แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พิมพ์สลากกินแบ่งปลอมขึ้นแต่ยังไม่มีเลขลำดับไม่ได้เข้าเล่มและยังไม่ประทับตราประธานและเลขานุการก็เป็นผิดฐานปลอมหนังสือ ไม่ใช่เพียงคั่นพยายาม
ข้าหลวงประจำจังหวัดได้รับอนุมัติกระทรวงมหาดไทยออกสลากกินแบ่งหาเงินรายได้บำรุงเทศบาลจังหวัดนั้น และเป็นเวลาก่อนมีกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาล สลากกินแบ่งนั้นถือว่าเป็นหนังสือสำคัญธรรมดา ไม่ใช่หนังสือสำคัญในราชการศาลชั้นต้นและศาลอาญาพิพากษาต้องกันให้จำคุกจำเลย 5 ปีฎีกาข้อเท็จจริงไม่ได้
ศาลชั้นต้นวางมาตรา 225 จำคุก 7 ปี ศาลอุทธรณ์วาง ม.224-60 จำคุก 3 ปี 4 เดือน เป็นการแก้มาก คู่ความฎีกาข้อเท็จจริงได้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ม.225 พิจารณาได้ความว่าจำเลยมีผิดตาม ม.224 ศาลลงโทษจำเลยตาม ม.224 ได้การฎีกาว่าตามข้อเท็จจริงที่ได้ความมาจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่ตาม ม.319(3) หรือไม่ เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
ย่อยาว
ได้ความว่าเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติให้ข้าหลวงประจำจังหวัดชลบุรีจัดการออกสลากกินแบ่งหาเงินไว้เป็นของจังหวัดชลบุรี เพื่อบำรุงเทศบาลโดยมีคณะกรรมการ ๑๕ นายเป็นผู้จัดการและดำเนินการ นายนิติจำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการและเลขานุการ และคณะกรรมการได้มอบหมายให้นายนิติจำเลยเป็นผู้จัดการพิมพ์สลากจำหน่ายสลากและเก็บรักษาเงินที่ขายได้จนกว่าจะสั่งแก่คณะกรรมการนายนิติจำเลยได้จ้างโรงพิมพ์พิมพ์สลากปลอมขึ้นสองหมื่นฉะบับ แต่ยังไม่มีเลขลำดับ ยังไม่เข้าเล่มและยังไม่ได้ประทับตราชื่อประธานและเลขานุการ และจำเลยได้ยักยอกเงินค่าขายสลากกินแบ่งไปด้วย
ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำเลยฐานยักยอกตาม ม.๓๑๙(๑) จำคุก ๕ ปี ฐานปลอมหนังสือสำคัญในราชการตาม ม.๒๒๕(๑) จำคุก ๗ ปีกับให้ใช้เงินที่ยักยอก
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ตัดสินยืนในฐานยักยอก แต่ในเรื่องปลอมหนังสือนั้นเห็นว่าการกระทำเป็นเพียงคันพยายามและไม่ใช่หนังสือสำคัญในราชการ จึงให้ลงโทษฐานนี้ตาม ม.๒๒๔-๖๐ จำคุก ๓ ปี ๔ เดือน
โจทก์จำเลยฎีกา ศาลฎีกาตัดสินว่าความผิดฐานยักยอกจำเลยฎีกาข้อเท็จจริงไม่ได้ ส่วนความผิดฐานปลอมหนังสืนั้นเห็นว่า จำเลยทำปลอมขึ้นทั้งฉะบับหรือส่วนใดส่วนหนึ่งก็เรียกว่าปลอม การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นเพียงฐานพยายาม แต่คงเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่า การออกสลากรายนี้ไม่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของราชการ จำเลยจึงมีผิดเพียงฐานปลอมหนังสือสำคัญ ถึงแม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษตาม ม.๒๒๕ ก็ลงโทษจำเลยตาม ม.๒๒๔ ได้โดยประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๙๒ วรรค ๔ ในข้อที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแสดงว่าจำเลยได้สมคบกับนางสวาสดิ์ยักยอกเงินรายนี้ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่าจะลงโทษจำเลยตาม ม.๓๑๙(๓) ไม่ได้นั้น เมื่อศาลล่างฟังมาว่าจำเลยยอมรับเป็นกรรมการออกตั๋วฉลาดรายนี้แล้ว จำเลยก็เป็นผู้มีหน้าที่ตาม ม.๓๑๙(๓) จึงพิพากษาแก้ศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษจำเลยตาม ม.๒๒๔ จำคุก ๕ ปี นอกนั้นยืน