คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5886/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเพียงผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาและบรรณาธิการ โดยจำเลยไม่ได้ร่วมกับผู้เขียน ผู้ประพันธ์ เขียนข้อความหมิ่นประมาทดังที่โจทก์กล่าวในฟ้องด้วย เมื่อปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไปบัญญัติไว้มาตรา 3 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ พุทธศักราช 2484 พ.ร.บ.การพิมพ์ (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2485 พ.ร.บ.การพิมพ์ (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2488 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 6 ตุลาคม พุทธศักราช 2519 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 36 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พุทธศักราช 2519 แต่ความที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มิได้บัญญัติถึงลักษณะความผิดของผู้พิมพ์ ผู้โฆษณษา บรรณาธิการ และเจ้าของหนังสือพิมพ์ทำนองเดียวกับที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การพิมพ์ พุทธศักราช 2484 มาตรา 48 แต่ประการใด จึงเป็นกรณีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังมิได้กำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดต่อไป การกระทำของจำเลยแม้จะเป็นความผิดดังกล่าว จำเลยก็พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนี้ขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญ มาตรา 326, 328, 332, 83 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 ให้ยึดและทำลายหนังสือพิมพ์อาทิตย์วิเคราะห์รายวัน ฉบับวันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 ที่มีข้อความหมิ่นประมาท และให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์อาทิตย์วิเคราะห์รายวัน หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หนังสือพิมพ์มติชน หนังสือพิมพ์ข่าวสด และหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เป็นเวลา 15 วัน ติดต่อกัน โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณา พลตำรวจเอก สันต์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ประกอบด้วยมาตรา 83 และพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคสอง จำคุก 1 ปี และปรับ 40,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างนับว่าเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 9 เดือน และปรับ 30,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยึดและทำลายหนังสือพิมพ์อาทิตย์วิเคราะห์รายวัน ฉบับวันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 ที่มีข้อความหมิ่นประมาทตามฟ้อง และให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษานี้โดยย่อพอให้ได้ใจความลงในหนังสือพิมพ์อาทิตย์วิเคราะห์รายวันฉบับหนึ่ง กับหนังสือพิมพ์มติชนหรือข่าวสดอีกหนึ่งฉบับมีกำหนดฉบับละสามครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 332 (1) (2)
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อในหนังสือพิมพ์อาทิตย์วิเคราะห์รายวัน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332, 83 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ และเจ้าของหนังสือพิมพ์อาทิตย์วิเคราะห์รายวันกับพวก ผู้เขียน ผู้ประพันธ์ ในหนังสือพิมพ์ดังกล่าว ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นผู้ใด ได้ร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม โดยร่วมกันเขียนและพิมพ์พาดหัวข่าว ข่าว และข้อความลงในหนังสือพิมพ์ดังกล่าว ฉบับวันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 อันเป็นการโฆษณาด้วยเอกสาร ซึ่งพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2484 มาตรา 48 วรรคแรก บัญญัติว่า เมื่อมีความผิดนอกจากที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้นด้วยการโฆษณาสิ่งพิมพ์นอกจากหนังสือพิมพ์ ผู้ประพันธ์ซึ่งตั้งใจให้โฆษณาบทประพันธ์นั้นต้องรับผิดเป็นตัวการ ถ้าผู้ประพันธ์ไม่ต้องรับผิดหรือไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการ และวรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีแห่งหนังสือพิมพ์ ผู้ประพันธ์และบรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการ และถ้าไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการด้วย และศาลชั้นต้นก็พิพากษาลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวโดยวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ดังกล่าว จำเลยต้องรับผิดเป็นตัวการในการกระทำความผิดร่วมกับผู้เขียน ผู้ประพันธ์ เมื่อไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์มาดำเนินคดีนี้ก็ต้องเอาโทษแก่จำเลยด้วย โจทก์ไม่อุทธรณ์ โจทก์ร่วมคงอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนัก และไม่รอการลงอาญา ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อในหนังสือพิมพ์อาทิตย์วิเคราะห์รายวันเนื่องจากเลิกกิจการหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาคดี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และโจทก์ร่วมไม่ฎีกา ส่วนจำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้อง ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยเป็นเพียงผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาและบรรณาธิการ โดยจำเลยไม่ได้ร่วมกับผู้เขียน ผู้ประพันธ์ เขียนข้อความหมิ่นประมาทดังที่โจทก์กล่าวในฟ้องด้วย เมื่อปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไปบัญญัติไว้ในมาตรา 3 ให้ยกเลิก พระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2484 พระราชบัญญัติการพิมพ์ (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2485 พระราชบัญญัติการพิมพ์ (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2488 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 6 ตุลาคม พุทธศักราช 2519 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 36 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พุทธศักราช 2519 แต่ความที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มิได้บัญญัติถึงลักษณะความผิดของผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ และเจ้าของหนังสือพิมพ์ทำนองเดียวกับที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2484 มาตรา 48 แต่ประการใด จึงเป็นกรณีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังมิได้กำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดต่อไป การกระทำของจำเลยแม้จะเป็นความผิดดังกล่าว จำเลยก็พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนี้ขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.

Share