คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5943/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่าจำเลยได้ทำคำขอเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับโจทก์และแต่งตั้งให้โจทก์เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์แทนจำเลยแล้วโจทก์ได้ซื้อขายหลักทรัพย์ให้จำเลยหลายครั้งเมื่อหักทอนบัญชีกันแล้วจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามจำนวนที่โจทก์ฟ้องโจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระโดยได้แนบสำเนารายละเอียดการสั่งซื้อหุ้นการสั่งขายหุ้นยอดเงินสุทธิการซื้อขายให้แก่จำเลยเป็นเอกสารท้ายฟ้องอันเป็นมูลแห่งคำฟ้องไว้เป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172วรรคสอง ตามสัญญาตั้งตัวแทนเอกสารหมายจ.4ขณะนั้นโจทก์ใช้ชื่อว่า”บริษัทไทยค้าหลักทรัพย์จำกัด”ต่อมาโจทก์ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น”บริษัทหลักทรัพย์ไทยค้าจำกัด”การทำเอกสารตั้งตัวแทนตามเอกสารหมายจ.16ขึ้นใหม่จึงเป็นเพราะโจทก์เปลี่ยนชื่อใหม่นั่นเองถือไม่ได้ว่าการตั้งตัวแทนตามเอกสารหมายจ.4ได้สิ้นสุดลงไปแล้วแต่เป็นการยืนยันตั้งโจทก์ซึ่งเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ให้จำเลยต่อไปเช่นเดิมแม้ทั้งเอกสารหมายจ.4หรือจ.16มิได้กำหนดให้จำเลยมีหน้าที่ต้องแจ้งหรือมีหนังสือเลิกสัญญาเป็นตัวแทนกับโจทก์แต่การเลิกสัญญาต้องกระทำด้วยการแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่งเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยหรือโจทก์ได้แสดงเจตนาเลิกสัญญาแก่อีกฝ่ายหนึ่งและไม่มีพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยกับโจทก์ได้เลิกสัญญากันโดยปริยายสัญญาตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังไม่เลิกกันจนกระทั่งโจทก์แจ้งให้จำเลยชำระเงินส่วนที่ขาดอยู่ตามหนังสือทวงถามจึงถือได้ว่าโจทก์เพิ่งบอกเลิกสัญญาตัวแทนกับจำเลยในวันที่จำเลยได้รับหนังสือทวงถามฉะนั้นการที่โจทก์ทำการเป็นตัวแทนให้จำเลยในการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ในช่วงเวลาที่จำเลยแต่งตั้งให้โจทก์เป็นตัวแทนจนถึงวันบอกเลิกสัญญาการกระทำดังกล่าวของโจทก์จึงเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนกระทำแทนตัวการภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทนตามที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยซึ่งเป็นตัวการจำเลยจึงต้องรับผิดในหนี้ที่เกิดจากการดำเนินการดังกล่าวให้แก่โจทก์การที่โจทก์เคยเรียกให้จำเลยไปชำระเงินเพิ่มแต่จำเลยแจ้งว่าไม่มีเงินที่จะชำระโจทก์จึงได้ทำการขายหุ้นที่โจทก์สั่งซื้อให้จำเลยเพื่อชำระค่าหุ้นยังไม่พอแสดงว่ามีการหักกลบลบหนี้กันเสร็จสิ้นไปแล้ว วิธีปฏิบัติระหว่างโจทก์จำเลยเป็นการปฏิบัติต่อกันตามสัญญาตัวแทนโดยจำเลยตั้งโจทก์เป็นตัวแทนในการซื้อขายหุ้นหรือหลักทรัพย์โดยให้โจทก์จ่ายเงินทดรองแทนจำเลยไปก่อนโจทก์ได้ผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยจากเงินที่ทดรองจ่ายแทนจำเลยและในการขายหุ้นตามคำสั่งของจำเลยเมื่อขายได้กำไรก็หักภาษีกำไรที่เหลือมอบให้จำเลยและในการที่โจทก์ซื้อขายแทนจำเลยโจทก์ได้รับค่าธรรมเนียมจากจำเลยวัตถุประสงค์ของโจทก์จำเลยจึงเป็นการค้าเก็งกำไรจากราคาหุ้นที่ขึ้นลงมากกว่าประสงค์จะลงทุนอย่างแท้จริงเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์จำเลยมิได้ยึดถือเอาระเบียบข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ที่ว่าจำเลยต้องวางเงินประกันร้อยละ30ของวงเงินที่จำเลยมีสิทธิสั่งให้โจทก์ซื้อหุ้นในแต่ละวันหากซื้อเกินจำนวนเงินดังกล่าวจำเลยก็จะต้องส่งเงินประกันร้อยละ30ภายใน7วันมาเป็นสาระสำคัญของสัญญาดังนั้นไม่ว่าโจทก์จำเลยจะได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าวหรือไม่ก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามหลักฐานที่โจทก์นำสืบจำเลยก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ คดีนี้เป็นเรื่องตัวแทนเรียกร้องเอาเงินที่ได้ออกทดรองจ่ายไปในกิจการอันตัวการมอบหมายแก่ตนจากตัวการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา816ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่นจึงมีอายุความ10ปีตามมาตรา164เดิมที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เมื่อจำเลยแต่งตั้งโจทก์เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์เมื่อวันที่16กุมภาพันธ์2521แล้วต่อมาโจทก์ได้ดำเนินการซื้อขายหลักทรัพย์และออกเงินทดรองให้แก่จำเลยหลายคราวโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่2เมษายน2530ยังไม่ถึง10ปีนับแต่โจทก์ได้ออกเงินทดรองแต่ละคราวไปคดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เดิมชื่อบริษัทไทยค้าหลักทรัพย์ จำกัด ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทหลักทรัพย์ไทยค้า จำกัด โจทก์เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบกิจการธุรกิจหลักทรัพย์ จำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์และแต่งตั้งให้โจทก์เป็นตัวแทนในการสั่งซื้อและขายหลักทรัพย์ ทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์แทนจำเลยเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2521 โดยให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยทางโทรศัพท์และหรือทางหนังสือเมื่อโจทก์ดำเนินการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ตามคำสั่งของจำเลยแล้วจะมีการทำบัญชีแสดงรายการสั่งซื้อหรือขาย หากมียอดเงินที่จำเลยต้องชำระให้โจทก์ จะต้องชำระภายใน 4 วัน นับแต่วันสั่งซื้อหรือขายหากไม่ชำระจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ12.5 ต่อปี และถ้าจำเลยไม่ชำระเงินภายในกำหนดหรือไม่จ่ายเงินเพิ่มให้ครบร้อยละ 30 ของหลักประกันที่วางแก่โจทก์ จำเลยยินยอมให้โจทก์ปิดบัญชีและนำหลักทรัพย์ของจำเลยที่โจทก์ซื้อไว้แทนออกขายในตลาดหลักทรัพย์เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ที่ค้าง ทั้งนี้จำเลยต้องเสียค่าธรรมเนียมการซื้อขายให้โจทก์อัตราร้อยละ 0.5 ของราคาหลักทรัพย์ที่ซื้อขายกันโดยหักจากบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่จำเลยขอเปิดไว้กับโจทก์ ต่อมาระหว่างเดือนตุลาคม 2520 ถึงเดือนเมษายน2523 จำเลยสั่งให้โจทก์ซื้อหุ้นจากบริษัทต่าง ๆ เป็นเงิน32,126,332.50 บาท รวมทั้งหุ้นสิทธิ (ลูกหุ้น) ของบริษัทปูนซิมเมนต์ไทย จำกัด จำนวน 33 หุ้น เป็นเงิน 3,300 บาทรวมเป็นเงิน 32,129,632.50 บาท จำเลยได้สั่งให้โจทก์ขายหุ้นของบริษัทต่าง ๆ เป็นเงิน30,672,555.35 บาท จำเลยยังเป็นหนี้โจทก์จากการที่โจทก์จ่ายเงินทดรองค่าซื้อหลักทรัพย์ให้จำเลยเป็นเงิน1,457,077.15 บาท เมื่อหักทอนบัญชีกันโดยโจทก์นำหลักทรัพย์ของจำเลยที่คงเหลือออกขายทอดตลาดชำระหนี้ที่ค้างคงเหลือเงินต้นที่จำเลยค้างชำระจำนวน 1,179,067.25 บาทพร้อมดอกเบี้ยนับแต่เดือนกันยายน 2522 ถึงวันฟ้อง จำนวน 1,491,097.33 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,670,164.58 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 2,670,164.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11ต่อปี จากเงินต้น 1,179,067.25 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเคยมอบหมายให้โจทก์เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์แทนแต่ได้ปิดบัญชีชำระหนี้กันเรียบร้อยหลายปีแล้วจำเลยไม่มีหนี้ติดค้างกับโจทก์อีก จำเลยไม่เคยสั่งให้โจทก์ซื้อหลักทรัพย์และโจทก์คิดดอกเบี้ยสูงกว่าที่ตกลงไว้ โจทก์ประกอบอาชีพเป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหวังแต่ผลประโยชน์จากค่านายหน้าเพียงอย่างเดียวไม่คำนึงถึงข้อมูลของหลักทรัพย์ ไม่ให้คำแนะนำแก่ลูกค้า ซื้อหุ้นให้จำเลยในราคาสูงกว่าความจริงมาก การซื้อหุ้นที่โจทก์ซื้อให้จำเลยจึงไม่ถูกต้อง โจทก์จึงต้องรับผิดชอบเองและไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลย โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดในฐานะตัวแทนผู้ค้าหลักทรัพย์แทนจำเลยได้ออกเงินทดรองเป็นค่าซื้อหลักทรัพย์แทนจำเลยและเรียกสินจ้างอันจะพึงได้และดอกเบี้ยซึ่งมีอายุความ2 ปี แต่โจทก์มาฟ้องคดีเกินกำหนดดังกล่าว คดีจึงขาดอายุความและฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่แจ้งรายละเอียดแห่งข้อหาตลอดจนหลักแห่งที่มาของข้อหาทำให้จำเลยเสียเปรียบขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์จำนวน1,179,067.25 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 3 เมษายน 2525 ถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2525 อัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2525 ถึงวันที่31 สิงหาคม 2525 อัตราร้อยละ 18 ต่อปีนับแต่วันที่1 กันยายน 2525 ถึงวันที่ 23 มกราคม 2526 อัตราร้อยละ 16.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 24 มกราคม 2526 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2526อัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2526 ถึงวันที่31 สิงหาคม 2526 อัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กันยายน2526 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2526 อัตราร้อยละ 16 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2526 ถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2526อัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2526 ถึงวันที่31 ธันวาคม 2526 อัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่1 มกราคม 2527 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2527 อัตราร้อยละ 21 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2527 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2527 อัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2527 ถึงวันที่31 มกราคม 2528 อัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์2528 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2528 อัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2528 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2528 อัตราร้อยละ10 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2528 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2528อัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2528 ถึงวันที่14 กรกฎาคม 2528 อัตราร้อยละ 16 ต่อปี นับแต่วันที่15 กรกฎาคม 2528 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2528 อัตราร้อยละ15.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2528 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน2528 อัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2528 จนถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 เมษายน 2530) กับให้ชำระอัตราร้อยละ11 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 1,458,406.49 บาท คำขออื่นของโจทก์ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ จำเลยได้เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 และทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ ตามเอกสารหมาย จ.4 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยให้การและฎีกาเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า ฟ้องของโจทก์ไม่สมบูรณ์ เคลือบคลุม ไม่แจ้งรายละเอียดแห่งข้อหาตลอดจนหลักแห่งที่มาของข้อหา เป็นเหตุให้จำเลยเสียเปรียบไม่อาจต่อสู้คดีได้นั้นเห็นว่า ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่า จำเลยได้ทำคำขอเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับโจทก์และแต่งตั้งให้โจทก์เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์แทนจำเลยแล้วโจทก์ได้ซื้อขายหลักทรัพย์ให้จำเลยหลายครั้ง เมื่อหักทอนบัญชีกันแล้วจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามจำนวนที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ทวงถามฟ้องจำเลยไม่ชำระ โดยได้แนบสำเนารายละเอียดการสั่งซื้อหุ้นการสั่งขายหุ้น ยอดเงินสุทธิการซื้อขายให้แก่จำเลยเป็นเอกสารท้ายห้องอันเป็นมูลแห่งคำฟ้องไว้เป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง
ปัญหาประการที่สองมีว่า สัญญาตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันแล้วหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาโต้แย้งว่าหากสัญญาตั้งตัวแทนตามเอกสารหมาย จ.4 ไม่เลิกกันแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องมีการทำเอกสารตั้งตัวแทนตามเอกสารหมาย จ.16ขึ้นใหม่ และทั้งเอกสารหมาย จ.4 หรือ จ.16 ก็ไม่ได้กำหนดให้จำเลยมีหน้าที่จะต้องแจ้งหรือมีหนังสือบอกเลิกสัญญาการเป็นตัวแทนกับโจทก์แต่อย่างใดจึงต้องฟังว่าการตั้งตัวแทนตามเอกสารหมาย จ.4 ได้สิ้นสุดลงไปแล้ว โดยโจทก์จำเลยไม่มีภาระผูกพันที่ติดค้างต่อกันสืบเนื่องมาจากสัญญาดังกล่าวจนกระทั่งมีการตั้งโจทก์เป็นตัวแทนตามเอกสารหมาย จ.16อีกครั้งหนึ่งซึ่งจำเลยก็ได้แสดงพยานหลักฐานต่อศาลแล้วว่ามีการหักกลบลบหนี้กันเสร็จสิ้นเรียบร้อยไปแล้วไม่มีหนี้สินที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์อีกต่อไปนั้น เห็นว่า ตามเอกสารหมาย จ.4ขณะนั้นโจทก์ใช้ชื่อว่า “บริษัทไทยค้าหลักทรัพย์ จำกัด” ต่อมาปรากฏว่าเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2522 โจทก์ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น”บริษัทหลักทรัพย์ไทยค้า จำกัด” ตามเอกสารหมาย จ.21 การทำเอกสารตั้งตัวแทนตามเอกสารหมาย จ.16 ขึ้นใหม่เมื่อวันที่17 กันยายน 2522 จึงมีเหตุผลควรเชื่อได้ว่าเพราะโจทก์เปลี่ยนชื่อใหม่นั่นเอง โดยเห็นได้จากข้อความที่ตรายางประทับหัวกระดาษว่า “บริษัทไทยค้าหลักทรัพย์ จำกัด ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทหลักทรัพย์ไทยค้า จำกัด” และข้อความในเอกสารแต่งตั้งก็ระบุชื่อโจทก์ซึ่งเปลี่ยนใหม่แล้ว 2 แห่ง ด้วยกันจึงฟังไม่ได้ว่าการตั้งตัวแทนตามเอกสารหมาย จ.4 ได้สิ้นสุดลงไปแล้วแต่อย่างใดแต่เป็นการยืนยันตั้งโจทก์ซึ่งเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ให้จำเลยต่อไปเช่นเดิม แม้ทั้งเอกสารหมาย จ.4หรือ จ.16 มิได้กำหนดให้ จำเลยมีหน้าที่ต้องแจ้ง หรือมีหนังสือเลิกสัญญาเป็นตัวแทนกับโจทก์ แต่การเลิกสัญญาต้องกระทำด้วยการแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยหรือโจทก์ได้แสดงเจตนาเลิกสัญญาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง และไม่มีพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยกับโจทก์ได้เลิกสัญญากันโดยปริยาย สัญญาตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังไม่เลิกกันจนกระทั่งโจทก์แจ้งให้จำเลยชำระเงินส่วนที่ขาดอยู่ตามหนังสือทวงถามเอกสารหมาย จ.8 จึงถือได้ว่าโจทก์เพิ่งบอกเลิกสัญญาตัวแทนกับจำเลยเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2530 อันเป็นวันที่จำเลยได้รับหนังสือทวงถาม ฉะนั้นการที่โจทก์ทำการเป็นตัวแทนให้จำเลยในการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ในช่วงเวลาที่จำเลยแต่งตั้งให้โจทก์เป็นตัวแทนจนถึงวันบอกเลิกสัญญา การกระทำดังกล่าวของโจทก์จึงเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนกระทำแทนตัวการภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทนตามที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยซึ่งเป็นตัวการ จำเลยจึงต้องรับผิดในหนี้ที่เกิดจากการดำเนินการดังกล่าวให้แก่โจทก์ ที่จำเลยอ้างว่าได้แสดงพยานหลักฐานว่ามีการหักกลบลบหนี้กันเสร็จสิ้นเรียบร้อยไปแล้ว ไม่มีหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดอีกต่อไปนั้น ก็ปรากฏว่าจำเลยเบิกความเพียงว่าโจทก์เคยเรียกให้จำเลยไปชำระเงินเพิ่ม แต่จำเลยแจ้งว่าไม่มีเงินที่จะชำระ โจทก์จึงได้ทำการขายหุ้นที่โจทก์สั่งซื้อให้จำเลยเพื่อชำระค่าหุ้น คำเบิกความของจำเลยดังกล่าวยังไม่พอแสดงว่ามีการหักกลบลบหนี้กันเสร็จสิ้นไปแต่อย่างใด
ปัญหาประการที่สามมีว่า จำเลยค้างชำระค่าหุ้นและดอกเบี้ยต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้แสดงพยานหลักฐานว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนัก โดยคำขอเปิดบัญชีตามเอกสารหมายจ.3 กำหนดไว้ว่า จำเลยต้องวางเงินประกันร้อยละ 30 ของวงเงินที่จำเลยมีสิทธิสั่งให้โจทก์ซื้อหุ้นในแต่ละวันหากซื้อเกินจำนวนเงินดังกล่าวจำเลยก็จะต้องส่งเงินประกันร้อยละ 30 ภายใน 7 วันแต่ไม่ปรากฏในพยานหลักฐานของโจทก์ว่า จำเลยได้มีการวางเงินประกันไว้จำนวนเท่าใด หรือโจทก์แจ้งให้จำเลยวางเงินประกันเพิ่มเติมแต่อย่างใด หากมีการสั่งซื้อขายหุ้นกันถึง 32 ล้านบาทเศษจริงแล้วจำเลยก็ต้องวางเงินประกันร้อยละ 30 ในทุกระยะ หนี้ที่จำเลยต้องรับผิดก็ต้องไม่ถึงจำนวนเท่าที่โจทก์ฟ้องเพราะนอกจากเงินค่าหุ้นที่โจทก์ขายแล้ว โจทก์ยังนำเงินประกันของจำเลยมาหักกลบลบหนี้ได้ทุกระยะด้วยนั้น เห็นว่า โจทก์มีพยานคือนางสไบทิพย์ สุนทรสและนางสาวผาสุข พิชิตวัฒนา มาเบิกความประกอบเอกสารสรุปการซื้อหุ้น เอกสารหมาย จ.5 สรุปการขายหุ้นเอกสารหมาย จ.6 และยอดเงินสุทธิการซื้อขายเอกสารหมาย จ.7ว่า โจทก์ได้ซื้อขายหลักทรัพย์ตามวันที่ จำนวนครั้ง และจำนวนเงินที่ซื้อขายแต่ละครั้งแทนจำเลย แม้เอกสารบางฉบับจะไม่ได้ลงลายมือชื่อจำเลยไว้เป็นหลักฐาน แต่จำเลยก็เบิกความรับว่าเคยสั่งซื้อขายทางโทรศัพท์การที่จำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในใบสั่งซื้อขายน่าจะเป็นเพราะจำเลยสั่งซื้อขายทางโทรศัพท์นั่นเอง ส่วนจำเลยเบิกความว่า เคยนำเงินประกันไปวางจำนวนหนึ่งแต่เท่าใดจำไม่ได้ และเคยสั่งให้โจทก์ซื้อหุ้น แต่จำนวนเท่าใดจำไม่ได้แล้วตามเอกสารหมาย จ.5 จำเลยจะเป็นผู้สั่งให้โจทก์ซื้อหุ้นเท่าจำนวนที่ระบุไว้หรือไม่จำไม่ได้ ตามเอกสารหมาย จ.6 ระหว่างวันที่ 12 ตุลาคม 2520 ถึงวันที่ 14 เมษายน 2523 จำเลยไม่ได้สั่งขายหุ้น เพราะช่วงนั้นจำเลยคิดว่าไม่มีหุ้นอยู่แล้วในขณะนั้น วันที่4 ธันวาคม 2522 ซึ่งระบุว่าจำเลยซื้อหุ้นครั้งสุดท้าย จำเลยไม่ทราบว่ามีการสั่งซื้อจริงหรือไม่เพราะนายมาแล้ว การนำสืบของจำเลยยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังว่า การซื้อขายหลักทรัพย์ครั้งใดที่จำเลยมิได้ให้ความเห็นชอบและคิดเป็นเงินจำนวนเท่าใดจากที่โจทก์จำเลยนำสืบมาเป็นการแสดงให้เห็นถึงวิธีปฏิบัติระหว่างโจทก์จำเลยว่า เป็นการปฏิบัติต่อกันตามสัญญาตัวแทนโดยจำเลยตั้งโจทก์เป็นตัวแทนในการซื้อขายหุ้นหรือหลักทรัพย์โดยให้โจทก์จ่ายเงินทดแทนจำเลยไปก่อน โจทก์ได้ผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยจากเงินที่ทดรองจ่ายแทนจำเลย และในการขายหุ้นตามคำสั่งของจำเลย เมื่อขายได้กำไรก็หักภาษี กำไรที่เหลือมอบให้จำเลย และในการที่โจทก์ซื้อขายแทนจำเลยโจทก์ได้รับค่าธรรมเนียมจากจำเลย วัตถุประสงค์ของโจทก์จำเลยจึงเป็นการค้าเก็งกำไรจากราคาหุ้นที่ขึ้นมากกว่าประสงค์จะลงทุนอย่างแท้จริงเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์จำเลยมิได้ยึดถือเอาระเบียบข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์มาเป็นสาระสำคัญของสัญญา ดังนั้นแม้โจทก์จำเลยจะได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ก็ตาม ข้อเท็จจริงก็ยังรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามหลักฐานเอกสารหมาย จ.5-จ.7 เป็นเงิน 1,179,067.25 บาทส่วนอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยก็ปรากฏว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์คิดในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี ตามเอกสารหมายจ.3 และให้เรียกเพิ่มหรือลดได้ ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.19 และประกาศกระทรวงการคลังเอกสารหมายจ.20 จำเลยจึงต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยตามที่โจทก์ฟ้อง
ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่จำเลยฎีกาว่า คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 165(1) ซึ่งมีอายุความ 2 ปีนั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องตัวแทนเรียกร้องเอาเงินที่ได้ออกทดรองจ่ายไปในกิจการอันตัวการมอบหมายแก่ตนจากตัวการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 816 ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่นจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เดิม ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ เมื่อจำเลยแต่งตั้งโจทก์เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2521 แล้ว ต่อมาโจทก์ได้ดำเนินการซื้อขายหลักทรัพย์และออกเงินทดรองให้แก่จำเลยหลายคราว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2530 ยังไม่ถึง 10 ปี นับแต่โจทก์ได้ออกเงินทดรองแต่ละคราวไป คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน

Share