แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ว่าจ้างโจทก์ในนามของจำเลยที่ 1 ให้ซ่อมเครื่องปั๊มของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสามร่วมรับผิดต่อโจทก์ ส่วนที่คำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์นั้น เป็นที่เห็นได้ว่าเป็นการพิมพ์ผิดพลาด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขัดกันอันจะทำให้ไม่อาจทราบได้ว่าโจทก์จะบังคับจำเลยคนใด ทั้งต่อมาโจทก์ได้ขอแก้ไขคำขอท้ายฟ้องเป็นจำเลยทั้งสามซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งคำสั่งไว้จึงต้องห้ามอุทธรณ์คำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเกี่ยวกับคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นการไม่ชอบและถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการรับฟังพยานหลักฐาน จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 224 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในข้อนี้ให้เป็นการไม่ชอบและถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง เช่นกัน
โจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงว่าจะชำระเงินค่าซ่อมกันเมื่อมีการวางบิลแล้ว สิทธิเรียกร้องค่าซ่อมของโจทก์จึงเกิดขึ้นนับแต่วันวางบิล อายุความต้องเริ่มนับแต่วันวางบิล ซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 169 เดิม (มาตรา 193/12 ที่แก้ไขใหม่) หาใช่นับแต่วันที่ลงในใบส่งของอันเป็นวันรับมอบการที่ทำตาม ป.พ.พ. มาตรา 602 ไม่ เมื่อนับแต่วันวางบิลถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ