คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 59/2489

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2486 มาตรา13เพียงแต่บอกระเบียบให้จัดการขึ้นทะเบียนเป็นเจ้าของที่ดินตามกฎหมายแต่บุคคลอาจได้ที่ดินมาตามกฎหมายที่ใช้อยู่ก่อนพ.ศ.2486 เมื่อโจทก์มิได้คัดค้านว่า การให้ที่ดินไม่เป็นการได้มาตามกฎหมายที่ดินที่ใช้อยู่ก่อนนั้นแล้วก็ไม่พอฟังว่าที่ดินซึ่งจำเลยตัดต้นไม้ชนิดหวงห้ามนั้นตกเป็นป่าตามวิเคราะห์ศัพท์ใน พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา4(1) คดีจึงไม่พอลงโทษจำเลยฐานตัดต้นไม้หวงห้ามในที่ป่า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจตัดฟันต้นไม้ฝากและไม้ตระบูนซึ่งเป็นไม้ประเภทหวงห้าม โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 73, 74 และริบของกลาง

จำเลยให้การว่า ได้ตัดต้นไม้ประเภทหวงห้ามโดยมิได้รับอนุญาตจริง แต่สถานที่ตัดไม้ไม่ใช่ป่า เป็นที่ดินของนายพรม มีกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโดยเห็นว่าที่รายนี้เป็นสวนจากและที่เลี้ยงสัตว์มาแต่ครั้งบิดามารดาของนายพรมเจ้าของปลูกจากไม่เต็มเนื้อที่ แต่เจ้าของได้ตัดจากและต้นไม้ใช้ประโยชน์ครอบครองมาประมาณ 20 ปีแล้วที่ดินรายนี้จึงไม่กลายสภาพเป็นป่าตามความเห็นของโจทก์

โจทก์ฎีกาว่า นายพรมยังไม่อาจมีสิทธิได้มา ตามพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2486 มาตรา 13 ที่ดินจึงตกเป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4(1) เมื่อจำเลยตัดไม้หวงห้ามโดยไม่รับอนุญาตจึงมีความผิด

ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2486 มาตรา 13 มีความว่า “ให้ผู้ที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่โดยชอบด้วยกฎหมายก่อนวันใช้พระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2479 ซึ่งยังไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์จัดการขึ้นทะเบียนนั้นตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง และให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้กำหนดระยะเวลาให้ผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินจัดการขึ้นทะเบียนเป็นท้องที่ ๆ ไป ฯลฯ” กฎหมายบทนี้เพียงแต่บอกระเบียบให้จัดการขึ้นทะเบียนเป็นเจ้าของที่ดิน ศาลฎีกาเห็นว่า การได้ที่ดินตามกฎหมาย บุคคลอาจได้มาตามกฎหมายที่ใช้อยู่ก่อน พ.ศ. 2486 โจทก์มิได้คัดค้านว่า การได้ที่ดินรายนี้ไม่เป็นการได้มาตามกฎหมายที่ดินที่ใช้อยู่ในเวลาก่อนนั้น คดีจึงไม่พอฟังว่าที่ดินรายนี้ได้ตกเป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ที่วิเคราะห์ศัพท์คำว่า “ป่า” หมายความว่า ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน จะชี้ขาดว่าจำเลยได้กระทำผิดดังข้อหานั้นไม่ได้ จึงพิพากษายืน

Share