คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5880/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 10 และที่ 11 มิได้เป็นนายจ้างของโจทก์มิได้เกี่ยวกับการเลิกจ้าง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 10และที่ 11 ให้รับผิดในส่วนนี้เกี่ยวกับการเลิกจ้าง ตามพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่ พ.ศ.2520 พ.ศ.2528 มาตรา 4 องค์การเหมืองแร่จำเลยที่ 1 ซึ่งได้ถูกยกเลิกตามมาตรา 3 ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีและมาตรา 5ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งบุคคลขึ้นคณะหนึ่งเป็นคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจำเลยที่ 11 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 เป็นคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1และให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 มีอำนาจแต่งตั้งคณะผู้ช่วยผู้ชำระบัญชีเพื่อดำเนินการชำระบัญชีได้ และการที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9มีคำสั่งจ้างโจทก์เป็นผู้ช่วยผู้ชำระบัญชีก็เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเพื่อให้การดำเนินการชำระบัญชีจำเลยที่ 2 เสร็จสิ้นไป หากพนักงาน ลูกจ้างและคนงานผู้ใดหมดหน้าที่หรือหมดความจำเป็นที่จะปฏิบัติงานต่อไป จำเลยก็ย่อมมีสิทธิเลิกจ้างเป็นรายบุคคลได้ดังนี้ เมื่องานเกี่ยวกับการชำระบัญชีหมดลง กรณีไม่จำเป็นที่จะต้องจ้างโจทก์เพื่อปฏิบัติงานต่อไป การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวที่ให้อำนาจไว้ จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามิใช่เป็นหนี้เงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้าง นายจ้างจะตกเป็นผู้ผิดนัดรับผิดชำระดอกเบี้ยต่อเมื่อลูกจ้างทวงถาม เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เมื่อใดจำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ค่าจ้าง สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่โจทก์มิได้หยุดและค่าชดเชยเป็นหนี้เงินที่กฎหมายบัญญัติให้นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้างโดยไม่ต้องทวงถาม ดังนั้น จำเลยผู้เป็นนายจ้างจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ดังกล่าว คำฟ้องโจทก์ระบุอัตราค่าจ้างของโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8ไว้แล้ว และจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธอัตราค่าจ้างของโจทก์แต่ละคนดังกล่าวไว้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามฟ้อง ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวัดหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าชดเชยแก่โจทก์ผิดพลาดจากข้อเท็จจริงในสำนวน ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ที่ 5 คำนวณค่าชดเชยตามคำขอท้ายฟ้องมาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อความเป็นธรรมศาลฎีกาเห็นสมควรให้โจทก์ดังกล่าวได้รับค่าชดเชยในจำนวนที่ถูกต้อง จำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว การที่โจทก์มาทำงานภายหลังวันที่จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างในวันดังกล่าว ศาลฎีกาเคยย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นเรื่องค่าบำเหน็จแล้ว แต่ศาลแรงงานไม่ได้วินิจฉัย เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความ ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนอีกได้ จำเลยอ้างโจทก์มีกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างเพียงฉบับละ 1 เดือน เป็นการจ้างชั่วคราวเพื่อให้การชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นไป หากพนักงานลูกจ้างและคนงานผู้ใดหมดหน้าที่หรือหมดความจำเป็นที่จะพึงปฏิบัติงานต่อไป จำเลยก็จะเลิกจ้างเป็นรายบุคคลไป แต่ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จผู้ปฏิบัติงานในองค์การเหมืองแร่ข้อ 5 กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี เมื่อออกจากงานไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ นอกจากถูกลงโทษปลดออก หรืออื่น ๆ มีสิทธิได้รับบำเหน็จเท่ากับเงินเดือนหรือค่าจ้างเดือนสุดท้ายที่พ้นจากตำแหน่งคูณด้วยระยะเวลาที่ได้ปฏิบัติงานคิดเป็นปีและโจทก์จะทำงานติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีก็ตาม แต่เมื่อการนับเวลาทำงานตามข้อ 6 ให้ถือหลักเกณฑ์โดยนับแต่วันที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับการบรรจุในอัตราประจำดังนี้การที่จำเลยจ้างโจทก์ให้ทำงานในระหว่างการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นการชั่วคราวมีระยะเวลาจ้างครั้งละ 1 เดือนหาได้บรรจุในอัตราประจำไม่ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 หนังสือเรื่องโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานรัฐวิสาหกิจที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานรัฐวิสาหกิจใหม่ ประกอบบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนของพนักงานและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจและโครงสร้างเงินเดือนกับโครงสร้างเงินเดือนที่ปรับใหม่มีระบุอัตราเงินเดือนขั้นเงินเดือนถึง 53 ขั้น และมีขั้นวิ่ง ซึ่งการปรับโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานลูกจ้างรัฐวิสาหกิจนั้นใช้กับพนักงานลูกจ้างที่ทำงานประจำโดยมีการบรรจุในอัตราประจำ แต่เมื่อจำเลยจ้างโจทก์ให้ทำงานในระหว่างการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1เป็นการชั่วคราว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยโดยไม่ระบุให้จำเลยคนใดต้องรับผิดนั้น ศาลฎีกาแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

คดีทั้งแปดสำนวน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1ถึงที่ 8
โจทก์ทั้งแปดฟ้องและแก้ไขคำฟ้องในทำนองเดียวกันว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การเหมืองแร่พ.ศ.2520 ต่อมามีพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่ พ.ศ.2520 พ.ศ.2528 ใช้บังคับ แต่ให้ถือว่าจำเลยที่ 1 ยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีโดยจำเลยที่ 11 ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 10 เป็นผู้แต่งตั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 เป็นคณะกรรมการผู้ชำระบัญชี โจทก์ทั้งแปดทำงานให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 โดยจำเลยทำคำสั่งจ้างเดือนละ1 ฉบับ กำหนดจ่ายค่าจ้างเมื่อสิ้นสุดคำสั่งจ้างแต่ละฉบับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ในฐานะคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ตกลงว่าจ้างโจทก์ทั้งแปดเป็นพนักงานชั่วคราวระหว่างดำเนินการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2528 วันที่ 2 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2528และจ้างในทำนองเดียวกันนั้นเรื่อยมาโดยออกคำสั่งเดือนละครั้งเป็นระยะเวลา 9 ปีเศษ อ้างว่าการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ยังไม่เสร็จสิ้น การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9มีลักษณะเป็นการจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำแต่หลีกเลี่ยงบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อมิต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อโจทก์ออกจากงานและเพื่อตัดสิทธิต่าง ๆ ที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับในฐานะลูกจ้างประจำต่อมาวันที่ 31 มกราคม 2538 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดและไม่จ่ายค่าชดเชย ทั้งตัดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่โจทก์ทั้งแปดจะพึงได้รับในฐานะลูกจ้างประจำการกระทำของจำเลยทั้งสิบเอ็ดเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบเอ็ดจ่ายค่าจ้างค้าง เงินค่าจ้างที่โจทก์ทั้งแปดมีสิทธิได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนตามมติคณะรัฐมนตรี4 ครั้ง พร้อมดอกเบี้ยค่าชดเชย ค่าตอบแทนค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายรวมทั้งหมดเป็นเงินที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดจะต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสิ้นพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับนับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์2538 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ทั้งแปดสำนวนให้การว่า จำเลยที่ 1เลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดและพนักงานทั้งหมด เนื่องจากไม่อาจดำเนินการต่อไปได้โจทก์ทั้งแปดจึงสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2528 จำเลยที่ 11 อาศัยอำนาจตามกฎหมายแต่งตั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 เป็นคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1และให้มีอำนาจแต่งตั้งคณะผู้ช่วยผู้ชำระบัญชีได้ จำเลยที่ 2ถึงที่ 9 จึงจ้างพนักงานชั่วคราวในระหว่างการชำระบัญชีโดยมีเงื่อนไขว่า หากพนักงานลูกจ้างและคนงานผู้ใดหมดหน้าที่หรือหมดความจำเป็นที่จะปฏิบัติงานต่อไป จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9จะไม่จ้างต่อไปและได้ทำสัญญาจ้างชั่วคราวเป็นรายเดือนคราวละ1 เดือน โดยมีการลดจำนวนการจ้างพนักงานชั่วคราวลงเรื่อยมาต่อมาได้มีคำสั่งที่ 266/2538 ลงวันที่ 31 มกราคม 2538จ้างพนักงานชั่วคราวในระหว่างการชำระบัญชีเพียง 5 คน โดยไม่จ้างโจทก์ทั้งแปดอีกต่อไป ซึ่งในคำสั่งจ้างพนักงานชั่วคราวแต่ละฉบับมีเงื่อนไขว่าเป็นการจ้างชั่วคราวตามความจำเป็นเพื่อการชำระบัญชีในเดือนที่จ้างนั้น หากพนักงานลูกจ้างคนงานผู้ใดหมดหน้าที่หรือหมดความจำเป็นที่จะปฏิบัติงานก็จะไม่จ้างต่อไปและพนักงานลูกจ้างรวมทั้งโจทก์ทั้งแปดทราบเงื่อนไขดังกล่าวตั้งแต่ต้นแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 จ้างพนักงานชั่วคราวดังกล่าวนี้เป็นการจ้างที่มีกำหนดเวลาการจ้างแน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้นอันเป็นการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่ไม่ใช่งานปกติของธุรกิจของจำเลยที่ 1 โดยมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานแน่นอนคือเพื่อให้การชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นไปจึงเป็นการจ้างในลักษณะชั่วคราวตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2ซึ่งออกโดยอาศัยอำนายตามความตามข้อ 2 และข้อ 14 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 และไม่มีลักษณะเป็นการจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำการเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม หลังจากเลิกจ้างแล้วโจทก์ทั้งแปดมาทำงานโดยพลการในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันดังกล่าวตามฟ้อง เมื่อโจทก์ทั้งแปดเป็นพนักงานชั่วคราวไม่ใช่ลูกจ้างประจำ จึงไม่มีสิทธิตามมติคณะรัฐมนตรีในการปรับเงินเดือนลูกจ้างรัฐวิสาหกิจได้จำเลยไม่ได้ทำสัญญากับโจทก์ทั้งแปด ทั้งไม่มีระเบียบข้อบังคับของจำเลยและบทบัญญัติกฎหมายใดกำหนดให้จำเลยต้องปรับค่าจ้างให้โจทก์ทั้งแปดจำนวน 4 ครั้งตามฟ้องโจทก์ทั้งแปดจุึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับการปรับเงินเดือนและค่าจ้างเพิ่ม จำเลยมิได้จงใจกลั่นแกล้งเพื่อเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี เพราะเป็นพนักงานชั่วคราว กำหนดเพียงคราวละ 1 เดือน มิใช่ลูกจ้างประจำจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี และไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเนื่องจากไม่ใช่ลูกจ้างประจำและการที่จำเลยจ้างโจทก์มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนทั้งจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้จึงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหมดเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควรและเป็นธรรมทั้งไม่มีระเบียบข้อบังคับของจำเลยและไม่มีกฎหมายใดกำหนดให้จำเลยต้องจ่ายเงินต่าง ๆ ให้โจทก์ตามฟ้องประกอบกับจำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาและได้มีพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่ พ.ศ.2520 พ.ศ. 2528 ตั้งแต่วันที่15 ตุลาคม 2528 เป็นต้นมา การที่จำเลยจ้างโจทก์ทั้งแปดเป็นคณะผู้ช่วยชำระบัญชี จึงเป็นการจ้างที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจไม่อยู่ในบังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฉบับลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ในเรื่องค่าจ้าง ค่าชดเชยนอกจากนั้นเมื่อมีพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่ พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2528 แล้วจำเลยที่ 1ไม่มีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 จึงไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ลงวันที่12 กันยายน 2534 ที่จะต้องจ่ายค่าชดเชยและเงินเพื่อตอบแทนความชอบแต่อย่างใด นอกจากนั้นเมื่อมีพระราชกฤษฎีกายกเลิกองค์การเหมืองแร่แล้วจำเลยที่ 1 เลิกจ้างพนักงานทั้งหมดจำนวน 342 คน ซึ่งทุกคนได้รับเงินค่าชดเชยการเลิกจ้างสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินชดเชยวันหยุดตามกฎหมายแรงงานไปครบถ้วนแล้ว การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางชี้สองสถานและกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังนี้
1. โจทก์ จำเลย เป็นลูกจ้างนายจ้างกันหรือไม่
2. จำเลยเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่
3. จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย เงินปรับค่าจ้างค่าชดเชย ค่าบำเหน็จ ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายให้โจทก์หรือไม่เพียงใด
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งแปดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาจ้างแรงงาน และเป็นการจ้างที่ไม่เข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยส่วนปัญหาตามประเด็นพิพาทข้อ 2และข้อ 3 ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นพิพาททั้งสองข้อดังกล่าวต่อไป พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ในประเด็นพิพาทข้อ 2และข้อ 3 ต่อไปตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 8,730 บาท ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 16,005 บาท ค่าชดเชยจำนวน 52,380 บาทแก่โจทก์ที่ 1 สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 7,080 บาทค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 12,980 บาท ค่าชดเชยจำนวน 42,480 บาท แก่โจทก์ที่ 2 สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 6,350 บาท ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 11,165 บาท ค่าชดเชยจำนวน 36,540 บาทแก่โจทก์ที่ 3 สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 4,940 บาทค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 9,056 บาท ค่าชดเชยจำนวน 29,639 บาท แก่โจทก์ที่ 4 สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 4,770 บาท ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 8,745 บาท ค่าชดเชยจำนวน 28,620 บาท แก่โจทก์ที่ 5 สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 4,605 บาท ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน 8,442 บาท ค่าชดเชยจำนวน 27,630 บาทในแต่ละจำนวนแก่โจทก์ที่ 6 และที่ 7 ตามลำดับ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 4,940 บาท ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 9,056 บาท และค่าชดเชยจำนวน 29,639 บาทแก่โจทก์ที่ 8 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งแปดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ทั้งแปดอุทธรณ์ในประเด็นพิพาทข้อ 2 ว่า โจทก์ทั้งแปดเป็นลูกจ้างประจำการที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 มีคำสั่งจ้างครั้งละ 1 เดือนเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์อื่น ๆทั้งได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เห็นว่า สำหรับจำเลยที่ 10 และที่ 11นั้น มิได้เป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งแปด และมิได้เกี่ยวกับการเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 10 และที่ 11ให้รับผิดตามฟ้อง
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเฉพาะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งแปดในกรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่พ.ศ. 2520 พ.ศ.2528 มาตรา 4 มีใจความว่า จำเลยที่ 1ซึ่งได้ถูกยกเลิกตามมาตรา 3 ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี และมาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งบุคคลขึ้นคณะหนึ่งเป็นคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจำเลยที่ 11 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 เป็นคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 มีอำนาจแต่งตั้งคณะผู้ช่วยผู้ชำระบัญชี เพื่อดำเนินการชำระบัญชีได้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 จึงมีคำสั่งจ้างโจทก์ทั้งแปดเป็นผู้ช่วยผู้ชำระบัญชี เห็นได้ว่า การที่จำเลยมีคำสั่งจ้างโจทก์ทั้งแปดดังกล่าวก็เพื่อให้เห็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเพื่อให้การดำเนินการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นไป หากพนักงานลูกจ้างและคนงานผู้ใดหมดหน้าที่หรือหมดความจำเป็นที่จะปฏิบัติงานต่อไป จำเลยก็ย่อมมีสิทธิเลิกจ้างเป็นรายบุคคลได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า งานเกี่ยวกับการชำระบัญชีหมดลง กรณีไม่จำเป็นที่จะต้องจ้างโจทก์ทั้งหมด เพื่อปฏิบัติงานต่อไป การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดจึงเป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวที่ให้อำนาจไว้ โจทก์ทั้งแปดจะอ้างว่าการเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหาได้ไม่
ที่โจทก์ทั้งแปดอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 เฉพาะที่เป็นเงินต้นเท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยของต้นเงินแต่ละจำนวนมิได้วินิจฉัยให้จึงเป็นการมิชอบนั้น เห็นว่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามิใช่เป็นหนี้เงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้างนายจ้างจะตกเป็นผู้ผิดนัดรับผิดชำระดอกเบี้ยต่อเมื่อลูกจ้างทวงถามข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งแปดทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เมื่อใด จึงให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ส่วนค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่โจทก์ทั้งแปดขอมาในคำฟ้องซึ่งที่ถูกก็คือจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่โจทก์ทั้งแปดมิได้หยุดและค่าชดเชยนั้นเป็นหนี้เงินที่กฎหมายบัญญัติให้นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้างโดยไม่ต้องทวงถาม ดังนั้น จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ดังกล่าว
ที่โจทก์ทั้งแปดอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยร่วมสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8ไม่ถูกต้องเนื่องจากศาลแรงงานกลางอ่านตัวเลขค่าจ้างรายเดือนของโจทก์ดังกล่าวผิดไป ความจริงโจทก์ที่ 3 ได้รับค่าจ้างเดือนละ6,390 บาท ไม่ใช่ 6,350 บาท และโจทก์ที่ 4 และที่ 8 ได้ค่าจ้างคนละ 5,940 บาท ต่อเดือน ไม่ใช่คนละ 4,940 บาทต่อเดือน และมิได้วินิจฉัยให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยให้โจทก์ดังกล่าวนั้นเห็นว่าคำฟ้องโจทก์ทั้งแปดสำนวนและที่แก้ไขคำฟ้องระบุว่าโจทก์ที่ 3 ได้รับค่าจ้างเดือนละ 6,390 บาท โจทก์ที่ 4 และที่ 8 ได้รับค่าจ้างคนละ 5,940 บาทต่อเดือน โดยจำเลยทั้งสิบเอ็ดมิได้ให้การและแก้ไขคำให้การปฏิเสธอัตราค่าจ้างของโจทก์แต่ละคนดังกล่าวไว้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์ที่ 3ที่ 4 และที่ 8 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 6,390 บาท5,940 บาท และ 5,940 บาท ตามลำดับ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8ในอัตราค่าจ้างเดือนละ 6,350 บาท, 4,940 บาท และ 4,940 บาทตามลำดับนั้น จึงผิดพลาดจากข้อเท็จจริงในสำนวนเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง โจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8 จึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้าง 1 เดือน เป็นเงินคนละ6,390 บาท 5,940 บาท และ 5,940 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8 มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงินคนละ 11,715 บาท 10,890 บาท และ 10,890 บาทและค่าชดเชยคนละ 38,340 บาท, 35,640 บาท และ35,640 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินของโจทก์แต่ละจำนวนและแต่ละคนตามลำดับดังกล่าว นับแต่วันเลิกจ้าง จนกว่าจะชำระเสร็จจากจำเลยที่ 1ถึงที่ 9 อนึ่ง เพื่อความเป็นธรรมแก่โจทก์ที่ 5 ที่คำนวณค่าชดเชยตามคำขอท้ายฟ้องมาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นสมควรให้โจทก์ดังกล่าวได้รับค่าชดเชยในจำนวนที่ถูกต้องด้วย
ที่โจทก์ทั้งแปดอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ดังกล่าวมาทำงานในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 เป็นการทำงานซึ่งได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าจ้างค้างจ่ายอีกซึ่งไม่ถูกต้องนั้นเห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดเมื่อวันที่31 มกราคม 2538 เช่นนี้ การที่โจทก์มาทำงานในวันที่1 กุมภาพันธ์ 2538 จำนวน 1 วัน ภายหลังที่จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์แล้ว โจทก์ทั้งแปดจึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9
ที่โจทก์ทั้งแปดอุทธรณ์เป็นประการสุดท้ายว่า โจทก์ทั้งแปดเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับค่าบำเหน็จตามฟ้องตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และประเด็นข้อนี้ศาลแรงงานกลางกำหนดไว้ในประเด็นพิพาทข้อ 3 ทั้งศาลฎีกาสั่งให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย แต่ศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยในประเด็นข้อนี้จึงมิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142ประกอบกับโจทก์ทั้งแปดทำงานติดต่อกันมาเป็นเวลา 9 ปีเศษจึงมีสิทธิได้รับการปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีในปี 2531, 2533,2535 และ 2537 รวม 4 ครั้ง ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งแปดเป็นลูกจ้างชั่วคราวไม่มีสิทธิได้รับการปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องการปรับค่าจ้างพนักงานรัฐวิสาหกิจจึงไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่าสำหรับค่าบำเหน็จนั้น ศาลฎีกาเคยย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นนี้แล้วแต่ศาลแรงงานกลางหาได้วินิจฉัยไม่เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความ แต่ในปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนอีก ข้อเท็จจริงได้ความดังที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าจำเลยจ้างโจทก์ทั้งแปดมีกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างเพียงฉบับละ 1 เดือน เป็นการจ้างชั่วคราวเพื่อให้การชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นไป หากพนักงานลูกจ้างและคนงานผู้ใดหมดหน้าที่หรือหมดความจำเป็นที่จะพึงปฏิบัติงานต่อไป จำเลยก็จะเลิกจ้างเป็นรายบุคคลไป เมื่อพิจารณาข้อบังคับของจำเลยที่ 1ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2522) ข้อ 5 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จผู้ปฏิบัติงานในองค์การเหมืองแร่กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี เมื่อออกจากงานไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ นอกจากถูกลงโทษ ปลดออก หรืออื่น ๆ มีสิทธิได้รับบำเหน็จเท่ากับเงินเดือนหรือค่าจ้างเดือนสุดท้ายที่พ้นจากตำแหน่งคูณด้วยระยะเวลาที่ได้ปฏิบัติงานคิดเป็นปีและตามข้อ 6 มีใจความว่าในการนับเวลาทำงานให้ถือหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ข้อ 6.1 ให้นับตั้งแต่วันที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับการบรรจุในอัตราประจำจะเห็นได้ว่าตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ในข้อ 5 และข้อ 6แม้โจทก์ทั้งแปดจะทำงานติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีก็ตามการนับเวลาทำงานให้ถือหลักเกณฑ์โดยนับแต่วันที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับการบรรจุในอัตราประจำ แต่การที่จำเลยจ้างโจทก์ทั้งแปดให้ทำงานในระหว่างการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1เป็นการชั่วคราวมีระยะเวลาจ้างครั้งละ 1 เดือน หาได้บรรจุในอัตราประจำไม่ โจทก์ทั้งแปดจึงหามีสิทธิได้รับบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.1 ไม่ ส่วนข้อที่โจทก์ทั้งแปดอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งแปดเป็นลูกจ้างประจำมีสิทธิได้รับการปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีรวม 4 ครั้ง นั้นเห็นว่า เมื่อพิจารณาหนังสือเรื่องโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานรัฐวิสาหกิจที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2531 ให้ปรับโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานรัฐวิสาหกิจใหม่ ประกอบบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนของพนักงานและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจและโครงสร้างเงินเดือนกับโครงสร้างเงินเดือนที่ปรับใหม่เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2533, วันที่ 1 เมษายน 2535 และวันที่1 ตุลาคม 2537 ซึ่งตามเอกสารดังกล่าว ข้อ 1.2 และ 1.3 มีระบุอัตราเงินเดือน ขั้นเงินเดือนถึง 53 ขั้น และมีขั้นวิ่ง จะเห็นได้ว่าการปรับโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานลูกจ้างรัฐวิสาหกิจนั้นใช้กับพนักงานลูกจ้างที่ทำงานประจำโดยมีการบรรจุในอัตราประจำ แต่ตามข้อเท็จจริงจำเลยจ้างโจทก์ทั้งแปดให้ทำงานในระหว่างการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นการชั่วคราวครั้งละ1 เดือนเท่านั้น โจทก์ทั้งแปดจึงหามีสิทธิได้รับการปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวไม่ อนึ่ง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชย โดยไม่ระบุให้จำเลยคนใดซึ่งมีถึงสิบเอ็ดคนต้องรับผิดนั้น ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9ในฐานะคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 ร่วมกันรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 8,730 บาท 7,080 บาท6,390 บาท 5,940 บาท 4,770 บาท 4,605 บาท 4,605 บาทและ 5,940 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนของโจทก์แต่ละคนตามลำดับนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 8 และจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 16,005 บาท12,980 บาท 11,715 บาท 10,890 บาท 8,745 บาท 8,442 บาท 8,442 บาท และ 10,890 บาท กับจ่ายค่าชดเชยจำนวน 52,380 บาท 42,480 บาท 38,340 บาท 35,640 บาท28,620 บาท 27,630 บาท 27,630 บาท และ 35,640 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยดังกล่าวของโจทก์แต่ละคนตามลำดับ นับตั้งแต่วันเลิกจ้าง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 8 ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งแปดสำนวนสำหรับจำเลยที่ 10 และที่ 11 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share