แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยใช้อาวุธปืนยิงสวนผู้เสียหายไปในทันทีทันใดในท่านอนตะแคง โดยไม่มีโอกาสเลือกยิงจุดสำคัญของร่างกายผู้เสียหาย เมื่ออาวุธปืนโดยสภาพย่อมเป็นอาวุธที่ใช้ทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ในทันทีทันใด ประกอบกับกระสุนปืนก็ถูกที่บริเวณใบหน้าซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงไปที่ผู้เสียหายในระยะใกล้ประชิดติดตัวก็ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนจะต้องถูกผู้เสียหายให้ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย หาใช่ไม่มีเจตนาฆ่า และเป็นเพียงความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัสไม่ อย่างไรก็ตามเมื่อจำเลยถูกผู้เสียหายใช้ไม้ตีทำร้ายก่อนซึ่งจำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันตัวได้ แต่เมื่อไม้ดังกล่าวมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว และเมื่อตีถูกจำเลยแล้วไม้ดังกล่าว ก็หักทันที อีกทั้งไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายจะกระทำการอย่างใดอื่นอีกที่ส่อแสดงให้เห็นอย่างแจ้งชัดว่ามีเจตนาจะทำร้ายจำเลยเพิ่มเติมให้หนักขึ้นกว่าเดิม การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงสวนไปที่ผู้เสียหายในขณะนั้น โดยมีโอกาสที่จะหยุดยั้งการกระทำของผู้เสียหายได้โดยวิธีอื่นอีก พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมถือได้ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุอันจะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 69 แต่เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 69
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371, 80, 91, 33 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 69, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง และ 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นเพื่อป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ จำคุก 2 ปี ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืน เป็นการกระทำกรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ อันเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 รวมจำคุก 1 ปี 16 เดือน ริบหัวกระสุนปืนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว สำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดนั้น มีระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท จึงมีอายุความฟ้องภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2538 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2543 จึงเกิน 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิด ความผิดฐานดังกล่าวจึงขาดอายุความ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษายกฟ้องในคดีความผิดฐานนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกว่า คดีมีเหตุสมควรลดโทษในความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ให้การรับสารภาพทั้งชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นมาโดยตลอดดังปรากฏในคำให้การพยานจำเลยลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2546 เห็นว่า คดีนี้ในชั้นสอบคำให้การจำเลยนั้น ศาลชั้นต้นได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การปฏิเสธซึ่งศาลได้บันทึกคำให้การปฏิเสธของจำเลยไว้แล้วตามคำให้การจำเลยเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2543 และในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นตลอดมานั้นก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แก้ไขคำให้การปฏิเสธดังกล่าวแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานดังกล่าวข้างต้นในชั้นพิจารณาของศาล อันจะเป็นเหตุให้ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคแรก ส่วนคำให้การพยานจำเลยลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2546 ที่ระบุว่าข้าพเจ้า ขอให้การรับสารภาพในข้อหามีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นเพียงคำเบิกความรับของจำเลยในชั้นพิจารณาที่จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานในชั้นสืบพยานของจำเลยเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ใช้ดุลพินิจเห็นสมควรลดโทษในความผิดฐานดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้แก่จำเลยกระทงละหนึ่งในสามนั้นเหมาะสมและเป็นคุณแล้ว ไม่มีเหตุที่ฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยในข้อต่อไปมีว่า จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นเพื่อป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 69 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นเพียงความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสและเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) ประกอบมาตรา 68 ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงรับฟังยุติแล้วว่า ก่อนเกิดเหตุในขณะที่ผู้เสียหายกับจำเลยร่วมดื่มสุรากันอยู่นั้นก็มีนางจรอน อยู่ร่วมด้วยมาโดยตลอดจนกระทั่งเกิดเหตุคดีนี้ขึ้น ซึ่งนางจรอนเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุขณะร่วมดื่มสุรากันจำเลยใช้มือตบศีรษะผู้เสียหาย 1 ครั้ง มีการห้ามปรามกันแล้วจำเลยก็แยกกลับบ้านไป ต่อมาอีกประมาณ 30 นาที จำเลยก็กลับมาร่วมดื่มสุรากับผู้เสียหายและนางจรอนอีกแล้วจำเลยก็ถูกผู้เสียหายใช้ไม้ตีทำร้ายที่บริเวณด้านหลัง 1 ครั้ง จนไม้หัก จากนั้นจำเลยก็ใช้อาวุธปืนสั้นที่พกติดตัวมายิงผู้เสียหาย 1 นัด โดยศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาวินิจฉัยว่า นางจรอนพยานโจทก์เบิกความไปตามความเป็นจริงเพราะไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด อีกทั้งยังเป็นเพื่อนกับจำเลยและผู้เสียหายด้วยนั้น ซึ่งข้อวินิจฉัยดังกล่าวนี้จำเลยกล่าวอ้างรับในฎีกาว่าจำเลยเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าว ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายใช้ไม้ตีทำร้ายที่บริเวณด้านหลังของจำเลย 1 ครั้ง จนไม้หัก หาใช่ตีทำร้ายที่บริเวณข้างกกหูของจำเลยดังที่จำเลยนำสืบกล่าวอ้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งเหตุดังกล่าวก็สืบเนื่องมาจากผู้เสียหายรู้สึกโกรธที่ถูกจำเลยใช้มือตบศีรษะไป 1 ครั้ง ก่อนเกิดเหตุ โดยเหตุการณ์ก็ได้สิ้นสุดยุติลงไปแล้วตั้งแต่เมื่อจำเลยได้แยกย้ายกลับบ้านไปโดยเมื่อจำเลยถูกตีทำร้ายแล้วจำเลยก็ใช้อาวุธปืนสั้นที่พกติดตัวมายิงผู้เสียหายไปทันที 1 นัด กระสุนปืนถูกผู้เสียหายมีบาดแผลบริเวณใบหน้าข้างปากด้านซ้าย ลูกกระสุนปืนฝังคาไว้ที่คอใกล้กระดูกสันหลัง ซึ่งแพทย์ต้องรักษาโดยวิธีการผ่าตัดและเอากระสุนปืนออกมาเป็นของกลาง เห็นว่า แม้จำเลยจะใช้อาวุธปืนยิงสวนไปในทันทีทันใดในท่านอนตะแคงโดยไม่มีโอกาสเลือกยิงจุดสำคัญของร่างกายผู้เสียหายดังที่จำเลยกล่าวอ้างมาในฎีกาก็ตาม แต่เมื่ออาวุธปืนโดยสภาพย่อมเป็นอาวุธที่ใช้ทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ในทันทีทันใด ประกอบกับกระสุนปืนก็ถูกที่บริเวณใบหน้าซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงไปที่ผู้เสียหายในระยะใกล้ประชิดติดตัวกัน ก็ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนจะต้องถูกผู้เสียหายให้ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย หาใช่ไม่มีเจตนาฆ่าและเป็นเพียงความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัสดังที่จำเลยฎีกาอ้างมาไม่ อย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยถูกผู้เสียหายใช้ไม้ตีทำร้ายก่อน ซึ่งจำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันตัวได้ แต่เมื่อไม้ดังกล่าวมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว และเมื่อตีถูกจำเลยแล้วไม้ดังกล่าวก็หักทันที อีกทั้งก็ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายจะกระทำการอย่างใดอื่นอีกที่ส่อแสดงให้เห็นอย่างแจ้งชัดว่ามีเจตนาจะทำร้ายจำเลยเพิ่มเติมให้หนักขึ้นกว่าเดิม การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงสวนไปที่ผู้เสียหายในขณะนั้นโดยมีโอกาสที่จะหยุดยั้งการกระทำของผู้เสียหายได้โดยวิธีอื่นอีก พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมถือได้ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุอันจะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ตามที่จำเลยฎีกา ส่วนข้อเท็จจริงอื่นๆ ที่จำเลยหยิบยกขึ้นมาอ้างในฎีกา ก็หาใช่ข้อสาระสำคัญที่จะทำให้ผลของคดีเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นเพื่อป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และ มาตรา 69 จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยในข้อสุดท้าย่วา คดีมีเหตุสมควรลงโทษจำเลยในสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีและความหนักเบาแห่งข้อหา ประกอบกับจำเลยได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจวางโทษและลดโทษจำคุกให้แก่จำเลยในแต่ละกระทงนั้น เหมาะสมและเป็นคุณแก่จำเลยแล้ว นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงพฤติกรรมของจำเลยประกอบกับบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับ ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรงเหตุที่จำเลยยกขึ้นอ้างมาในฎีกายังไม่มีเหตุผลสมควรเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยได้ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิจารณาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 สำหรับโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2