แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534 ซึ่งขณะนั้นคดีนี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นดังนั้นการฟ้องคดีนี้ของโจทก์ผู้ถูกเวนคืนยังไม่เสร็จเด็ดขาดในขณะที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณากำหนด เงินค่าทดแทนโดยอาศัยกฎเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการ เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 9 วรรคสี่ ที่แก้ไข ใหม่ตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ที่ให้กำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 18 มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 24 ได้ มิต้องพิจารณาเฉพาะมาตรา 21(2) หรือ (3) ตามที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้แก่โจทก์ และ ไม่ต้องคำนึงถึงปัญหาว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะมี คำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขราคาค่าทดแทนโดยความเห็นขอบของ คณะรัฐมนตรีแล้วหรือไม่ ดังนั้น การที่การทางพิเศษแห่ง ประเทศไทยจำเลยที่ 1 กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์โดยคำนึงถึงเฉพาะ (2) และ (3) ของมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530โดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินโดยไม่ได้คำนึง ถึงมาตรา 21(1)(4) และ (5) ประกอบด้วย จึงยังไม่เป็นธรรม แก่โจทก์ ส่วนที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินในส่วน ที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์โดยได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21(1) ถึง (5) เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่โจทก์ ทั้งสองและสังคมนั้นเป็นการถูกต้องแล้ว เมื่อโจทก์นำสืบเพียงว่า ต้นไม้ของโจทก์จะให้ผลประโยชน์ประมาณปีละ 9,000 บาท ขอคิดค่าเสียหาย 5 ปีเป็นเงิน 45,000 บาท โดยไม่ได้นำสืบว่าต้นไม้ของโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตาม ที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา เป็นจำนวนเงินเท่าใดการที่จำเลยที่ 1 กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ โดยคำนวณ ตามหลักเกณฑ์ที่กรมส่งเสริมพืชพันธุ์ กรมส่งเสริมการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการกำหนดเงินค่าทดแทนดังกล่าวจึงเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว โจทก์ผู้ถูกเวนคืนได้รับเงินค่าทดแทนก่อนการบังคับใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 184(พ.ศ. 2533) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 126(พ.ศ. 2509) และฉบับที่ 182(พ.ศ. 2533) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร โดยกำหนดว่าเงินได้พึงประเมินประเภทเงินค่าทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ โดยใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปี 2532 เป็นต้นไป เมื่อโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนในปี 2531 จำเลยที่ 1 จึงต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากเงินค่าทดแทนที่จ่ายแก่โจทก์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50(5) โจทก์จึงเรียกคืนภาษีเงินได้ นั้นไม่ได้ เงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหายของเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่อาศัย หรือประกอบการค้าขายหรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืน ซึ่งได้รับความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ตามวรรคท้ายของมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ต้องเป็นความเสียหายโดยตรงอันเนื่องมาจากการที่ต้องออกจาก อสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนแต่ดอกเบี้ยของเงินกู้ยืมที่ โจทก์อ้างว่าเพื่อนำใช้ปลูกบ้านใหม่นั้นมิใช่ความเสียหาย โดยตรงอันเกิดจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดค่าทดแทนในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ จึงชอบแล้ว ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด พ.ศ. 2530 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 3 เป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา ในฐานะดังกล่าวจำเลยที่ 3 มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมการ กำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ และวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และเป็นผู้รักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ซึ่งเป็นกฎหมายจัดตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยขึ้นให้มีอำนาจหน้าที่ในการสร้างทางพิเศษจำเลยที่ 3 มีอำนาจหน้าที่ดูแลให้การดำเนินการเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย และการดำเนินการ เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่และ วัตถุประสงค์ของกระทรวงมหาดไทยจำเลยที่ 2 ตามประกาศของ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 เรื่อง ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ข้อ 19 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 อีกหลายฉบับ ต่อมามีการ ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 โดยพระราชบัญญัติ ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2534 มาตรา 3 และบัญญัติ อำนาจหน้าที่นี้ของจำเลยที่ 2 ไว้ในมาตรา 19 ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสองอ้างว่าการกำหนดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่โจทก์ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530โจทก์ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า ถ้าการงานหรือ กิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืน ได้กระทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่นั้นมีราคาสูงขึ้น ให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน และวรรคสามที่บัญญัติว่า ถ้าต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือ นั้นราคาลดลงให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันราคาลดลงนั้นด้วย เป็นบทบัญญัติที่เป็นหลักการในการสนับสนุนให้การเวนคืนเป็นไปด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมโดยสมบูรณ์ เมื่อการเวนคืนทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้นแล้ว หากไม่นำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน ก็จะทำให้ผู้ถูกเวนคืนได้รับผลประโยชน์จากการเวนคืนแต่ฝ่ายเดียว ในทางตรงกันข้ามหากอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงแล้ว หากผู้ถือเวนคืนไม่ได้รับเงินค่าทดแทนในส่วนนี้ ก็ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืน ซึ่งขัดต่อหลักการสำคัญของมาตรา 21วรรคหนึ่งที่ให้กำหนดค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ส่วนมาตรา 21 วรรคสี่ นั้น เป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา 21 วรรคหนึ่งเท่านั้น แม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณออกใช้บังคับแล้วตามมาตรา 21 วรรคสี่ ก็ไม่ใช่กรณีที่จะทำให้หลักการตามมาตรา 21 วรรคสองและวรรคสามเป็นอันใช้ไม่ได้ เดิมที่ดินของโจทก์ก่อนถูกเวนคืนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหลังถูกเวนคืนแล้วคงเหลือเนื้อที่ 73 ตารางวาเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู โดยมีด้านหนึ่งเป็นรูปเรียวแหลม และเมื่อทางพิเศษตัดผ่านซึ่งเป็นทางสัญจรของรถยนต์ที่ก่อให้เกิดเสียงดังและควันจากท่อไอเสีย ทำให้สภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์เปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดี ย่อมต้องเสื่อมราคาลงตามสภาพดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนในส่วนนี้ด้วย แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของเงินฝากประเภทฝากประจำในวันที่มีการจ่ายมีอัตราเท่าไรและจะต้องคำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องว่ามีจำนวนเท่าไรเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์ในการฟ้องคดีก็ตามแต่หากโจทก์เสียค่าขึ้นศาลมาไม่ครบหรือไม่ถูกต้อง ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มให้ครบถ้วนได้ และแม้การที่ศาลชั้นต้นมิได้เรียกค่าขึ้นศาลไว้ให้ครบเป็นการคลาดเคลื่อน ก็คงทำให้ผิดพลาดเฉพาะในการเรียกค่าธรรมเนียมศาลขาดเท่านั้นแต่หาได้กระทบถึงกระบวนพิจารณาอื่น ๆ หรือทำให้คำพิพากษาไม่มีผลบังคับแต่อย่างใดไม่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น และมาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าในกรณีที่มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันได้ตามมาตรา 10 ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1ได้ทำสัญญาซื้อขายกันตามมาตรา 10 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน2531 นับแต่วันดังกล่าวไปอีกหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์คือวันที่ 16 มีนาคม 2532 อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตา 26 วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าวในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสินส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 8 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ ส่วนช่วงเวลาใดมีอัตราดอกเบี้ยที่ต้องใช้ในการคำนวณอัตราเท่าใด เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะเป็นผู้ดำเนินการในชั้นบังคับคดี
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2530 มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรีและเขตบางเขน เขตดุสิต เขตพญาไท เขตปทุมวัน เขตบางรักเขตยานนาวา เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ และ สายพญาไท-ศรีนครินทร์ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2531 เป็นต้นไป จากการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว ทำให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองถูกเวนคืนสองแปลงคือที่ดินโฉนดเลขที่ 45527 เนื้อที่ 98 ตารางวา ถูกเวนคืนเนื้อที่ 25 ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ 46760 เนื้อที่ 1 งาน 7 ตารางวาถูกเวนคืนทั้งแปลง ในที่ดินทั้งสองแปลงมีอาคารปลูกอยู่ 1 หลังต้นไม้ยืนต้น 9 ต้น รั้วคอนกรีตและรั้วสังกะสี จำเลยที่ 1 กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 45527 เนื้อที่ 25 ตารางวาตารางวาละ 5,000 บาท เป็นเงิน 125,000 บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 46760 จำเลยที่ 1 กำหนดเงินค่าทดแทนดังนี้ เนื้อที่58 ตารางวา ซึ่งอยู่ติดถนนซอยเสริมสุข กำหนดตารางวาละ5,000 บาท เป็นเงิน 290,000 บาท แต่เนื้อที่ 49 ตารางวาซึ่งอยู่ลึกเข้าไปกำหนดตารางละ 4,000 บาท เป็นเงิน 196,000 บาทรวมเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสิ้น 611,000 บาท อาคารประเมินราคาปลูกสร้างในราคา 1,213,240 บาท โดยหักค่าเสื่อมสภาพและค่ารื้อถอนแล้วคงเหลือ 1,077,380.04 บาท กำหนดเงินค่าทดแทนรั้วคอนกรีตเป็นเงิน 34,417 บาท รั้วสังกะสีเป็นเงิน 14,165.05บาท และไม้ยืนต้นเป็นเงิน 3,330 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนทั้งหมดเป็นเงิน 1,740,292.09 บาท การกำหนดเงินค่าทดแทนดังกล่าวโจทก์ทั้งสองไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 มีความเห็นดังเดิม ที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงอยู่ติดเป็นผืนเดียวกัน จำเลยที่ 1 ควรจะกำหนดเงินค่าทดแทนให้เท่ากันทั้งแปลง แต่จำเลยที่ 1 กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสองต่ำกว่าเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนซึ่งมีที่ดินอยู่ลึกเข้าไปในซอยกว่าโจทก์ทั้งสอง การกำหนดเงินค่าทดแทนโดยอ้างว่าเมื่อมีทางด่วนผ่าน ทำให้ที่ดินที่เหลือของโจทก์ทั้งสองมีราคาสูงขึ้นนั้นไม่เป็นธรรม เพราะโจทก์ทั้งสองไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทางด่วนได้ กลับทำให้ที่ดินที่เหลืออยู่มีราคาลดลงเสียอีกที่ดินของโจทก์ทั้งสองอยู่ใกล้ถนนประชาชื่น ได้ทำการถมปรับที่ดินจนสูงกว่าถนนประมาณ 30 เซนติเมตร ราคาซื้อขายกันในท้องตลาดประมาณตารางวาละ 8,000 บาท ถึง 10,000 บาท จึงขอเงินค่าทดแทนในอัตราตารางวาละ 10,000 บาท รวมเป็นเงิน1,320,000 บาท และที่ดินที่เหลือมีราคาลดลงเป็นเงิน 73,000 บาทจึงขอเงินค่าทดแทนรวม 1,393,000 บาท เมื่อหักกับเงินค่าทดแทนที่ได้รับ 611,000 บาทแล้ว คงเหลือเงินค่าทดแทนที่จะได้รับจากจำเลยอีกเป็นเงิน 782,000 บาท อาคารของโจทก์ทั้งสองที่ปลูกสร้างอยู่ในที่ดินมีราคาตามความเป็นจริงประมาณ 1,450,000 บาทการที่จำเลยที่ 1 คิดหักวัสดุบางอย่างที่เห็นว่ารื้อถอนได้นั้นเป็นการขัดต่อสภาพความเป็นจริง เพราะโจทก์ทั้งสองไม่สามารถที่จะนำวัสดุไปทำประโยชน์ต่อไปได้โจทก์ทั้งสองจึงควรจะได้รับค่าทดแทนตามจำนวนดังกล่าวเมื่อคิดหักค่าเสื่อมสภาพและค่ารื้อถอน135,860 บาท คงเหลือเงิน 1,314,140 บาท เมื่อหักค่าทดแทนที่ได้รับแล้วคงมีสิทธิรับค่าทดแทนอีก 276,760 บาท โจทก์ทั้งสองเสียค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างรั้วคอนกรีตและรั้วสังกะสีและถนนคอนกรีตไปเป็นเงิน 55,000 บาท แต่ได้รับเงินค่าทดแทนเพียง 48,582.05 บาทดังนั้น จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนอีก 6,417.95 บาท โจทก์ทั้งสองปลูกไม้ยืนต้นมานานประมาณ 9 ปี แต่ละต้นให้ดอกผลประมาณต้นละ 100 ผล จึงได้รับความเสียหายจากผลผลิตไม่ต่ำกว่าปีละ 9,000 บาท ขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้เพียง 5 ปี เป็นเงิน45,000 บาท ได้รับเงินค่าทดแทนแล้ว 3,320 บาท คงมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนอีก 41,680 บาท จำเลยที่ 1 ได้หักภาษีเงินได้ณ ที่จ่ายได้ 21,384 บาท การเวนคืนหาได้เกิดจากความสมัครใจของโจทก์ทั้งสองไม่ จึงไม่ควรหักภาษีเงินได้ไว้ โจทก์ทั้งสองจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการหาซื้อบ้านและที่ดินเพื่ออยู่อาศัยอีกเป็นเงิน 100,000 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนที่จำเลยทั้งสามจะต้องร่วมกันชำระแก่โจทก์ทั้งสองทั้งสิ้น 1,188,241.95 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำฝากประจำของธนาคารออมสิน นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายเงินจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยทั้งสามงดหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย
จำเลยทั้งสามให้การว่า ค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดให้แก่โจทก์ทั้งสองจึงเป็นราคาที่สมควรและเป็นธรรมแล้ว ที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าราคาท้องตลาดของที่ดินมีราคาประมาณตารางวาละ 8,000 บาทถึง 10,000 บาท เป็นข้อกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยไม่มีหลักฐานยืนยันจำเลยที่ 1 มิได้นำวิธีการกำหนดค่าทดแทนโดยอ้างว่าทำให้ที่ดินที่เหลือของโจทก์ทั้งสองมีราคาสูงขึ้น และที่โจทก์ทั้งสองร้องขอให้จำเลยทั้งสามกำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินส่วนที่เหลือที่มีราคาลดลงเป็นเงิน 73,000 บาท นั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เป็นการปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร โจทก์ทั้งสองจึงไม่สามารถเรียกเอาเงินจำนวนนี้จากจำเลยทั้งสามได้ในส่วนความเสียหายที่ต้องหาที่อยู่ใหม่ เนื่องจากโจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าทดแทนไปแล้วสามารถที่จะนำเงินไปจัดซื้อหรือทำการก่อสร้างอาคารในส่วนที่ดินที่เหลือได้ทันที และค่าเสียหายดังกล่าวโจทก์ทั้งสองมิได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีไว้ จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยทั้งสามได้ จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ไม่ใช่เจ้าหน้าที่เวนคืนหรือเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาในคดีนี้จึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้เงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน782,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 พฤศจิกายน 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 882,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำของธนาคารออมสิน นับแต่วันที่ 31 พฤศจิกายน 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ดอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และเขตบางเขน เขตดุสิตเขตพญาไท เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตยานนาวา เขตห้วยขวางเขตบางกะปิ เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ และสายพญาไท-ศรีนครินทร์มีผลบังคับวันที่ 1 มกราคม 2531 ทำให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองรวม2 แปลง อยู่ติดต่อเป็นผืนเดียวกันคือที่ดินโฉนดเลขที่ 45527เนื้อที่ 98 ตารางวา จะถูกเวนคืน 25 ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ 46760 เนื้อที่ 1 งาน 7 ตารางวา จะถูกเวนคืนหมดทั้งแปลงจำเลยที่ 1 กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 45527 เนื้อที่25 ตารางวา ตารางวาละ 5,000 บาท เป็นเงิน 125,000 บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 46760 นั้น กำหนดค่าทดแทนให้ 2 อัตรา เนื้อที่58 ตารางวา ติดซอยเสริมสุข กำหนดตารางวาละ 5,000 บาท เป็นเงิน 290,000 บาท และเนื้อที่ 49 ตารางวา ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปกำหนดให้ตารางวาละ 4,000 บาท เป็นเงิน 196,000 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนที่ดิน 611,000 บาท โดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดิน ในปี 2531 ถึง 2534 เป็นเกณฑ์กำหนด ที่ดินโฉนดเลขที่ 45527ติดซอยเสริมสุข ช่วงที่เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 8 เมตรซอยเสริมสุขเป็นซอยแยกจากถนนประชาชื่น และที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองสูงกว่าระดับถนนซอยเสริมสุข30 เซนติเมตรและอยู่ตรงข้ามหมู่บ้านเสริมสุข สำหรับค่าทดแทนอาคารตึกจำเลยที่ 1 ประเมินราคาค่าปลูกสร้าง 1,217,240.84 บาท หักค่าเสื่อมสภาพและค่าวัสดุที่เหลือจากการรื้อถอนแล้วคงเหลือเงินค่าทดแทน 1,077,380.04 บาท จำเลยที่ 1 กำหนดเงินค่าทดแทนรั้วคอนกรีต 34,417 บาท รั้วสังกะสี 14,165.05 บาท ไม้ยืนต้น3,330 บาท และจำเลยที่ 1 หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ 21,384 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1ว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับค่าทดแทนที่ดิน โรงเรือน และสิ่งปลูกสร้างอื่นเพิ่มขึ้นจากที่จำเลยที่ 1 กำหนดหรือไม่เพียงใดโดยโจทก์ทั้งสองฎีกาขอให้กำหนดค่าทดแทนอาคารตึกเพิ่มขึ้นอีก136,760 บาท ค่าทดแทนรั้วคอนกรีต รั้งสังกะสี และถนนคอนกรีตเพิ่มขึ้นอีก 6,418 บาท ค่าทดแทนต้นไม้เพิ่มขึ้นอีก 41,700 บาทส่วนจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อปี 2531โดยกำหนดถูกต้องตามกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น ศาลจะนำประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 ซึ่งใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2534 เป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วมาใช้บังคับปรับเพิ่มค่าทดแทนใหม่อีกไม่ได้ ที่จำเลยที่ 1 กำหนดนั้นถูกต้องแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนอาคารให้โจทก์ทั้งสองเพิ่มขึ้น 100,000 บาท นั้น ไม่ถูกต้องสำหรับปัญหาเรื่องค่าทดแทนที่ดินนั้นศาลฎีกาเห็นว่า ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ข้อ 1 บัญญัติว่าให้ยกเลิกความในวรรคสี่และวรรคห้าของมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ในการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทน ให้คณะกรรมการกำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 18มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 24″ และข้อ 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า”บทบัญญัติมาตรา 9 วรรคสี่ และวรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ ให้มีผลใช้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งการกำหนดราคาเบื้องต้นการจัดซื้อ การจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทน การอุทธรณ์หรือการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับด้วย” ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534 ซึ่งขณะนั้นคดีนี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น การฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสองยังไม่เสร็จเด็ดขาดในขณะที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 มีผลใช้บังคับ ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนโดยอาศัยกฎเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 9 วรรคสี่ที่แก้ไขใหม่ตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 ที่ให้กำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 18 มาตรา 21มาตรา 22 และมาตรา 24 ได้มิต้องพิจารณาเฉพาะมาตรา 21(2) หรือ(3) ตามที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้แก่โจทก์ทั้งสอง และไม่ต้องคำนึงถึงปัญหาว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะมีคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขราคาค่าทดแทนโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้วหรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยคำนึงถึงเฉพาะ (2) และ (3) ของมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 โดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดิน ปี 2531 ถึง 2534 แล้วกำหนดตารางวาละ 4,000 บาท และ 5,000 บาท โดยไม่ได้คำนึงถึงมาตรา 21(1)(4) และ (5) ประกอบด้วย จึงยังไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสอง และเมื่อศาลฎีกาคำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ทั้งสองที่อยู่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน สามารถเข้าออกทางถนนประชาชื่นได้สะดวก ทั้งที่ดินมีระดับสูงกว่าซอยเสริมสุขซึ่งเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กกว้าง 8 เมตร และอยู่ในเขตชุมนุมชนซึ่งมีสาธารณูปโภคพื้นฐานแล้วเห็นว่า ที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ทั้งสองน่าจะมีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ประมาณตารางวาละ10,000 บาท ตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้าง ประกอบกับวัตถุประสงค์ของการเวนคืนรายนี้ก็เพื่อสร้างทางด่วนซึ่งเก็บค่าธรรมเนียมค่าผ่านทางจากผู้ใช้บริการด้วย ที่ศาลล่างทั้งกำหนดค่าทดแทนที่ดินในส่วนที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ ทั้งสองตารางวาละ 10,000 บาทเป็นการกำหนดโดยได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21(1) ถึง (5) เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสองและสังคมแล้ว สำหรับค่าทดแทนอาคารตึกนั้นโจทก์ทั้งสองอ้างว่า มีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดจำนวน 1,314,140 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 อ้างว่าการกำหนดค่าทดแทนในส่วนนี้ของจำเลยที่ 1 ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนอาคารตึกพิพาทเพิ่มขึ้นจากที่จำเลยที่ 1 กำหนดอีก100,000 บาทนั้นเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสองและสังคมแล้ว ส่วนเรื่องรั้วคอนกรีต รั้วสังกะสี และถนนคอนกรีตนั้น เห็นว่าค่าทดแทนในส่วนนี้ที่จำเลยที่ 1 กำหนดรวมกันเป็นเงิน 48,582 บาทนั้น เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสองแล้ว สำหรับค่าทดแทนต้นไม้นั้นโจทก์ทั้งสองนำสืบว่า ต้นไม้ของโจทก์ทั้งสองจะให้ผลประโยชน์ประมาณปีละ 9,000 บาท ขอคิดค่าเสียหาย 5 ปี เป็นเงิน 45,000 บาทโดยไม่ได้นำสืบว่าต้นไม้ของโจทก์ทั้งสองที่ถูกเวนคืนมีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นจำนวนเงินเท่าใด ที่จำเลยที่ 1 กำหนดเงินค่าทดแทนให้ 3,330 บาท โดยคำนวณตามหลักเกณฑ์ที่กรมส่งเสริมพืชพันธุ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการกำหนดการกำหนดเงินค่าทดแทนดังกล่าวจึงเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสองแล้ว
โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองเรียกคืนภาษีเงินได้ซึ่งจำเลยที่ 1 หักไว้ ณ ที่จ่าย ในจำนวนเงินค่าทดแทนที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสองได้นั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 2เบิกความว่า โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 ประมาณกลางเดือนธันวาคม 2531 ฉะนั้นข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าทดแทนก่อนการบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับที่ 184 (พ.ศ. 2533) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 126(พ.ศ. 2509) และฉบับที่ 182 (พ.ศ. 2533) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร โดยกำหนดว่าเงินได้พึงประเมินประเภทเงินค่าทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ โดยใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปี 2532 เป็นต้นไปเมื่อโจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าทดแทนในปี 2531 จำเลยที่ 1 จึงต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากเงินค่าทดแทนที่จ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสองตามประมวลรัษฎากรมาตรา 50(5) โจทก์ทั้งสองจึงเรียกคืนภาษีเงินได้นั้นไม่ได้
โจทก์ทั้งสองฎีกาต่อไปว่า โจทก์ทั้งสองต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน จึงต้องกู้ยืมเงินเพื่อที่จะทำการปลูกบ้านใหม่ และต้องเสียดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเป็นเงิน 100,000 บาทจึงมีสิทธิได้รับค่าทดแทนในส่วนนี้ด้วย เห็นว่า เงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหายของเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่อาศัย หรือประกอบการค้าขายหรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืน ซึ่งได้รับความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ตามวรรคท้ายของมาตรา 21แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ต้องเป็นความเสียหายโดยตรงอันเนื่องมาจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืน แต่ดอกเบี้ยของเงินกู้ยืมที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าเพื่อนำใช้ปลูกบ้านใหม่นั้นมิใช่ความเสียหายโดยตรงอันเกิดจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดค่าทดแทนในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสองจึงชอบแล้ว
โจทก์ทั้งสองฎีกาข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 จ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองด้วย เห็นว่าตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด พ.ศ. 2530 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 3 เป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาในฐานะดังกล่าวจำเลยที่ 3 มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ และวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และเป็นผู้รักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ซึ่งเป็นกฎหมายจัดตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยขึ้นให้มีอำนาจหน้าที่ในการสร้างทางพิเศษ จำเลยที่ 3 มีอำนาจหน้าที่ดูแลให้การดำเนินการเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย และการดำเนินการเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 2 ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 เรื่อง ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ข้อ 19 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 อีกหลายฉบับ ต่อมามีการยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 โดยพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2534 มาตรา 3 และบัญญัติอำนาจหน้าที่นี้ของจำเลยที่ 2 ไว้ในมาตรา 19 ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสองอ้างว่าการกำหนดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่โจทก์ทั้งสองตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 โจทก์ทั้งสองผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การที่จะพิจารณากำหนดค่าทดแทนที่ดินที่เหลือมีราคาลดลงนั้น กฎหมายกำหนดว่าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา กรณีของโจทก์ทั้งสองเพียงแต่อ้างขึ้นลอย ๆ เท่านั้น ก็รับฟังได้แล้ว ที่ดินส่วนที่เหลืออาจจะไม่มีราคาลดลงหรือมีค่าเพิ่มขึ้นก็ได้ ยังเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน เมื่อยังไม่มีหลักเกณฑ์วิธีการกำหนดออกมาใช้บังคับจึงกำหนดค่าทดแทนในส่วนนี้ยังไม่ได้ เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าการงานหรือกิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืนได้กระทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่นั้นมีราคาสูงขึ้นให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน และวรรคสามบัญญัติว่า ถ้าต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงส่วนหนึ่งและส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันราคาลดลงนั้นด้วย มาตรา 21 วรรคสองและวรรคสามนี้เป็นบทบัญญัติที่เป็นหลักการในการสนับสนุนให้การเวนคืนเป็นไปด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมโดยสมบูรณ์เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการเวนคืนทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้นแล้ว หากไม่นำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน ก็จะทำให้ผู้ถูกเวนคืนได้รับผลประโยชน์จากการเวนคืนแต่ฝ่ายเดียวในทางตรงกันข้าม หากอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงแล้ว หากผู้ถูกเวนคืนไม่ได้รับเงินค่าทดแทนในส่วนนี้ ก็ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนซึ่งขัดต่อหลักการสำคัญของมาตรา 21 วรรคหนึ่ง ที่ให้กำหนดค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมส่วนมาตรา 21 วรรคสี่ นั้น เป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา 21 วรรคหนึ่งเท่านั้น แม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณออกใช้บังคับแล้วตามมาตรา 21 วรรคสี่ ก็ไม่ใช่กรณีที่จะทำให้หลักการตามมาตรา 21 วรรคสองและวรรคสามใช้ไม่ได้ ทั้งปรากฏว่าเดิมที่ดินของโจทก์ทั้งสองก่อนถูกเวนคืนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหลังถูกเวนคืนแล้วคงเหลือเนื้อที่ 73 ตารางวา เป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูโดยมีด้านหนึ่งเป็นรูปเรียวแหลม และเมื่อทางพิเศษตัดผ่านซึ่งเป็นทางสัญจรของรถยนต์ที่ก่อให้เกิดเสียงดังและควันจากท่อไอเสียทำให้สภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ทั้งสองเปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดีย่อมต้องเสื่อมราคาลงตามสภาพดังกล่าว โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนในส่วนนี้ด้วย
จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อสุดท้ายเรื่องดอกเบี้ยว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของเงินฝากประเภทฝากประจำในวันที่มีการจ่ายมีอัตราเท่าไร และจะต้องคำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องว่ามีจำนวนเท่าไรเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์ในการฟ้องคดีแต่โจทก์ไม่ได้เสียค่าขึ้นศาลเป็นการหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมศาลจึงเรียกร้องดอกเบี้ยในส่วนนี้ไม่ได้ และการที่ศาลอุทธรณ์ไม่ระบุอัตราดอกเบี้ยที่แน่นอนทำให้มีปัญหาในการคำนวณดอกเบี้ยจึงควรกำหนดอัตราดอกเบี้ยแน่นอนว่ามีอัตราเท่าใด เห็นว่า หากโจทก์ทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลมาไม่ครบหรือไม่ถูกต้อง ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มให้ครบถ้วนได้ ทั้งการที่ศาลชั้นต้นมิได้เรียกค่าขึ้นศาลไว้ให้ครบ เป็นการคลาดเคลื่อน ก็ทำให้ผิดพลาดเฉพาะในการเรียกค่าธรรมเนียมศาลขาด ไม่กระทบถึงกระบวนพิจารณาอื่น ๆ หรือทำให้คำพิพากษาไม่มีผลบังคับแต่อย่างใดและพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 26 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น และมาตรา 11 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันได้ตามมาตรา 10 ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อขายกันตามมาตรา 10 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2531นับแต่วันดังกล่าวไปอีกหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์คือวันที่ 16 มีนาคม 2532 อันเป็นวันที่ต้องการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสามโจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าวในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสิน ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงแต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 8 ต่อปี ตามคำขอในอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสอง ส่วนช่วงเวลาใดมีอัตราดอกเบี้ยที่ต้องใช้ในการคำนวณอัตราเท่าใดเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะเป็นผู้ดำเนินการในชั้นบังคับคดี
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าทดแทนแก่โจทก์ทั้งสอง 882,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 8 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลล่างทั้งสองตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์