คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 590/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2480 มาตรา 5 บัญญัติว่า ‘ห้ามมิให้ผู้ใดขนส่งของผ่านเขตแดนทางบกเข้าในราชอาณาจักรตามทางใดนอกจากทางอนุมัติฯ’ดังนี้ เห็นได้ว่าเป็นการห้ามไว้อย่างเด็ดขาดฉะนั้นแม้พนักงานศุลกากรจะได้อนุญาตให้จำเลยขนส่งของผ่านเขตแดนนอกทางอนุมัติก็ไม่อาจลบล้างข้อห้ามตามกฎหมายและไม่เป็นข้อแก้ตัวให้พ้นความผิดฐานฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2503 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยสมคบกันนำรถยนต์โอเปิลหนึ่งคัน ราคา 13,200 บาทซึ่งจะต้องเสียอากรขาเข้า 7,260 บาท โดยพาหนะเรือจากประเทศลาวเข้ามาในราชอาณาจักรไทยด้านจังหวัดหนองคาย นอกเขตช่องทางที่ทางการอนุมัติ โดยมิได้เสียภาษี ไม่ผ่านด่านศุลกากรตามกฎหมายและมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27, 32 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2480 มาตรา 5, 10 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 6, 16, 17 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 ขอให้ริบของกลาง และจ่ายสินบนและรางวัลตามกฎหมาย

เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยขอถอนคำให้การเดิม ขอให้การใหม่ว่าจำเลยทั้งหมดได้นำรถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรไทยจริงโดยทางเรือจากประเทศลาวโดยจำเลยได้ขออนุญาตจากด่านศุลกากรอำเภอศรีเชียงใหม่และปฏิบัติตามพิธีการศุลกากรครบถ้วน เจ้าพนักงานให้นำเข้ามาเพื่อเสียภาษีได้แล้ว จำเลยกับพวกได้นำรถยนต์เข้ามาที่หาดทรายบ้านเหนือนอกเขตท่าด่านและช่องทางอนุมัติของด่านศุลกากรอำเภอศรีเชียงใหม่โดยมีเจ้าพนักงานศุลกากรไปรอรับอยู่ที่นั่น และจำเลยได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานศุลกากรให้นำรถยนต์เข้ามาที่หาดทรายนั้น

ศาลจังหวัดหนองคายพิจารณาแล้วฟังว่า เมื่อก่อนจำเลยจะนำรถยนต์เข้ามานายบัวเรียนได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานด่านศุลกากรอำเภอศรีเชียงใหม่ขอนำรถยนต์เข้ามาที่หาดบ้านเหนือนอกเวลาราชการ เพราะที่ด่านตลิ่งสูงชันนำรถยนต์ขึ้นไม่ได้ นายพิศผู้รักษาการแทนนายด่านได้สั่งอนุญาตและสั่งให้นายจำลองนายฉลวยพนักงานด่านศุลกากรไปรอรับรถยนต์ด้วยกันที่หาดทรายบ้านเหนือเมื่อนายบัวเรียนกับพวกนำรถยนต์มาที่หาดทรายแล้ว นายพิศได้ตรวจดูรถยนต์ตรงกับคำร้องที่ขอนำเข้ามาแล้ว ยังได้ออกใบผ่านด่านขาเข้าให้เพื่อให้นายบัวเรียนเสียภาษีที่ด่านศุลกากรต่อไป ซึ่งแสดงว่านายบัวเรียนกับพวกมิได้มีเจตนาจะเลี่ยงภาษี การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2480 มาตรา 5 ห้ามมิให้ขนส่งของหรือพยายามขนส่งของผ่านเขตแดนทางบกเข้ามาในราชอาณาจักรนอกเขตทางอนุมัติ คดีนี้จำเลยสมคบกันนำรถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรไทยนอกเขตทางอนุมัติจำเลยจึงต้องมีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว เพราะการที่บุคคลจะนำของเข้ามาจะต้องเข้ามาในทางอนุมัตินั้นเป็นข้อกฎหมายมิใช่ข้อเท็จจริง แม้จำเลยจะขอเปลี่ยนทางอนุมัติก็ไม่เป็นข้อแก้ตัวอันชอบ จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยทุกคนมีผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2480 มาตรา 5, 10ซึ่งต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 และพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3ลดแล้วปรับจำเลยทุกคน 40,920 บาท ของกลางตามฟ้องให้ริบกับให้จ่ายสินบนและรางวัลตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 คือให้จ่ายสินบนร้อยละสามสิบและจ่ายรางวัลร้อยละสิบห้าของค่าปรับ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2480มาตรา 5 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดขนส่งของหรือพยายามขนส่งของผ่านเขตแดนทางบกเข้าในหรือออกนอกราชอาณาจักร หรือตั้งแต่เขตแดนทางบกมายังด่านศุลกากรหรือจากด่านศุลกากรไปยังเขตแดนนั้นตามทางใด ๆ นอกจากทางอนุมัติ หรือในเวลาใด ๆ นอกจากเวลาที่อธิบดีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

การขนส่งของตามทางอนุมัติในเวลาอื่นนอกจากที่กำหนดในวรรคก่อนนั้น จะทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากอธิบดีหรือผู้แทนและต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขซึ่งอธิบดีกำหนดขึ้นไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ ฯลฯ” ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา 5 นี้ได้บัญญัติห้ามไว้อย่างเด็ดขาดว่า ห้ามมิให้ผู้ใดขนส่งของผ่านเขตแดนทางบกเข้าในอาณาจักรตามทางใดนอกจากทางอนุมัติ แม้แต่ขนส่งของในเวลาใด ๆ นอกจากเวลาที่อธิบดีกำหนดก็ต้องห้ามแต่การขนส่งของนอกจากเวลาที่อธิบดีกำหนดยังอนุญาตให้ทำได้ในเมื่อได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากอธิบดีหรือผู้แทน ส่วนการขนส่งของนอกจากทางอนุมัตินั้น ไม่ได้บัญญัติให้ทำได้ในเมื่อได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้แทนไว้เลย จึงแสดงว่ากฎหมายไม่ยอมให้มีการขนส่งของผ่านเขตแดนนอกทางอนุมัติและไม่ยอมให้มีการอนุญาตให้ส่งของผ่านเขตแดนนอกทางอนุมัติได้เลย ฉะนั้นแม้พนักงานศุลกากรอนุญาตให้ผู้ใดขนส่งของผ่านเขตแดนนอกทางอนุมัติ ก็ไม่อาจลบล้างข้อห้ามตามกฎหมายและไม่เป็นข้อแก้ตัวให้พ้นความผิดฐานฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้คดีนี้จำเลยรับว่าได้ขนส่งรถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรตรงท่าหาดทรายบ้านเหนือที่อยู่ห่างด่านศุลกากรศรีเชียงใหม่ประมาณ 2 กิโลเมตร และอยู่นอกเขตช่องทางอนุมัติ จำเลยจึงมีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว จำเลยจะต้องอ้างความเข้าใจผิดกฎหมายมาแก้ตัวไม่ได้ พิพากษายืน

Share