คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 589/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534 ซึ่งขณะนั้นคดีนี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ดังนั้นการฟ้องคดีนี้ของโจทก์ผู้ถูกเวนคืนยังไม่เสร็จเด็ดขาดในขณะที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนโดยอาศัยกฏเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 9 วรรคสี่ ที่แก้ไขใหม่ตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ที่ให้กำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 18 มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 24 ได้ มิต้องพิจารณาเฉพาะมาตรา 21 (2) หรือ (3) ตามที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้แก่โจทก์ และไม่ต้องคำนึงถึงปัญหาว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะมีคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขราคาค่าทดแทนโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้วหรือไม่ ดังนั้น การที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์โดยคำนึงถึงเฉพาะ (2) และ (3) ของมาตรา 21 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 โดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินโดยไม่ได้คำนึงถึงมาตรา 21 (1) (4) และ (5) ประกอบด้วย จึงยังไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ส่วนที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินในส่วนที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์โดยได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 (1) ถึง (5) เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสองและสังคมนั้นเป็นการถูกต้องแล้ว
เมื่อโจทก์นำสืบเพียงว่า ต้นไม้ของโจทก์จะให้ผลประโยชน์ประมาณปีละ 9,000 บาท ขอคิดค่าเสียหาย 5 ปี เป็นเงิน 45,000 บาทโดยไม่ได้นำสืบว่าต้นไม้ของโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับ พ.ร.ฎ.ฯ เป็นจำนวนเงินเท่าใด การที่จำเลยที่ 1 กำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ โดยคำนวณตามหลักเกณฑ์ที่กรมส่งเสริมพืชพันธุ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการกำหนดการกำหนดเงินค่าทดแทนดังกล่าวจึงเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว
โจทก์ผู้ถูกเวนคืนได้รับเงินค่าทดแทนก่อนการบังคับใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 184 (พ.ศ.2533) ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) และฉบับที่ 182 (พ.ศ.2533) ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร โดยกำหนดว่าเงินได้พึงประเมินประเภทเงินค่าทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ โดยใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปี 2532 เป็นต้นไปเมื่อโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนในปี 2531 จำเลยที่ 1 จึงต้องหักภาษีเงินได้ ณที่จ่ายจากเงินค่าทดแทนที่จ่ายแก่โจทก์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 50 (5) โจทก์จึงเรียกคืนภาษีเงินได้นั้นไม่ได้
เงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหายของเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่อาศัย หรือประกอบการค้าขายหรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืน ซึ่งได้รับความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ตามวรรคท้ายของมาตรา 21แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ต้องเป็นความเสียหายโดยตรงอันเนื่องมาจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนแต่ดอกเบี้ยของเงินกู้ยืมที่โจทก์อ้างว่าเพื่อนำใช้ปลูกบ้านใหม่นั้นมิใช่ความเสียหายโดยตรงอันเกิดจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดค่าทดแทนในส่วนนี้ให้แก่โจทก์จึงชอบแล้ว
ตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด… พ.ศ.2530 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจำเลยที่ 3 เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.ฎ.ในฐานะดังกล่าวจำเลยที่ 3 มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ และวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 และเป็นผู้รักษาการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ซึ่งเป็นกฎหมายจัดตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยขึ้นให้มีอำนาจหน้าที่ในการสร้างทางพิเศษ จำเลยที่ 3 มีอำนาจหน้าที่ดูแลให้การดำเนินการเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย และการดำเนินการเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.ดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของกระทรวงมหาดไทยจำเลยที่ 2 ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 เรื่อง ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ข้อ 19 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 อีกหลายฉบับ ต่อมามีการยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 โดย พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมพ.ศ.2534 มาตรา 3 และบัญญัติอำนาจหน้าที่นี้ของจำเลยที่ 2 ไว้ในมาตรา 19ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสองอ้างว่าการกำหนดค่าทดแทนแทนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.ฎ.ดังกล่าวไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหา-ริมทรัพย์ พ.ศ.2530 โจทก์ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2และที่ 3 ได้
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530มาตรา 21 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า ถ้าการงานหรือกิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืน ได้กระทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่นั้นมีราคาสูงขึ้น ให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน… และวรรคสามที่บัญญัติว่า ถ้าต้องเวนคืนอสังหา-ริมทรัพย์แต่เพียงส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันราคาลดลงนั้นด้วย เป็นบทบัญญัติที่เป็นหลักการในการสนับสนุนให้การเวนคืนเป็นไปด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมโดยสมบูรณ์ เมื่อการเวนคืนทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้นแล้วหากไม่นำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน ก็จะทำให้ผู้ถูกเวนคืนได้รับผลประโยชน์จากการเวนคืนแต่ฝ่ายเดียว ในทางตรงกันข้าม หากอสังหา-ริมทรัพย์ส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงแล้ว หากผู้ถูกเวนคืนไม่ได้รับเงินค่าทดแทนในส่วนนี้ ก็ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืน ซึ่งขัดต่อหลักการสำคัญของมาตรา 21วรรคหนึ่งที่ให้กำหนดค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมส่วนมาตรา 21 วรรคสี่ นั้น เป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา 21 วรรคหนึ่งเท่านั้น แม้ยังไม่มี พ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณออกใช้บังคับแล้วตามมาตรา 21 วรรคสี่ ก็ไม่ใช่กรณีที่จะทำให้หลักการตามมาตรา 21 วรรคสองและวรรคสามเป็นอันใช้ไม่ได้
เดิมที่ดินของโจทก์ก่อนถูกเวนคืนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหลังถูกเวนคืนแล้วคงเหลือเนื้อที่ 73 ตารางวา เป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู โดยมีด้านหนึ่งเป็นรูปเรียวแหลม และเมื่อทางพิเศษตัดผ่านซึ่งเป็นทางสัญจรของรถยนต์ที่ก่อให้เกิดเสียงดังและควันจากท่อไอเสีย ทำให้สภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์เปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดี ย่อมต้องเสื่อมราคาลงตามสภาพดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนในส่วนนี้ด้วย
แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของเงินฝากประเภทฝากประจำในวันที่มีการจ่ายมีอัตราเท่าไร และจะต้องคำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องว่ามีจำนวนเท่าไรเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์ในการฟ้องคดีก็ตามแต่หากโจทก์เสียค่าขึ้นศาลมาไม่ครบหรือไม่ถูกต้อง ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มให้ครบถ้วนได้ และแม้การที่ศาลชั้นต้นมิได้เรียกค่าขึ้นศาลไว้ให้ครบเป็นการคลาดเคลื่อน ก็คงทำให้ผิดพลาดเฉพาะในการเรียกค่าธรรมเนียมศาลขาดเท่านั้น แต่หาได้กระทบถึงกระบวนพิจารณาอื่น ๆ หรือทำให้คำพิพากษาไม่มีผลบังคับแต่อย่างใดไม่
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530มาตรา 26 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น และมาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าในกรณีที่มีการตกลงซื้อขายอสังหริมทรัพย์กันได้ตามมาตรา 10 ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่จ่ายเงินค่าอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวทั้งหมดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อขายกันตามมาตรา 10 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2531 นับแต่วันดังกล่าวไปอีกหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์คือวันที่ 16 มีนาคม 2532 อันเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนับแต่วันดังกล่าวในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝาก-ประจำของธนาคารออมสิน ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 8ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ ส่วนช่วงเวลาใดมีอัตราดอกเบี้ยที่ต้องใช้ในการคำนวณอัตราเท่าใดเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะเป็นผู้ดำเนินการในชั้นบังคับคดี

Share