คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5969/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 16.833 กรัม ซึ่งความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในส่วนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวต้องด้วยบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท อันเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่ากฎหมายเดิม ส่วนการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 400 เม็ด นั้น ไม่ปรากฏว่ามีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เท่าใด กรณีต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อันเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่ากฎหมายเดิมเช่นกันก็ตาม แต่การจะนำโทษตามกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดมากำหนดโทษใหม่ในคดีที่ถึงที่สุดแล้วนั้น จะต้องปรากฏว่าโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 50 ปี และฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 10 ปี แล้วลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 25 ปี และ 5 ปี ตามลำดับ การกำหนดโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงอยู่ในระวางโทษตามบทบัญญัติกฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงถือไม่ได้ว่าโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง กรณีไม่เข้าอยู่ในเกณฑ์ ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะรื้อฟื้นกำหนดโทษใหม่ให้จำเลยที่ 1 ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2543 ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 50 ปี ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 10 ปี ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 60 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 61 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 30 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 31 ปี และศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2545 แก้เป็นว่าความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 12 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องลงวันที่ 4 มกราคม 2548 ว่า เมทแอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เพียง 16.833 กรัม ไม่ถึง 20 กรัม จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 67 (เดิม) ซึ่งเป็นคุณมากกว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง จึงขอให้ศาลชั้นต้นรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษากำหนดโทษของจำเลยที่ 1 เสียใหม่ และให้สอดคล้องกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ด้วย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 จึงไม่รับคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า คดีของจำเลยที่ 1 ถึงที่สุดแล้ว จึงไม่มีกฎหมายให้อำนาจศาลพิพากษาในส่วนของจำเลยที่ 1 ใหม่ให้เป็นไปตามคำพิพากษาในส่วนของจำเลยที่ 2 และคดีไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 5 ที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ ทั้งกรณีไม่เข้าอยู่ในเกณฑ์จะกำหนดโทษใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) และพิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เพียงว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับการกำหนดโทษใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3 (1) หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ว่า จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 1,080 เม็ด มีปริมาณเมทแอมเฟตามีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 16.833 กรัม และจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน 400 เม็ด ไม่ปรากฏน้ำหนักอีกส่วนหนึ่งไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 400 เม็ด ดังกล่าว และในระหว่างที่จำเลยที่ 1 กำลังรับโทษตามคำพิพากษาซึ่งคดีที่ถึงที่สุดแล้วอยู่นั้น ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความว่า เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 16.833 กรัม ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในส่วนของจำเลยที่ 1 นี้จึงต้องด้วยมาตรา 66 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท อันเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่ากฎหมายเดิม ส่วนการกระทำความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 400 เม็ดนั้น ไม่ปรากฏว่ามีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เท่าใด กรณีต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อันเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่ากฎหมายเดิมเช่นกัน แต่การที่จะนำโทษตามกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดมากำหนดโทษใหม่ในคดีที่ถึงที่สุดแล้วนั้น จะต้องปรากฏว่าโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง คดีนี้ศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 50 ปี ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 10 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 25 ปี และ 5 ปี ตามลำดับ การกำหนดโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงอยู่ในระวางโทษตามบทบัญญัติกฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงถือไม่ได้ว่าโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง กรณีไม่เข้าอยู่ในเกณฑ์ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษใหม่ให้จำเลยที่ 1 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share