คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 590/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยอ้างว่าสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมนั้นทนายจำเลยกับโจทก์สมคบกันฉ้อฉลโจทก์โดยอ้างเหตุแต่เพียงว่าทนายไม่บอกจำเลยก่อนไม่ทำสัญญาประนีประนอมฯต่อหน้าทนายจำเลยคนอื่นในคดีเดียวกัน ไม่บอกกล่าวให้จำเลยทราบในภายหลังข้อกล่าวอ้างดังกล่าวนี้ไม่เป็นการฉ้อฉลที่จะเป็นเหตุให้อุทธรณ์ฎีกาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138(1)ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่านายประสาทว่าจ้างให้โจทก์จำเลยทั้ง 2 จัดการหรือเรียกร้องเอาเงินค่าฝิ่น 1,049,075 บาท 85 สตางค์ จากกระทรวงการคลัง โจทก์จำเลยได้ช่วยกันจัดการให้นายประสาทได้รับเงินนายประสาทจ่ายเงินให้แก่จำเลยแล้วจำเลยไม่แบ่งให้โจทก์ตามสัญญาจึงขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 33,333.33 บาท และเสียดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่า โจทก์ชอบที่จะเรียกจากนายจ้าง ฯลฯ

จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้อง ฯลฯ

ต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 และในวันเดียวกันนั้นเองทนายจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่าจำเลยที่ 1 ยอมชดใช้เงินให้โจทก์ 25,000 บาทในกำหนด 1 เดือน หากผิดนัดยอมให้ดอกเบี้ยร้อยละ7 ครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จ

ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม

จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนทนายจำเลยที่ 1 อ้างว่าทนายกระทำการฉ้อฉลเพราะได้สมคบกันกับฝ่ายโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยไม่รู้เห็นหรือให้ความยินยอมเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างมาก และวันเดียวกันจำเลยยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น และสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป อ้างว่าศาลส่งหมายนัดฟังประเด็นกลับให้แก่ทนายจำเลยที่ 1 ทนายจำเลยที่ 1 ไม่บอกให้จำเลยที่ 1 ทราบ ทนายของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพี่สะใภ้ของจำเลยกลับแล้ว ทนายจำเลยที่ 1 จึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ โดยจำเลยไม่รู้เห็นยินยอมและไม่บอกให้จำเลยทราบ

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าเรื่องนี้จำเลยอ้างเหตุอุทธรณ์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138(1) เห็นว่าคดีนี้ใบแต่งทนายความของจำเลยได้ให้อำนาจนายบันทำการประนีประนอมยอมความได้การที่นายบันไม่บอกกล่าวจำเลยก่อน ไม่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าทนายของจำเลยคนอื่นในคดีเดียวกัน และไม่บอกกล่าวให้จำเลยทราบในภายหลังดังจำเลยยกขึ้นอ้างมาในฟ้องอุทธรณ์นั้น ข้ออ้างดังกล่าวไม่เป็นการฉ้อฉลดังจำเลยฎีกา พิพากษายืน

Share