่ดินของจำเลยโดยสุจริต จำเลยจึงไม่อาจบังคับให้โจทก์รื้อถอนโรงเรือนส่วนที่รุกล้ำได้ ส่วนที่ศาลล่างทั้งสองให้โจทก์ใช้ค่าใช้ที่ดินแก่จำเลยเป็นเงินปีละ 200 บาท นั้น เห็นว่าฟ้องแย้งของจำเลยไม่ได้ขอให้โจทก์ใช้ค่าใช้ที่ดินที่โจทก์รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลย ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ใช้ค่าใช้ที่ดินแก่จำเลยจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอฟ้องแย้งเป็นการไม่ชอบ แต่ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์จะไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้สำหรับที่พิพาทหมาย ก. นั้น โจทก์ถูกแย่งการครอบครองเป็นเวลาล่วงเลยมานั้นถึงวันโจทก์ฟ้องเกินกว่า 1 ปี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง”
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ไม่ต้องเสียเงินค่าใช้ที่พิพาทหมาย ข. แก่จำเลย 200 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์