คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5945/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขยายกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ให้อีกไม่เกิน 2 เดือน เฉพาะแต่เจ้าหนี้ที่อยู่นอกราชอาณาจักรเท่านั้น เมื่อเจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามิได้ยื่นคำขอรับ ชำระหนี้ในกำหนดเวลาตามมาตรา 91 เจ้าหนี้จึงหมดสิทธิที่จะขอรับชำระหนี้ การที่เจ้าหนี้ไม่ทราบคำสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโดยสุจริตเพราะเหตุจำเลย ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ก็ไม่ใช่เหตุที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะขยายกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้และ กรณีก็ไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 10 และมาตรา 23 ประกอบด้วยมาตรา 153 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ย่อยาว

คดีนี้มูลกรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2535 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในหนังสือพิมพ์ฉบับลงวันที่ 27 มกราคม 2536 และประกาศโฆษณาในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2536 ครบกำหนดที่เจ้าหนี้จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ ภายในวันที่ 9 เมษายน 2536ครั้นถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2536 เจ้าหนี้ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า เจ้าหนี้ไม่สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ได้ทันภายในเวลากำหนดเพราะมีเหตุสุดวิสัย เนื่องจากเจ้าหนี้เพิ่งทราบตามคำแถลงของจำเลยเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2536อันเป็นวันนัดพิจารณาคดีของศาลจังหวัดตากที่เจ้าหนี้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องลูกหนี้เป็นจำเลยขอให้ล้มละลายตามคดีหมายเลขดำที่ ล.1/2536เป็นศาลจังหวัดตาก ว่าจำเลยได้เปลี่ยนชื่อจากนายประกิต ชูกิตติกุลเป็นนายชลัชช ชูกิตติกุล และศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยซึ่งใช้ชื่อว่านายชลัชช ชูกิตติกุล ในคดีนี้แล้วขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้เป็นเงินจำนวน 19,014,033.71 บาท โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ ต่อมาวันที่ 15 มิถุนายน 2536เจ้าหนี้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นกลับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ และให้รับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง เจ้าหนี้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายืน เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาเจ้าหนี้ว่าเจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อพ้นเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือไม่ ซึ่งเจ้าหนี้ฎีกาว่า เจ้าหนี้ไม่สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ทันภายในเวลากำหนดเพราะมีเหตุสุดวิสัย เนื่องจากจำเลยได้เปลี่ยนชื่อใหม่นั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 27บัญญัติว่า “เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้วเจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัตินี้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้ว แต่คดีอยู่ให้ระหว่างพิจารณาก็ตาม”ส่วนจะยื่นเมื่อใดนั้นมีมาตรา 91 บัญญัติว่า “เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย จะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตามต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกำหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือน” ดังนั้น เจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้จะต้องมายื่นคำขอรับชำระหนี้โดยไม่มีข้อยกเว้น ส่วนกำหนดเวลา 2 เดือนนี้มีข้อยกเว้นให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขยายกำหนดเวลาให้อีกไปเกิน2 เดือน เฉพาะแต่เจ้าหนี้ที่อยู่นอกราชอาณาจักรเท่านั้น ฉะนั้นเมื่อเจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในกำหนดเวลาตามมาตรา 91 เจ้าหนี้จึงย่อมหมดสิทธิที่จะขอรับชำระหนี้ดังกล่าว การที่เจ้าหนี้ไม่ทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโดยสุจริตเพราะเหตุอันเนื่องมาจากจำเลยได้เปลี่ยนชื่อใหม่ดังที่เจ้าหนี้กล่าวอ้างมาในฎีกา ก็ไม่ใช่เหตุที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้เพราะมิเช่นนั้นจะเท่ากับเป็นการขยายเวลาตามมาตรา 91 ออกไปซึ่งไม่มีกฎหมายให้กระทำได้และกรณีก็ไม่อาจนำมาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 10 และ มาตรา 23 ประกอบด้วยมาตรา 153 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาใช้บังคับโดยอนุโลมดังที่เจ้าหนี้ฎีกาไว้อีกข้อหนึ่งได้ คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ชอบแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้ยกคำร้องของเจ้าหนี้ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share