คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5474/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมได้มอบหมายให้จำเลยดำเนินการในลักษณะที่ส่งมอบการครอบครองเงินไปอยู่กับจำเลยหรือไม่ ฎีกาของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นอ้าง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและยังคงให้ลงโทษจำคุกกระทงละไม่เกินห้าปี ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ก่อนแจ้งความร้องทุกข์ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ จำเลยและโจทก์ร่วมได้ทำบันทึกข้อตกลงอันเป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ร่วมในความผิดฐานยักยอกทรัพย์จึงระงับไป โจทก์ร่วมไม่มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์และพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน เมื่อมีการสอบสวนเพิ่มเติมโดยแจ้งข้อหาลักทรัพย์ จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีอำนาจฟ้องในข้อหาลักทรัพย์นั้นเป็นฎีกาที่มีเงื่อนไขว่าศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยก่อนว่าการกระทำความผิดของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์หรือไม่ต้องห้ามมิให้ฎีกาดังวินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้ว ฎีกาของจำเลยจึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การวินิจฉัยเพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษานี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 264, 265, 266, 268, 91, 33 ริบเช็คของกลาง ให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 4,129,746.85 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6969/2549 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา บริษัทธรรมวิทย์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 265, 266 (4), 268 (ที่ถูก มาตรา 266 (5), 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (4)), 335 (11) วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารปลอม จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (4) แต่กระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 37 กระทง เป็นจำคุก 148 ปี ฐานลักทรัพย์ จำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 37 กระทง เป็นจำคุก 74 ปี รวมจำคุก 222 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม เป็นจำคุก 148 ปี การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันและความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี คงให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6969/2549 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากในคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำพิพากษาจึงให้ยกคำขอในส่วนนี้ ให้จำเลยคืนเงิน 4,129,746.85 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่โจทก์ร่วม ริบเช็คของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาข้อแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์นั้น เห็นว่า ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมได้มอบหมายให้จำเลยดำเนินการในลักษณะที่ส่งมอบการครอบครองเงินไปอยู่กับจำเลยหรือไม่ ฎีกาของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาเพื่อนไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นอ้าง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและยังคงให้ลงโทษจำคุกกระทงละไม่เกินห้าปี ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยข้อนี้เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่า ก่อนแจ้งความร้องทุกข์ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์นั้น จำเลยและโจทก์ร่วมได้ทำบันทึกข้อตกลงอันเป็นการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ร่วมในความผิดฐานยักยอกทรัพย์จึงระงับไป โจทก์ร่วมไม่มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์และพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน เมื่อมีการสอบสวนเพิ่มเติมโดยแจ้งข้อหาลักทรัพย์ จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีอำนาจฟ้องในข้อหาลักทรัพย์นั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยดังกล่าวเป็นฎีกาที่มีเงื่อนไขว่าศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยก่อนว่าการกระทำความผิดของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์หรือไม่ เมื่อฎีกาของจำเลยที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์หรือไม่ห้ามมิให้ฎีกาดังวินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การวินิจฉัยเพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษานี้”
พิพากษายกฎีกาของจำเลย

Share