แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เงินที่จำเลยยักยอกเอาไปใช้ส่วนตัวเป็นเงินค่าบำรุงที่เจ้าภาพงานศพมาใช้ฌาปนสถานกรมตำรวจมอบให้แก่จำเลยเพื่อเก็บส่งเป็นเงินสวัสดิการต่อกรมตำรวจ มิใช่เงินของทางราชการ หรือของรัฐบาลที่จำเลยผู้เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษา จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 คงมีความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดรวม 33 กรรม จำคุกกระทงละ 5 ปี ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดรวมจำคุก 165 ปี จำเลยรับสารภาพในชั้นพนักงานตรวจเงินแผ่นดินและนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 เหลือโทษจำคุก 110 ปีแต่คงให้จำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3)จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าพนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบบัญชีการเงินฌาปนสถานกรมตำรวจ วัดตรีทศเทพ พบว่าระหว่างวันที่ 8 มกราคม 2520ถึงวันที่ 14 กันยายน 2524 เงินฌาปนสถานและสุสานที่วัดตรีทศเทพขาดบัญชีไปเป็นเงิน 7,810 บาท ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย เป็นค่าบำรุงสุสาน 15 ราย รายละ 350 บาท เป็นเงิน5,250 บาท ค่าบริการไฟฟ้าฉายภาพยนตร์ 1 รายเป็นเงิน350 บาท ค่าทำบุญเลี้ยงพระ 17 ราย รายละ 30 บาท เป็นเงิน510 บาท รวมเป็นเงิน 6,110 บาท และอยู่ในความรับผิดชอบของจ่าสิบตำรวจบุญชู เอี่ยมระเบียบ 1,700 บาท ตามเอกสารหมาย จ.21 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้รับเงินตามฟ้องไว้และไม่ได้นำส่งกรมตำรวจจริงหรือไม่ โจทก์มีนางมยุรี แก้วประเสริฐ กับนางสาวบุปผา รุ่งศรีทองพนักงานตรวจเงินแผ่นดินมาเป็นพยานว่า เมื่อตรวจบัญชีของงานฌาปนสถาน กรมตำรวจ วัดตรีทศเทพ พบว่าเงินขาดบัญชี7,810 บาท อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยซึ่งเป็นหัวหน้างานฌาปนสถานดังกล่าว จึงได้เรียกเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องมีนางสาวสมนึก เถื่อนทับ นางสาวจำนง โสมาพงศ์นายดาบตำรวจบุญชู เอี่ยมระเบียบจ่าสิบตำรวจ(ยศขณะนั้น)ศุภชัย สายรัดเงิน มาสอบถามได้ความว่า เมื่อรับเงินค่าบำรุงสุสาน ค่าไฟฟ้า ค่าทำบุญเลี้ยงพระจากผู้มาใช้บริการงานฌาปนสถานและจะบันทึกไว้แล้วนำไปมอบให้จำเลยเซ็นชื่อรับไว้มีที่รับไว้บางรายมอบให้จำเลยวันเดียวกันก็ไม่ได้ให้ลงชื่อรับและได้มอบเงินให้จำเลยหมดแล้ว มีเพียงรายเดียวคือรายศพนายชัยรัตน์ บุญประดิษฐ์ ที่จำเลยรับเงินไว้เองแล้วไม่ได้ลงบัญชีตามบันทึกสอบปากคำเอกสารหมาย จ.8 จ.28 จ.29 และ จ.30ตามลำดับ นางสาวสมนึกกับร้อยตำรวจเอกศุภชัยมาเป็นพยานโจทก์ว่าได้ส่งมอบเงินค่าบำรุงสุสานให้จำเลยหมดแล้วทั้งนางสาวบุปผา รุ่งศรีทอง พยานโจทก์อีกปากหนึ่งยังยืนยันด้วยว่าเมื่อเรียกจำเลยมาสอบถามจำเลยก็รับว่า ได้รับเงินดังกล่าวไว้จากเจ้าหน้าที่จริงและได้นำเงินดังกล่าวไปรวมกับเงินส่วนตัวแล้วนำไปใช้ประโยชน์เป็นการส่วนตัว ตามบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.31 พยานโจทก์ต่างให้การและมาเบิกความสอดคล้องต้องกันสมเหตุผล ทั้งไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ย่อมจะไม่มีเหตุที่จะระแวงสงสัยว่าจะมาแกล้งกล่าวหาปรักปรำให้ร้ายจำเลย ทั้งจำเลยก็ให้ถ้อยคำรับสารภาพต่อนางสาวบุปผาไว้โดยละเอียด ที่จำเลยอ้างว่าสับสนนั้นเป็นไปไม่ได้เพราะนางสาวบุปผาได้สรุปทำบัญชีเงินขาดบัญชีไว้แต่เดือนกันยายน 2528 เพิ่งมาสอบปากคำจำเลยเมื่อวันที่23 กุมภาพันธ์ 2525 เป็นเวลาที่จำเลยควรทราบล่วงหน้าก่อนให้ถ้อยคำถึง 4 เดือนเศษ ย่อมมีเวลาคิดตระเตรียมที่จะให้ถ้อยคำไว้ดังนั้นถ้อยคำของจำเลยที่ให้ไว้ตามเอกสารหมาย จ.31 จึงไม่ใช่ถ้อยคำที่สับสนแต่อย่างใด ประกอบกับเมื่อพลตำรวจตรีโกวิท ภู่พานิชผู้บังคับการกองสวัสดิการเรียกเงินจำนวนที่ขาดบัญชีจากจำเลยจำเลยก็นำเงินไปชำระให้กรมตำรวจแต่โดยดี ตามเอกสารหมายล.2 และ ล.3 ถ้าจำเลยไม่ได้รับเงินไว้จริงก็ไม่มีเหตุที่จะต้องนำเงินไปชำระให้ตามที่ทวงมา ที่จำเลยฎีกาว่า ถ้อยคำของนางสาวสมนึกไม่น่าเชื่อถือเป็นการโยนความผิดให้พ้นตัวและถ้อยคำของร้อยตำรวจเอกศุภชัยเป็นการเบิกความกลับไปกลับมานั้น นางสาวสมนึกเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลย คงไม่กล้าที่จะเบิกความปรักปรำจำเลยโดยไม่เป็นความจริง ส่วนถ้อยคำของร้อยตำรวจเอกศุภชัยก็ไม่ปรากฏว่าเบิกความกลับไปกลับมาทำให้ไม่น่าเชื่อถือแต่อย่างใด เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาฟังได้ว่าจำเลยรับเงินดังกล่าวไว้และไม่ได้นำส่งกรมตำรวจจริง
ปัญหาต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ ข้อที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยเบียดบังทรัพย์อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากพันตำรวจโทวิโรจน์ สัตยสัณห์สกุล และนางมยุรีว่าเงินรายได้ฌาปนสถานที่จำเลยไม่ได้ส่งกรมตำรวจตามที่โจทก์กล่าวหาทั้งหมดนี้เป็นเงินนอกงบประมาณไม่ใช่เงินรายได้ของแผ่นดิน แต่ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 นั้นทรัพย์ที่เจ้าพนักงานเบียดบังเอาไว้เป็นของตนหรือของผู้อื่นต้องเป็นทรัพย์ที่เจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาแต่ในคดีนี้เงินที่จำเลยยักยอกเอาไปใช้ส่วนตัวเป็นเงินค่าบำรุงที่เจ้าภาพงานศพมาใช้ฌาปนสถานมอบให้แก่จำเลยเพื่อเก็บส่งเป็นเงินสวัสดิการต่อกรมตำรวจเท่านั้นหาใช่เงินของทางราชการหรือของรัฐบาลที่จำเลยผู้เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทำ จัดการ หรือรักษา แต่อย่างใดไม่ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรานี้จึงจะลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ไม่ได้ แต่ศาลฎีกามีความเห็นต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 แต่ความผิดอธิบดีกรมตำรวจปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมตำรวจรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2528 ตามเอกสารหมาย ป.จ.1แต่พันตำรวจโทวิโรจน์ สัตยสัณท์สกุลเพิ่งได้รับคำสั่งจากผู้บังคับการกองสวัสดิการกรมตำรวจ ให้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2530 ตามเอกสารหมาย จ.1 การร้องทุกข์ซึ่งจะต้องดำเนินการตั้งแต่รับคำสั่งจึงเกิน 3 เดือนนับแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำผิดแล้ว คดีจึงขาดอายุความ แม้จำเลยไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ศาลฎีกาก็ยกขึ้นพิจารณาได้เองที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์