คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 595/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1514 วรรคสอง มิได้กำหนดไว้ว่าจะต้องทำหนังสือยินยอมหย่าที่บ้านของคู่กรณี จะทำที่ไหนก็ได้ก่อนที่จะมีการจดทะเบียนการหย่า เมื่อได้ความว่าหนังสือยินยอมหย่าระหว่างโจทก์และ ว. ทำขึ้นที่ว่าการอำเภอก่อนที่จะมีการจดทะเบียนการหย่าโดยทั้งสองฝ่ายลงลายมือชื่อไว้และมีพยานลงลายมือชื่อสองคนถูกต้อง จึงเป็นหนังสือยินยอมหย่าที่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อโจทก์และ ว. ได้นำหนังสือยินยอมหย่ามาแสดงและเจ้าพนักงานทะเบียนได้จดทะเบียนให้ตามความต้องการแล้ว การหย่าของโจทก์กับ ว. ก็มีผลสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1515 นับแต่ได้มีการจดทะเบียนการหย่า ส่วนการที่มีระเบียบการจดทะเบียนครอบครัวฯกำหนดให้นายทะเบียนที่รับการจดทะเบียนต้องแจ้งการจดทะเบียนการหย่าไปยังที่ว่าการอำเภอที่จดทะเบียนสมรสก็ดี หรือต้องแจ้งไปยังสำนักงานทะเบียนกลาง กรุงเทพมหานครก็ดี เป็นแต่เพียงวิธีการในการปฏิบัติราชการให้มีหลักฐานปรากฏเพื่อประโยชน์แก่การควบคุมและตรวจสอบการรับจดทะเบียนอันเป็นการวางระเบียบภายในให้ถือปฏิบัติระหว่างเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยด้วยกันเท่านั้นการที่ไม่แจ้งไปจึงไม่ทำให้การจดทะเบียนการหย่านั้นไม่สมบูรณ์แต่ประการใด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองเบิกจ่ายเงินบำเหน็จตกทอดกับเงินพิเศษ 3 เดือน ในส่วนที่โจทก์จะได้รับจำนวน 45,143.75 บาทให้โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์จดทะเบียนหย่ากับ ว. แล้ว ก่อนที่ว. จะถึงแก่ความตาย จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยพิเศษและส่วนแบ่งเงินบำเหน็จตกทอด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สิทธิในการรับเงินช่วยพิเศษและเงินบำเหน็จตกทอดไม่เป็นมรดกที่โจทก์จะจัดการในฐานะผู้จัดการมรดกแต่ในส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับเงินในฐานะผู้มีสิทธินั้น พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 คิดคำนวณเบิกจ่ายให้โจทก์ไม่เกิน 455,143.75บาท ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในฐานะส่วนตัวเสียค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์นำสืบว่านายวิบูลย์ ใช้อาวุธปืนขู่บังคับให้โจทก์ไปจดทะเบียนหย่านั้นการจดทะเบียนหย่าระหว่างโจทก์และนายวิบูลย์นั้นได้กระทำกันที่ว่าการอำเภอสว่างอารมณ์ อันเป็นสถานที่ราชการที่มีข้าราชการปฏิบัติงานอยู่เป็นจำนวนมาก กรณีจึงไม่อาจจะเชื่อได้ว่าจะมีการจดทะเบียนหย่ากันโดยโจทก์ถูกบังคับขู่เข็ญ ทั้งข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้แจ้งถึงเรื่องที่อ้างว่านายวิบูลย์ใช้อาวุธปืนขู่เข็ญโจทก์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนการหย่าแต่อย่างใด ถ้ามีการขู่เข็ญดังที่โจทก์อ้างจริงการแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก็ไม่เป็นการยากและไม่เป็นอันตรายแก่โจทก์อีกด้วย การที่โจทก์ไม่แจ้งความข้อนี้ทำให้เห็นว่าไม่น่าจะมีการขู่เข็ญตามที่โจทก์อ้าง ทั้งตามคำเบิกความของนางผึ่ง มุ่งการมารดานายวิบูลย์ก็ว่าโจทก์เป็นคนชวนนายวิบูลย์หย่า และนางฟ้าวลัยเนียมนาค ผู้ที่ลงชื่อเป็นพยานในทะเบียนการหย่า ก็มาเบิกความรับรองว่า โจทก์กับนายวิบูลย์มีท่าทีเต็มใจหย่าขาดจากกัน ซึ่งนางฟ้าวลัยไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด จึงเชื่อได้ว่าเบิกความไปตามที่รู้เห็น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า การจดทะเบียนหย่าระหว่างโจทก์และนายวิบูลย์ตามเอกสารหมาย จ.3 บันทึกการหย่าโดยความยินยอมตามเอกสารหมาย จ.4 นั้น มิได้เกิดขึ้นจากการขู่เข็ญตามที่โจทก์อ้างส่วนที่โจทก์อ้างว่าเอกสารหมาย จ.4 ไม่ได้ทำกันมาก่อนที่บ้านคู่กรณีจึงเป็นการไม่ชอบนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514วรรคสอง บัญญัติว่า “การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน” ซึ่งการทำหนังสือยินยอมหย่ากันตามที่บัญญัติไว้นั้น มิได้กำหนดไว้ว่าจะต้องทำที่บ้านของคู่กรณีตามที่โจทก์อ้าง จะทำที่ไหนก็ได้ก่อนที่จะมีการจดทะเบียนหย่า เมื่อเอกสารหมาย จ.4 นั้น ได้ความว่าโจทก์และนายวิบูลย์ทำขึ้นที่ว่าการอำเภอก่อนที่จะมีการจดทะเบียนการหย่า โดยทั้งสองฝ่ายลงลายมือชื่อไว้และมีพยานลงลายมือชื่อสองคนถูกต้อง จึงเป็นหนังสือยินยอมหย่าที่ถูกต้องตามบทกฎหมายที่กล่าวข้างต้น สำหรับการที่โจทก์อ้างมาในฎีกาประการสุดท้ายว่าการที่เจ้าพนักงานทะเบียนไม่ได้แจ้งการหย่าไปยังที่ว่าการอำเภอที่จดทะเบียนสมรสและสำนักทะเบียนกลางกรุงเทพมหานคร การหย่าจึงยังไม่สมบูรณ์นั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 บัญญัติว่า “เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้ การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีและภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว” และตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 มาตรา 18บัญญัติว่า “การจดทะเบียนการหย่าโดยความยินยอมนั้น ให้นายทะเบียนรับจดต่อเมื่อสามีและภริยาร้องขอ และได้นำหนังสือตามที่ระบุไว้ในมาตรา 1498 วรรคสอง (มาตรา 1514 ปัจจุบัน) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาแสดงต่อนายทะเบียนด้วย” เมื่อโจทก์และนายวิบูลย์ ได้นำหนังสือยินยอมหย่าตามเอกสารหมาย จ.4 มาแสดงและเจ้าพนักงานทะเบียนได้จดทะเบียนหย่าให้ตามความต้องการตามทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย จ.3 แล้ว การหย่าของโจทก์กับนายวิบูลย์ก็มีผลสมบูรณ์ตามที่กฎหมายกำหนดนับแต่ได้มีการจดทะเบียนการหย่าแล้วส่วนการที่มีระเบียบการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2483 ข้อ 4, 7และ 31 กำหนดให้นายทะเบียนที่รับการจดทะเบียน ต้องแจ้งการจดทะเบียนการหย่าไปยังที่ว่าการอำเภอที่จดทะเบียนสมรสก็ดี หรือต้องแจ้งไปยังสำนักงานทะเบียนกลาง กรุงเทพมหานครก็ดีเป็นแต่เพียงวิธีการในการปฎิบัติราชการให้มีหลักฐานปรากฎเพื่อประโยชน์แก่การควบคุมและตรวจสอบการรับจดทะเบียนอันเป็นการวางระเบียบภายในให้ถือปฏิบัติระหว่างเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยด้วยกันเท่านั้น การที่ไม่แจ้งไปจึงไม่ทำให้การจดทะเบียนหย่านั้นไม่สมบูรณ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้แต่ประการใด ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ เพราะโจทก์ไม่มีฐานะเป็นคู่สมรสในอันที่จะมีสิทธิรับเงินบำเหน็จตกทอดกับเงินช่วยพิเศษของนายวิบูลย์ จึงไม่มีอำนาจฟ้องชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share