คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5920/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์เอาใบเตือนไปจากการครอบครองของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างโดยมิได้รับอนุญาต เป็นการเอาทรัพย์ของนายจ้างไปโดยพลการอันส่อให้เห็นเจตนาทุจริต และเมื่อจำเลยสั่งให้โจทก์นำใบเตือนมาคืน โจทก์ไม่ยอมนำมาคืนจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างอันเป็นกรณีที่ร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานผู้ช่วยพยาบาล ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ4,550 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด และจำเลยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมโดยได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเหมือนเดิม และถ้าหากศาลเห็นว่าโจทก์กับจำเลยไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ก็ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์เท่ากับค่าจ้างที่โจทก์ได้รับก่อนออกจากงานเป็นเวลา 12 ปี คิดเป็นเงิน 655,200 บาท จ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน 27,300 บาทจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 56 วัน เป็นเงิน 8,493 บาท
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาล ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 4,550 บาท เหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เพราะโจทก์กระทำการผิดกฎข้อบังคับและคำสั่งของจำเลย จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย ค่าชดเชยให้แก่โจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “พฤติการณ์ที่โจทก์เอาใบเตือนไปจากการครอบครองของจำเลยโดยมิได้รับอนุญาตเป็นการเอาทรัพย์ของนายจ้างไปโดยพลการอันส่อให้เห็นเจตนาทุจริตของโจทก์ และเมื่อจำเลยสั่งให้โจทก์นำใบเตือนมาคืนโจทก์ไม่ยอมนำมาคืน จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างอันเป็นกรณีที่ร้ายแรง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3) ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share