คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1033/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 157หมายถึง หน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงตาม ที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือได้ รับ มอบหมายให้มีหน้าที่นั้น ๆ เท่านั้น ถ้า ไม่ เกี่ยวกับหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ จำเลยได้ เบิกความเป็นพยานโจทก์ ซึ่ง การเบิกความของเจ้าพนักงานตำรวจไม่ใช่หน้าที่ราชการหรือหน้าที่ที่ได้ รับ มอบหมายโดยตรงของจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม มาตรานี้ ป.อ. มาตรา 177 บัญญัติไว้เพื่อป้องกันมิให้จำเลยที่ถูกฟ้องร้องได้ รับโทษหรือได้ รับความเสียหาย อันเกิดจากการรับฟังพยานอันเป็นเท็จ ผู้ที่จะเสียหายคือจำเลยในคดีนั้น การที่โจทก์มิได้ถูก ฟ้องเป็นจำเลยในคดีก่อน โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายโดยตรงในการเบิกความของจำเลยในคดีดังกล่าวนั้น โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง การใส่ความตาม ป.อ. มาตรา 326 ผู้กระทำต้อง มีเจตนาใส่ความผู้อื่น ข้อที่จำเลยเบิกความเกี่ยวกับตัว โจทก์ในคดีอาญาอื่นเป็นข้อที่จำเลยสืบทราบมาจากชาวบ้าน ไม่ใช่ข้อที่จำเลยประสบมาด้วยตนเอง ส่วนข้อที่ชาวบ้านบอกให้จำเลยรับทราบนั้นจะเป็นความจริงหรือไม่โจทก์ไม่ทราบ การเบิกความของจำเลย จำเลยมีเจตนาจะให้ความจริงต่อ ศาลในการพิจารณาคดีตาม ที่จำเลยสืบทราบมาเท่านั้นจำเลยหาได้ มีเจตนาใส่ความโจทก์ให้ถูก ดูหมิ่น ถูก เกลียดชังแต่ อย่างใดไม่ จึงไม่เป็นความผิดตาม มาตรานี้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177, 326,157, 83 และ 91 และให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทางไต่สวนโจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 17กรกฎาคม 2530 เวลากลางวัน จำเลยเบิกความในคดีอาญาหมายเลขแดงที่125/2531 ของศาลจังหวัดสวรรคโลก ระหว่างพนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดสวรรคโลกโจทก์ นายเป็ง เสาแก้วคำ จำเลย ว่าโจทก์เป็นคนว่าจ้างนายเป็งให้ยิงนายเลื่อน วงค์ใจดำ เพราะโจทก์โกรธนายเลื่อนเกี่ยวกับเรื่องเงินของวัด ทั้งนี้จำเลยได้แจ้งเหตุนี้ให้พันตำรวจตรีนิยม แสงหิรัญ สารวัตรสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอทุ่งเสลี่ยมทราบแล้ว ซึ่งข้อความที่จำเลยเบิกความนั้นไม่เป็นความจริงแต่ประการใด ทำให้โจทก์เสียหาย คดีคงมีปัญหาว่าการเบิกความของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 177 และ 326 หรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 บัญญัติว่า”ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษ…” ศาลฎีกาเห็นว่าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติมาตรานี้หมายถึง หน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่นั้น ๆ เท่านั้น ถ้าไม่เกี่ยวกับหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนของโจทก์ได้ความว่า จำเลยได้เบิกความเป็นพยานโจทก์ศาลจังหวัดสวรรคโลก ซึ่งการเบิกความของเจ้าพนักงานตำรวจไม่ใช่หน้าที่ราชการหรือหน้าที่ได้รับมอบหมายโดยตรงของจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามมาตรานี้
ข้อหาต่อมา คือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ซึ่งบัญญัติว่า”ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีต้องระวางโทษ…” ที่กฎหมายบัญญัติไว้เช่นนี้เพื่อป้องกันมิให้จำเลยที่ถูกฟ้องร้องได้รับโทษหรือได้รับความเสียหาย อันเกิดจากการรับฟังพยานอันเป็นเท็จ ผู้ที่จะเสียหายคือจำเลยในคดีนั้น แต่ข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวปรากฏว่า โจทก์มิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลย โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายโดยตรงในการเบิกความของจำเลย ดังนั้น โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตามกฎหมายมาตรานี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28(2)
ข้อหาสุดท้าย คือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ซึ่งบัญญัติว่า”ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษ…” การใส่ความตามมาตรานี้ผู้กระทำต้องมีเจตนาใส่ความผู้อื่น ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบชั้นไต่สวนโจทก์เบิกความว่า ข้อที่จำเลยเบิกความเกี่ยวกับตัวโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 125/2531 ของศาลจังหวัดสวรรคโลก นั้นเป็นข้อที่จำเลยสืบทราบมาจากชาวบ้าน ไม่ใช่ข้อที่จำเลยประสบมาด้วยตนเอง ส่วนข้อที่ชาวบ้านบอกให้จำเลยรับทราบนั้นจะเป็นความจริงหรือไม่โจทก์ไม่ทราบ เห็นได้ว่า การเบิกความของจำเลย จำเลยมีเจตนาจะให้ความจริงต่อศาลในการพิจารณาคดีตามที่จำเลยสืบทราบมาเท่านั้นจำเลยหาได้มีเจตนาใส่ความโจทก์ให้ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชังแต่อย่างใดไม่ จึงไม่เป็นความผิดตามมาตราดังกล่าว…”
พิพากษายืน.

Share