แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความยินยอมของบิดามารดาที่ให้บุตรของตนซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นนั้น กฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องทำเป็นหนังสือ
บิดาลงชื่อแต่ผู้เดียวให้ความยินยอมในการจดทะเบียนบุตรของตนเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นนั้น หากปรากฏว่ามารดามิได้ว่ากล่าวคัดค้านอย่างไรตลอดมาเป็นเวลา 20 ปีเศษ และเมื่อเกิดมีคดีพิพาทเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของการรับบุตรบุญธรรมนี้มาก่อนแล้วครั้งหนึ่ง มารดาก็ไม่ได้เกี่ยวข้องคัดค้านเลย ดังนี้ พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่ามารดาได้ให้ความยินยอมด้วยแล้วในการรับบุตรบุญธรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นหลานนางปิ่น ๆ ตาย ๒๖ กันยายน ๒๕๐๒ โดยไม่มีผู้สืบสันดาน โจทก์จึงเป็นทายาทโดยธรรม ก่อนนางปิ่นตาย นางปิ่นจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม แต่ไม่ได้รับความยินยอมของมารดาจำเลย และสามีนางปิ่น การับบุตรบุญธรรมจึงเป็นโมฆะ ทั้งนางปิ่นได้จดทะเบียนเลิกการรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าการรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมเป็นโมฆะ ให้ส่งทรัพย์มรดกนางปิ่นให้โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นบุตรบุญธรรมนางปิ่นโดยบิดามารดาจำเลยยินยอมแล้ว จำเลยอยู่ในปกครองของนางปิ่นมากว่า ๑๐ ปี ไม่มีผู้ใดคัดค้าน แม้จะฟังว่ามารดาจำเลยและคู่สมรสนางปิ่นไม่ได้ให้ความยินยอม ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสามารถของบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี จึงไม่เป็นโมฆะ กรณีเดียวกันนี้จำเลยเคยพิพาทกับนางแดงและพวกมาครั้งหนึ่ง ศาลชี้ขาดเรื่องฐานะของจำเลยว่าเป็นบุตรบุญธรรมนางปิ่นโดยชอบ ตามสำนวนคดีแพ่งแดงที่ ๕๐/๒๕๐๓ ผลของคำพิพากษาดังกล่าวผูกพันโจทก์ในคดีนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้อง
โจทก์จำเลยแถลงรับกันตามรายงานพิจารณาของศาลวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๐๓ และเมื่อคู่ความตรวจดูสมุดทะเบียนบุตรบุญธรรมแล้วไม่ปรากฏว่านางปิ่นได้จดทะเบียนเลิกรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม โจทก์จึงไม่ขอสืบในประเด็นนี้ ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยยกข้อกฎหมายเป็นข้อต่อสู้ด้วย หากได้วินิจฉัยข้อกฎหมายนี้จะเป็นคุณแก่จำเลย และจะทำให้คดีเสร็จไปทั้งสำนวนได้โดยไม่ต้องสืบพยาน จึงเห็นควรวินิจฉัยข้อกฎหมายเบื้องต้นตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔ โดยให้งดสืบพยาน แล้วพิพากษาว่า ในคดีแพ่งแดงที่ ๕๐/๒๕๐๓ ศาลชี้ขาดว่าจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายของนางปิ่น เป็นคำพิพากษาเกี่ยวด้วยฐานะของบุคคลใช้ยันโจทก์ในคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๕๕ (๑) ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า ในคดีเรื่องก่อนคู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในประเด็นที่ว่า มารดาจำเลยซึ่งยังมีชีวิตอยู่ไม่ได้ให้ความยินยอมในการที่นางปิ่นรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม จึงจำเอาคำพิพากษาในคดีนั้นมาใช้ยันโจทก์ไม่ได้ และกรณีไม่เป็นฟ้องซ้ำ เพราะมิใช่คู่ความปละประเด็นเดียวกัน ขอให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และสั่งให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ต่อไป
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามหลักฐานสำนวนที่คู่ความอ้างมาเป็นพยานว่า นางปิ่นจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมเมื่อ ๒๖ กรกฎาคม ๒๔๘๓ โดยนายเถี้ยนให้บิดาจำเลยลงชื่อให้ความยินยอม นางไกว่มารดาจำเลยไม่ได้ลงชื่อด้วย แต่นางไกว่ขณะนี้ยังมีชีวิตอยู่ มิได้คัดค้านประการใด จำเลยอยู่กับนางปิ่นตลอดมาจนนางปิ่นตาย จำเลยนี้กับนายจวง นางแดง นางแช่ม เคยพิพาทกันในคดีแพ่งแดงที่ ๕๐/๒๕๐๓ ซึ่งคู่ความโต้เถียงกันว่าจำเลยไม่ใช่บุตรบุญธรรมโดยชอบ เพราะสามีนางปิ่นไม่ได้ให้ความยินยอม ศาลวินิจฉัยคดีนั้นว่า ขณะรับบุตรบุญธรรม สามีนางปิ่นตายไปก่อนแล้ว ส่วนสามีใหม่ไม่ได้จดทะเบียน ฉะนั้น จำเลยจึงเป็นบุตรบุญธรรมที่ชอบด้วยกฎหมายของนางปิ่น แล้วโจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นพี่น้องกับนางแดง นางแช่ม จึงมาฟ้องจำเลยขึ้นใหม่โดยตั้งประเด็นอ้างว่า นางไกว่มารดาจำเลยไม่ได้ให้ความยินยอมในการรับบุตรบุญธรรม
ศาลฎีกาวิเคราะห์แล้วเห็นว่า ขณะจดทะเบียนรับจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมของนางปิ่นนั้น บิดาจำเลยลงชื่อให้ความยินยอมแล้ว ส่วนนางไกว่ แม้จะไม่ได้ลงชื่อด้วย อาจเป็นว่านายเถี้ยนให้สามีลงชื่อไว้คนเดียวเพียงพอแล้วก็ได้ และนางไกว่เวลานี้ยังมีชีวิตอยู่ มิได้ว่ากล่าวคัดค้านอย่างไรตลอดมาเป็นเวลาถึง ๒๐ ปีเศษ ทั้ง ๆ ที่ได้มีการพิพาทในเรื่องนี้กันในคดีแพ่งแดงที่ ๕๐/๒๕๐๓ นางไกว่ก็มิได้เกี่ยวข้องคัดค้าน ตามพฤติการณ์ดังกล่าว คดีฟังได้ว่านางไกว่ได้ยินยอมด้วยแล้วในการรับบุตรบุญธรรมของนางปิ่น สมดังข้อต่อสู้ของจำเลย และในเรื่องเช่นนี้กฎหมายไม่ได้บังคับว่าคำยินยอมต้องทำเป็นหนังสือ ฉะนั้น การรับบุตรบุญธรรมของนางปิ่นจึงชอบด้วยกฎหมาย คดีไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาข้ออื่น
พิพากษายืน