คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 595/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เฮโรอีนของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 การส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัม ขึ้นไปตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) บัญญัติให้ถือว่าเป็นการส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเมื่อเฮโรอีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 189.761 กรัม เกินกว่าสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัม จึงเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และพยายามส่งออกเพื่อจำหน่ายตามบทกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2546 เวลากลางวันจำเลยมีเฮโรอีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 4 ห่อ น้ำหนัก 293.520 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 189.761 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำเลยพยายามส่งออกซึ่งเฮโรอีนเพื่อจำหน่าย โดยนำเฮโรอีนดังกล่าวบรรจุในถุงพลาสติก 4 ซองพันด้วยแถบกาวติดไว้กับรอบโคนขาด้านในกางเกงทั้งสองข้าง ข้างละ 2 ซอง และกำลังจะรอขึ้นเครื่องบินออกไปนอกราชอาณาจักรจำเลยลงมือกระทำความผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอด เนื่องจากเจ้าพนักงานตรวจพบเสียก่อน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 66, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3, 7, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 90 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหามีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองและพยายามนำออกนอกราชอาณาจักร ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม, 65 วรรคสอง, 66 วรรคสาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามนำเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคสอง และประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 52 (1), 80 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน ริบเฮโรอีนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 7 ด้วย ลงโทษฐานพยายามนำเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 และพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 7 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ส่วนกำหนดโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยพร้อมยึดได้ของกลางเป็นเฮโรอีน 4 ห่อ น้ำหนัก 293.520 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 189.761 กรัม ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองและพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักร
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาข้อแรกว่า จำเลยมีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองและพยายามส่งออกซึ่งเฮโรอีนของกลาง ไม่ได้มีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและไม่ได้พยายามส่งออกซึ่งเฮโรอีนของกลางเพื่อจำหน่านนั้น เห็นว่า เฮโรอีนของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 การส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัม (0.375 กรัม) ขึ้นไป ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) บัญญัติให้ถือว่าเป็นการส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อเฮโรอีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 189.761 กรัม เกินกว่าสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัม (0.375 กรัม) จึงเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และพยายามส่งออกเพื่อจำหน่ายตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่จำเลยฎีกาข้อต่อมาขอให้ศาลฎีกากำหนดโทษจำเลยน้อยลงนั้น เห็นว่า ความผิดฐานส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เพื่อจำหน่ายต้องระวางโทษประหารชีวิต ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคสอง ความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมขึ้นไปต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาทหรือประหารชีวิต ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคสาม และพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 7 บัญญัติว่า “ผู้ใดพยายามกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จ” โทษที่ลงแก่จำเลยจึงเป็นโทษประหารชีวิต ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคสอง ดังที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยโดยละเอียดและถูกต้องแล้วศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำ และกรณีไม่มีเหตุให้กำหนดโทษน้อยลง ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share