แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุมาก่อนวันที่6 มิถุนายน 2535 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ใช้บังคับ โดยไม่ได้รับอนุญาตการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21,65 วรรคหนึ่ง,70 แต่ต่อมามีพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 22ให้ยกเลิกความในมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 และมาตรา 25 ให้ยกเลิกความในมาตรา 70แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และให้ใช้ความใหม่แทนบทกำหนดโทษตามมาตรา 65 วรรคหนึ่งเดิมซึ่งเป็นบทกำหนดโทษผู้ก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท แต่มาตรา 65 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับส่วนมาตรา 70 ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษให้หนักขึ้นในการกระทำผิดอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรมระวางโทษ จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษ ที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ หรือทั้งจำทั้งปรับแต่มาตรา 70 ที่แก้ไขใหม่ ระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ อันเป็นกรณีที่กฎหมาย ที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดอันมีทั้งส่วนที่เป็นคุณและเป็นโทษแก่ผู้กระทำ ความผิด ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใดดังนั้น จึงต้องนำมาตรา 70 ที่แก้ไขใหม่ อันเป็นคุณแก่จำเลยยิ่งกว่ามาตรา 70 เดิม มาใช้บังคับแก่จำเลย และยังคงใช้มาตรา 65 วรรคหนึ่งเดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดอันเป็นคุณแก่จำเลยยิ่งกว่ามาตรา 65ที่แก้ไขใหม่ มาใช้บังคับแก่จำเลย จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 65 วรรคหนึ่งเดิม พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคสอง เดิม มิได้บัญญัติให้ระวางโทษปรับรายวันแก่ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ตามมาตรา 21 ด้วย จึงลงโทษปรับจำเลยเป็นรายวัน ตามคำขอของโจทก์ไม่ได้ การก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 31 นั้น จะลงโทษปรับเป็นรายวัน ตามมาตรา 65 วรรคสอง ได้ก็ต่อเมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารดังกล่าวแล้ว และผู้ได้รับคำสั่งไม่ปฏิบัติตามมาตรา 42 วรรคสอง ในกรณีเช่นนี้จึงจะลงโทษปรับรายวันได้ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน หรือจนกว่า จะปฏิบัติตามแล้วแต่กรณี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 21, 31, 32, 65, 69, 70, 80พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7, 9,22, 25 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 21, 31, 32, 65,69, 70 ความผิดฐานเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90จำคุก 3 เดือน และปรับ 60,000 บาท และให้ปรับอีกวันละ2,000 บาท นับแต่วันที่จำเลยฝ่าฝืน คือวันที่ 12 มกราคม 2536ถึงวันที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536เป็นเวลา 21 วัน เป็นเงิน 42,000 บาท ส่วนความผิดฐานก่อสร้างอาคารผิดแบบแปลนโดยเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารผิดแบบแปลน และเป็นการก่อสร้างอาคารพาณิชยกรรมเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมผิดแบบแปลน ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 เดือน และปรับ60,000 บาท และให้ปรับอีกวันละ 2,000 บาท นับแต่วันที่จำเลยฝ่าฝืนวันที่ 12 มีนาคม 2536 จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องคิดถึงวันฟังคำพิพากษาเป็นเวลา 1,180 วัน คิดเป็นเงิน2,360,000 บาท เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 รวมจำคุก 6 เดือน และปรับ 162,000 บาท และปรับอีกวันละ 2,000 บาท นับแต่วันที่ 12 มีนาคม 2536 ไปจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติให้ถูกต้อง ค่าปรับคิดถึงวันฟังคำพิพากษาเป็นเงิน2,360,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยมีอาชีพค้าขายรถยนต์มีสำนักงานอยู่ติดกับอาคารที่เกิดเหตุซึ่งก่อสร้างในที่ดินของนายตี๋ แซ่เล้ามีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้ก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุมาก่อนถูกตรวจพบเป็นเวลานานแล้ว และเชื่อว่าก่อสร้างมาก่อนวันที่ 6 มิถุนายน 2535 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ใช้บังคับโดยไม่ได้รับอนุญาตการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 21, 65 วรรคหนึ่ง, 70 แต่ต่อมามีพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ออกใช้บังคับโดยมาตรา 22 ให้ยกเลิกความในมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และมาตรา 25 ให้ยกเลิกความในมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522และให้ใช้ความใหม่แทนบทกำหนดโทษตามมาตรา 65 วรรคหนึ่งเดิมซึ่งเป็นบทกำหนดโทษผู้ก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท แต่มาตรา 65 วรรคหนึ่งที่แก้ไขใหม่ ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนมาตรา 70 ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษให้หนักขึ้นในการกระทำผิดอันเกี่ยวกับอาคารเพื่อพาณิชยกรรมระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ หรือทั้งจำทั้งปรับแต่มาตรา 70 ที่แก้ไขใหม่ ระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ อันเป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดอันมีทั้งส่วนที่เป็นคุณและเป็นโทษแก่ผู้กระทำความผิด ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใดดังนั้นจึงต้องนำมาตรา 70 ที่แก้ไขใหม่อันเป็นคุณแก่จำเลยยิ่งกว่ามาตรา 70 เดิมมาใช้บังคับแก่จำเลย และยังคงใช้มาตรา 65 วรรคหนึ่งเดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดอันเป็นคุณแก่จำเลยยิ่งกว่ามาตรา 65 ที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับแก่จำเลย จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคหนึ่งเดิมและมาตรา 70 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 25 ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ปรับจำเลยเป็นรายวันนั้นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 65 วรรคสองเดิม มิได้บัญญัติให้ระวางโทษปรับรายวันแก่ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 21 ด้วย จึงลงโทษปรับจำเลยเป็นรายวันไม่ได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่าจำเลยกระทำผิดฐานจัดให้มีการก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า มีการก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต เมื่อจำเลยเป็นผู้ยื่นคำขอและดำเนินการก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุ จำเลยจึงมีความผิดฐานจัดให้มีการก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตามฟ้องแต่ที่ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยเป็นรายวันด้วยนั้น เห็นว่าการก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 31 นั้นจะลงโทษปรับเป็นรายวัน ตามมาตรา 65 วรรคสองได้ก็ต่อเมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารดังกล่าวแล้ว และผู้ได้รับคำสั่งไม่ปฏิบัติตามมาตรา 62 วรรคสองในกรณีเช่นนี้จึงจะลงโทษปรับรายวันได้ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะปฏิบัติตามแล้วแต่กรณี แต่ตามคำฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยเป็นรายวันจึงเป็นการลงโทษนอกเหนือจากฟ้อง
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดฐานก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 21, 65 วรรคหนึ่งเดิม และมาตรา 70ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2535 มาตรา 25 ปรับ 20,000 บาท ฐานจัดให้มีการก่อสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31,65 วรรคหนึ่ง, 70 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 7, 22, 25 จำคุก 3 เดือนปรับ 60,000 บาท รวมจำคุก 3 เดือน ปรับ 80,000 บาทไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน สมควรให้โอกาสจำเลยประพฤติปฏิบัติตนตามกฎหมายและศีลธรรม จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30