คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5941/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องและจำเลยเป็นสามีภริยากัน ระหว่างสมรสจำเลยซื้อที่ดินอันเป็นทรัพย์พิพาทจาก พ. และจำนองไว้กับบริษัทโจทก์โดยผู้ร้องมิได้ให้ความยินยอมเมื่อจำเลยผิดนัดโจทก์จึงฟ้องบังคับคดียึดทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาด นอกจากนี้โจทก์และจำเลยยังถูกผู้ร้องฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจำนองทรัพย์พิพาทจนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าโจทก์รับจำนองทรัพย์พิพาทไว้โดยสุจริตไม่มีเหตุเพิกถอนนิติกรรมจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลย ซึ่งผลคดีตามคำพิพากษาย่อมผูกพันคู่ความทั้งหมดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ฉะนั้นเมื่อผู้ร้องไม่อาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองทรัพย์พิพาทได้ นิติกรรมจำนองทรัพย์พิพาทจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำนองย่อมมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์พิพาทได้ทั้งหมด เพราะสิทธิจำนองย่อมครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 716 และเป็นทรัพยสิทธิใช้ยันแก่บุคคลทั่วไปได้ คำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางที่ให้จำเลยแบ่งทรัพย์พิพาทซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่ผู้ร้อง ตามที่ผู้ร้องฟ้องหย่าจำเลยและขอแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้น ก็มีผลผูกพันเฉพาะผู้ร้องกับจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดี หามีผลต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอกันเงินสินสมรสส่วนของตนจากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 7783แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย (สามเพ็ง) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยซึ่งจำนองเป็นประกันหนี้เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ทรัพย์ที่โจทก์นำยึดเป็นสินสมรส จำเลยนำทรัพย์ดังกล่าวไปจำนองแก่โจทก์โดยผู้ร้องมิได้รู้เห็นยินยอมโจทก์รับจำนองโดยไม่สุจริตโดยโจทก์ทราบว่าบุคคลผู้ให้ความยินยอมไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยในฐานะใด ๆ ตามกฎหมาย การจำนองจึงไม่ผูกพันส่วนที่เป็นของผู้ร้องกึ่งหนึ่งขอให้ศาลมีคำสั่งกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้ผู้ร้องกึ่งหนึ่ง

จำเลยยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยกับผู้ร้องแยกกันอยู่ประมาณ 20 ปีแล้ว และได้แบ่งสินสมรสกันโดยตกลงให้ทรัพย์พิพาทตกเป็นสิทธิของจำเลย จำเลยนำทรัพย์พิพาทไปจำนองประกันหนี้กู้ยืมจากโจทก์และนำเงินมาใช้จ่ายในกิจการค้าของจำเลยที่จำเลยเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว โดยผู้ร้องมอบให้จำเลยจัดการทรัพย์สินทั้งหมดผู้ร้องเคยฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมจำนองทรัพย์พิพาท แต่ศาลพิพากษายกฟ้อง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันส่วน ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า ผู้ร้องและจำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายโดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2503ต่อมาวันที่ 12 กันยายน 2533 จำเลยซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์พิพาทคดีนี้ในระหว่างสมรสจากนายพินิจ อยู่นิรันดร ครั้นวันที่ 25 สิงหาคม 2536 จำเลยจดทะเบียนจำนองทรัพย์พิพาทเป็นประกันหนี้ต่อโจทก์โดยผู้ร้องมิได้ให้ความยินยอม ต่อมาจำเลยผิดนัดชำระหนี้จึงถูกโจทก์ฟ้องและบังคับคดียึดทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาด นอกจากนี้จำเลยและโจทก์ยังถูกผู้ร้องฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมจำนองทรัพย์พิพาทต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยศาลวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคสอง และข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์รับจำนองทรัพย์พิพาทไว้โดยไม่สุจริต ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนนิติกรรมจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงพิพากษายกฟ้อง ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6114/2541 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องมีว่าผู้ร้องมีสิทธิขอกันเงินสินสมรสส่วนของตนจากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทหรือไม่ เห็นว่า ผลคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6114/2541ย่อมผูกพันคู่ความทั้งหมดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ฉะนั้นเมื่อผู้ร้องไม่อาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองทรัพย์พิพาทได้ นิติกรรมจำนองทรัพย์พิพาทจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำนองย่อมมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์พิพาทได้ทั้งหมด เพราะสิทธิจำนองครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 716 และเป็นทรัพยสิทธิใช้ยันแก่บุคคลทั่วไปได้ ส่วนที่ผู้ร้องหยิบยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกาว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้มีคำพิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์พิพาทซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่ผู้ร้องตามที่ผู้ร้องฟ้องหย่าจำเลยและขอแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามสำเนาคำพิพากษาแนบท้ายฎีกานั้น ก็มีผลผูกพันเฉพาะผู้ร้องกับจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวหามีผลต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันเงินสินสมรสส่วนของตนจากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท คำสั่งและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share