คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5901/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522มาตรา15วรรคหนึ่งซึ่งมีบทลงโทษตามมาตรา67ให้ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทการที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยเพียงสถานเดียวโดยไม่ลงโทษปรับและรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา17มาตรา20และมาตรา56

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีเฮโรอีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1จำนวน 1 หลอด น้ำหนัก 0.02 กรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7,8, 15, 67
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15 วรรคหนึ่ง, 67จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56กับให้คุมประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก ๆ 3 เดือน และห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิดตลอดเวลาที่ถูกคุมประพฤติ
โจทก์อุทธรณ์ขอไม่ให้รอการลงโทษหรือจำคุกและปรับแล้วรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนโดยอาศัยข้อเท็จจริง มิได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์จริง แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาใหม่มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีบทลงโทษตามมาตรา 67แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกเพียงอย่างเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 20แล้วใช้ดุลพินิจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้รอการลงโทษจำคุกโดยไม่ลงโทษปรับด้วยเป็นการไม่ชอบ โดยโจทก์อ้างว่าความผิดที่กฎหมายกำหนดให้ลงโทษทั้งจำคุกและปรับ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 20ให้ศาลใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควรว่าจะลงโทษจำคุกโดยไม่ปรับด้วยก็ได้ หมายความว่าจะต้องเป็นการลงโทษจำคุกจริง ๆ จึงไม่ต้องลงโทษปรับด้วย การที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก แต่ให้รอการลงโทษไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 เป็นเพียงคำพิพากษาที่กำหนดโทษผู้กระทำผิดเท่านั้น มิใช่คำพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดซึ่งเป็นโทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 และเป็นการใช้ข้อยกเว้นซ้อนข้อยกเว้น กล่าวคือ ใช้ดุลพินิจถึง 2 ครั้ง เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 20 บัญญัติว่า “บรรดาความผิดที่กฎหมายกำหนดให้ลงโทษทั้งจำคุกและปรับด้วยนั้น ถ้าศาลเห็นสมควรจะลงแต่โทษจำคุกก็ได้” บทบัญญัติมาตรานี้มีความหมายว่า ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ลงโทษทั้งจำคุกและปรับด้วยนั้น ถ้าศาลเห็นสมควรก็อาจใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยเพียงสถานเดียวโดยไม่ลงโทษปรับด้วยได้ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจการใช้ดุลพินิจแก่ศาลในการกำหนดโทษต่อจำเลย และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 บัญญัติว่า”ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสองปี ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษไว้หรือกำหนดโทษ แต่รอการลงโทษไว้ ก็ได้” ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เป็นมาตรการในการให้โอกาสผู้กระทำผิดได้กลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนดและจากบทบัญญัติในมาตรานี้เองจะเห็นได้ชัดแจ้งว่าเมื่อศาลได้ใช้ดุลพินิจจะกำหนดโทษหรือกำหนดโทษแล้ว เป็นโทษจำคุกไม่เกินสองปีและมีเหตุอื่นต้องด้วยมาตรานี้อีก ศาลก็ยังมีอำนาจใช้ดุลพินิจในการรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษที่ได้กำหนดไว้ได้อีกกรณีไม่เป็นการต้องห้ามการใช้ดุลพินิจ 2 ครั้ง ดังที่โจทก์อ้างและจะอ้างว่าการลงโทษจำคุกโดยไม่ปรับแล้วรอการลงโทษ ถือว่าไม่มีการลงโทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 นั้น ก็ไม่เป็นเช่นนั้นเสียทีเดียว เพราะถือได้ว่ามีการลงโทษจำคุกแล้ว แต่เป็นการลงโทษที่มีเงื่อนไข กล่าวคือ ยังไม่มีการจำคุกจริง ๆ เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัว แต่จำเลยยังมีหน้าที่ที่จะต้องไม่กระทำความผิดอีกภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ หากกระทำความผิดอีกและกรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 จำเลยก็จะต้องถูกลงโทษตามโทษจำคุกที่รอไว้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยเพียงสถานเดียวโดยไม่ลงโทษปรับและรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยนั้นจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 มาตรา 20 และมาตรา 56
พิพากษายืน

Share