แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีโจทก์ฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากตึกแถวพิพาทอันมีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละห้าพันบาท จำเลยมิได้กล่าวแก้ เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์หรือมิได้ยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาที่ก่อให้เกิดสิทธิอยู่ในตึกแถวพิพาทที่ฟ้อง เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าเจ้าของตึกแถวพิพาทเดิม กับจำเลยมีสัญญาต่างตอบแทนและโจทก์ซื้อตึกแถวพิพาทโดยไม่สุจริตให้ยกฟ้องโจทก์ ดังนั้น การที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่รู้มาก่อนซื้อตึกแถวพิพาทว่าเจ้าของตึกแถวพิพาทเดิม กับจำเลยมีสัญญาต่างตอบแทนและโจทก์ซื้อตึกแถวพิพาทโดยสุจริต เป็นการโต้แย้งดุลพินิจ ในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลล่างทั้งสอง เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสองวรรคสาม.
ย่อยาว
คดีสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาโดยเรียกจำเลยในสำนวนที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า โจทก์ได้ซื้อที่ดินและตึกแถวเลขที่ 11/20, 11/22 และ 11/23 จากนางสุขทิพย์กับพวกตึกแถวดังกล่าวมีจำเลยทั้งสามและบริวารอาศัยอยู่โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเช่าแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย โจทก์ไม่ประสงค์จะให้เช่าอีกต่อไป ขอให้จำเลยทั้งสามขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากตึกแถวของโจทก์ ให้จำเลยแต่ละคนชำระค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การว่า โจทก์มิได้ซื้อที่ดินและตึกแถวตามฟ้อง จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามไม่เคยได้รับแจ้งจากโจทก์ให้ชำระค่าเช่า โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตึกแถวพิพาทแต่ละห้องใช้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 200 บาท เดิมจำเลยที่ 1เช่าตึกแถวเลขที่ 11/23 นายกิตติชัยบิดาของจำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวเลขที่ 11/20 และนายอัมพรสามีจำเลยที่ 1 เช่าตึกแถว เลขที่ 11/22จากนางสุขทิพย์และนายชุมพล ต่อมาตึกแถวพิพาทได้ถูกไฟไหม้บางส่วนนางสุขทิพย์และนายชุมพลได้ทำสัญญาต่างตอบแทนโดยให้บุคคลทั้งสามซ่อมแซมตึกแถวพิพาทให้คงอยู่ในสภาพเดิม และจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่นางสุขทิพย์และนาชุมพลฟ้องละ 40,000 บาท นางสุขทิพย์และนายชุมพลยินยอมให้เช่าตึกแถวพิพาทต่อไปอีกมีกำหนด 12 ปี ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะไปทำสัญญาเช่าและจดทะเบียนการเช่ากัน ณ ที่ว่าการอำเภอบางกอกใหญ่ จำเลยที่ 1 นายกิตติชัยบิดาของจำเลยที่ 2 และนายอัมพรสามีของจำเลยที่ 3 ได้ซ่อมแซมตึกแถวพิพาทให้คงสภาพเดิมและชำระค่าตอบแทนเป็นเงินห้องละ 40,000 บาท ให้แก่นางสุขทิพย์และนายชุมพลแล้ว ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้นางสุขทิพย์และนายชุมพลไม่ยอมรับค่าเช่า จำเลยที่ 1 นายกิตติชัยบิดาของจำเลยที่ 2 และนายอัมพรสามีของจำเลยที่ 3 ได้นำเงินค่าเช่าไปวางไว้ ณสำนักงานวางทรัพย์กลาง เพื่อเป็นการชำระค่าเช่าตามสัญญา นายชุมพลเป็นผู้ซื้อตึกแถวพิพาทและที่ดินร่วมกับโจทก์ด้วย โจทก์จึงต้องร่วมรับผิดต่อจำเลยทั้งสาม และไม่อาจอ้างความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกแถวพิพาทมาเป็นมูลฟ้องจำเลยทั้งสาม ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำนวน
โจทก์ทั้งสามสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีทั้งสามสำนวนนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าโจทก์ซื้อตึกแถวพิพาทจากเจ้าของเดิมซึ่งจำเลยทั้งสามเป็นผู้เช่า บัดนี้ครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว และโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยทั้งสามเช่าต่อไป ขอให้ขับไล่ จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้ว่า จำเลยทั้งสามมีสิทธิอยู่ในตึกแถวพิพาท เพราะมีสัญญาต่างตอบแทนชนิดพิเศษนอกเหนือไปจากสัญญาเช่าธรรมดากับเจ้าของเดิม ศาลชั้นต้นฟังว่าเจ้าของตึกแถวพิพาทเดิมกับจำเลยทั้งสามมีสัญญาต่างตอบแทนและโจทก์ทราบถึงสัญญาดังกล่าวแล้ว โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นเฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3นั้น ศาลอุทธรณ์ฟังว่า ผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่ 2 และผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 3 เป็นคู่สัญญาในสัญญาต่างตอบแทนกับเจ้าของตึกแถวพิพาทเดิม หาใช่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆเกี่ยวกับการเช่าตึกแถวพิพาทเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องศาลอุทธรณ์เห็นด้วยในผลที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 กรณีดังกล่าวนี้ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละห้าพันบาท และจำเลยทั้งสามมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์หรือมิได้ยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาที่ก่อให้เกิดสิทธิอยู่บนอสังหาริมทรัพย์นั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง ดังนี้ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคแรก และวรรคสอง ที่โจทก์ฎีกาในทำนองว่าโจทก์ไม่รู้มาก่อนซื้อตึกแถวพิพาทว่าเจ้าของตึกแถวพิพาทเดิมกับจำเลยทั้งสามมีสัญญาต่างตอบแทนกัน และโจทก์มีความสุจริตในการซื้อตึกแถวพิพาทจากเจ้าของเดิมนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจ ในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลล่างทั้งสองจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะรับเป็นฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาฎีกาโจทก์.