แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยขายของไม่ออกใบรับเงินนั้น เป็นเรื่องไม่กระทำ คือ ไม่ออกใบรับ มีบทบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้โดยเฉพาะอยู่แล้วตามมาตรา 105 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 มาตรา 55 หาเป็นความผิดฐานหลีกเลียงการเสียภาษีอากรตามมาตรา 37 (2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 มาตรา 14 ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีการกระทำด้วยไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประกอบการค้าในสถานที่การค้าที่จำเลยได้จดทะเบียนการค้าตามประมวลรัษฎากร ได้บังอาจหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร โดยขายสุราแม่โขง ๒ ขวด ราคา ๔๕ บาท ให้ผู้มีชื่อไปไม่ออกใบรับเงิน และภาษีการค้า ภาษีเงินได้ อากรแสตมป์ที่จำลยจะต้องเสียนี้คำนวณจากจำนวนเงินตามต้นขั้วใบเสร็จรับเงิน การที่จำเลยไม่ออกใบรับเงิน ทำให้เจ้าพนักงานไม่ได้คำนวณเรียกเก็บภาษีอากรดังกล่าว จึงขอให้ลงโทษฐานหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรและไม่ออกใบรับเงินตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๓๗, ๑๐๔, ๑๐๕ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๔, ๔๘, ๕๕
จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดฐานไม่ออกใบรับเงินตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๐๕ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๕๕ ลดแล้วปรับ ๗๕ บาท ส่วนข้อหาฐานหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กล่าวเท็จหรือฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน ดังบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๔ ที่แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร มาตรา ๓๗ แต่อย่างใด จำเลยไม่ผิดฐานนี้
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษฐานหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ประมวลรัษฎากร มาตรา ๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๔ บัญญัติว่า
“มาตรา ๓๗ ผู้ใด
(๑) …………………….
(๒) โดยความเท็จ โดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามลักษณะนี้
ต้องระวางโทษ……………………….”
การที่จำเลยจะมีความผิดตามมาตรา ๓๗ (๒) นี้ ต้องปรากฏว่า จำเลยได้หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร โดยมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่บัญญัติไว้คือ กระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือกระทำโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว แต่กรณีของจำเลยเป็นเรื่องไม่กระทำ คือ ไม่ออกใบรับ จึงไม่ต้องด้วยมาตรา ๓๗ (๒) ทั้งการไม่กระทำ คือ ไม่ออกใบรับเช่นนี้ ก็ได้มีบทบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้โดยเฉพาะแล้ว คือ มาตรา ๑๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๕๕ ฉะนั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดตามมาตรา ๓๗ (๒) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๔ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน