แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยอาศัยหนังสือมอบอำนาจปลอม จึงเป็นการโอนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ และไม่มีสิทธิโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 แม้จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 จะสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ โจทก์ทั้งสองเป็นทายาทของผู้ตายซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่ถูกปลอมหนังสือมอบอำนาจเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินพิพาทจึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทได้
ย่อยาว
คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2444/2536 หมายเลขแดงที่ 11602/2543 และคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 4786/2536 หมายเลขแดงที่ 11611/2543 ของศาลชั้นต้น แต่คดีทั้งสองสำนวนถึงที่สุดในศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า หนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับที่มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 เป็นเอกสารปลอม นิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาททั้งสามแปลง ระหว่างผู้ตายโดยจำเลยที่ 1 ทำแทนกับจำเลยที่ 2 ผู้ซื้อเป็นโมฆะ เพราะเกิดจากหนังสือมอบอำนาจปลอม นิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1488 และ 3932 ตำบลบ้านทวาย อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เป็นการฉ้อฉล ให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิม นิติกรรมการโอนระหว่างจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 3 เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 1488 และ 3932 เป็นการฉ้อฉล ให้เพิกถอนกลับสู่ฐานะเดิม ให้จำเลยทั้งสี่ดำเนินการทางทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงกลับคืนแก่เจ้าของเดิมหรือโจทก์ที่ 1 หรือกองมรดกตามแต่กรณีในฐานะเดิมโดยปราศจากภาระติดพันใด ๆ หากไม่กระทำให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่โดยให้จำเลยทั้งสี่ชำระค่าใช้จ่ายทั้งหมด ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดเป็นเงิน 7,687,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จและพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2536 เป็นพินัยกรรมปลอมไม่มีผลทางกฎหมาย
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1488 และ 3932 ตำบลบ้านทวาย อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร ของนางชิต ผู้ตาย ระหว่างผู้ตายโดยจำเลยที่ 1 ผู้รับมอบอำนาจผู้ขายกับจำเลยที่ 2 ผู้ซื้อและการตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1509 ตำบลบางคอแหลม (บ้านทวาย) อำเภอยานนาวา (บางรัก) กรุงเทพมหานคร เฉพาะส่วนของผู้ตาย (ปัจจุบันแบ่งแยกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 507, 541 ถึง 552 ตำบลบางคอแหลม อำเภอบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร) ระหว่าง ผู้ตาย โดยจำเลยที่ 1 ผู้รับมอบอำนาจ ผู้ถือกรรมสิทธิ์กับจำเลยที่ 2 ผู้ขอถือกรรมสิทธิ์ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2535 วันที่ 3 กรกฎาคม 2535 และวันที่ 12 มกราคม 2536 ตามลำดับ และให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1488 และ 3932 ตำบลบ้านทวาย อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยที่ 2 ผู้ขายกับจำเลยที่ 3 ผู้ซื้อ และการโอนให้ตัวการระหว่างจำเลยที่ 3 ผู้โอนและจำเลยที่ 4 ผู้รับโอน เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2535 และวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2536 ตามลำดับ โดยให้จำเลยทั้งสี่ดำเนินการทางทะเบียนโอนที่ดินพิพาทกลับมาเป็นชื่อผู้ตายถือกรรมสิทธิ์ โดยปราศจากภาระติดพันใด ๆ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ โดยให้จำเลยทั้งสี่เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายตามส่วน ซึ่งแต่ละคนต้องรับผิดชอบ ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 7,687,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 กันยายน 2536) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2536 เป็นพินัยกรรมปลอมไม่มีผลทางกฎหมาย ให้ตั้งโจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย กับให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทุกสำนวนแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 120,000 บาท คำขอของโจทก์ทั้งสองนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ให้ตกเป็นพับ ให้ยกคำร้องขอของจำเลยที่ 1
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ทั้งสองจำนวน 50,000 บาท ค่าธรรมเนียมอื่นให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า นายสนิท (หลวงประกอบสูงกกิจ) และนางชิต ผู้ตายเป็นสามีภริยากันมีบุตรด้วยกัน 6 คน คือ นางสุนีย์หรือประคอง นายประดิษฐ์ นายวินัย นางไพลิน โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ตามลำดับ นายสนิทและนายวินัยถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนายอุทัยและนางสุนีย์ จำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด อยู่ในกลุ่มเครือเดียวกันกับบริษัทเพชรเจริญอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทสยามออคิดแมนชั่น จำกัด และบริษัทสยามไพรเวอร์ค จำกัด โดยทั้งสี่บริษัทมีผู้บริหารชุดเดียวกัน ผู้ตายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินหลายแปลง รวมทั้งที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1488 และ 3932 ตำบลบ้านทวาย อำเภอบ้านทวาย (บางรัก) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 2 งาน 7 ตารางวา และ 28 ตารางวา โดยที่ดินทั้งสองแปลงอยู่ติดต่อกันพร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านไม้สองชั้นเลขที่ 2771 ริมถนนเจริญกรุง ซึ่งผู้ตายใช้อยู่อาศัยกับตึกแถว 2 ชั้น 8 ห้อง เลขที่ 2771/1-8 ริมถนนเจริญกรุง และที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1509 ตำบลบางคอแหลม (บ้านทวาย) อำเภอยานนาวา (บางรัก) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 26 ตารางวา โดยถือกรรมสิทธิ์รวมกับผู้อื่นพร้อมสิ่งปลูกสร้างคือ ตึกแถว 4 ชั้น 13 ห้อง ริมถนนพระราม 3 จำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1488 และ 3932 ในชื่อผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1488 และ 3932 จดทะเบียนจำนองแก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด รวม 2 โฉนด จำเลยที่ 2 จดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง แล้วโอนขายให้แก่จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์แทนจำเลยที่ 4 ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อตั้งเป็นบริษัท ต่อมาเมื่อตั้งบริษัทจำเลยที่ 4 แล้ว จำเลยที่ 3 จึงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1488 และ 3932 ให้แก่จำเลยที่ 4 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังนำหนังสือมอบอำนาจไปจดทะเบียนตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1509 ในชื่อของผู้ตายบางส่วนจำนวน 270 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 2 โดยมีค่าตอบแทน จำเลยที่ 2 ยื่นฟ้องผู้ตายกับพวกรวม 6 คน ขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมต่อศาลแพ่ง ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 4128/2536 แต่ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้ผู้ตายกับพวกไม่ได้ จำเลยที่ 2 ยื่นคำแถลงขอส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้ผู้ตายกับพวกใหม่ ศาลแพ่งมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 คัดสำเนาทะเบียนบ้านผู้ตายที่รับรองโดยทางราชการมาใหม่จึงจะสั่ง จำเลยที่ 2 ส่งสำเนาทะเบียนบ้านตามคำสั่งศาลแพ่ง ศาลแพ่งจึงอนุญาตให้ส่งโดยวิธีปิดหมาย วันที่ 5 เมษายน 2536 ผู้ตายถึงแก่ความตาย เจ้าพนักงานศาลส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่ผู้ตายโดยวิธีปิดหมาย ศาลแพ่งได้พิจารณาชี้ขาดคดีไปฝ่ายเดียวโดยผู้ตายกับพวกขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา แล้วพิพากษาให้ผู้ตายกับพวกแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1509 แก่จำเลยที่ 2 ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 17422/2536 โจทก์ทั้งสองร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ว่า ร่วมกับพวกปลอมแปลงเอกสารต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ผลที่สุดอัยการสูงสุดมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง จำเลยที่ 2 ได้ยื่นฟ้องโจทก์ทั้งสองเรื่องแจ้งความเท็จต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง โจทก์ทั้งสองให้การปฏิเสธ ต่อมาจำเลยที่ 2 ขอถอนฟ้อง โจทก์ทั้งสองไม่ค้าน ศาลอาญากรุงเทพใต้อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ถอนฟ้องและมีคำสั่งจำหน่ายคดี นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังฟ้องโจทก์ที่ 1 เรื่องเบิกความเท็จต่อศาลอาญา ศาลอาญาไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง โจทก์ที่ 1 ให้การปฏิเสธ ต่อมาจำเลยที่ 2 ขอถอนฟ้อง โจทก์ที่ 1 ไม่ค้าน ศาลอาญาอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ถอนฟ้องและมีคำสั่งจำหน่ายคดี ระหว่างการพิจารณาคดีนี้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แถลงรับข้อเท็จจริงว่า ลายมือชื่อที่ระบุว่านางชิต ในสำเนาภาพถ่ายหนังสือมอบอำนาจ สำเนาภาพถ่ายบัตรประจำประชาชน หนังสือมอบอำนาจ สำเนาพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2536 และสำเนาหนังสือมอบอำนาจ เป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน ก่อนผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ตายทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2530 ยกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1488 และ 3932 ให้แก่โจทก์ที่ 1
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ว่า พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2536 เป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ลายมือชื่อผู้ตายในหนังสือมอบอำนาจปลอมและจำเลยที่ 1 ก็ไม่อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาที่ว่าพินัยกรรมดังกล่าวไม่ปลอม ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาว่าพินัยกรรมดังกล่าวปลอมหรือไม่ เพราะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิใช่ทายาทของผู้ตายอันจะมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายแต่ประการใด ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทตามฟ้องได้หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หนังสือมอบอำนาจปลอม ดังนั้นการโอนที่ดินพิพาทตามหนังสือมอบอำนาจปลอม จึงเป็นการโอนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ ไม่มีสิทธิโอนให้จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ตามลำดับ แม้จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 จะสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินพิพาทตามฟ้อง จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง จำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่ความในคดีหมายเลขแดงที่ 11602/2543 และที่ 11611/2543 ของศาลชั้นต้นซึ่งศาลได้รวมพิจารณาเข้ากับคดีนี้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามคดีทั้งสองสำนวนดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ทั้งสองตามสำนวนนี้ 900,000 บาท ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นตามคดีหมายเลขแดงที่ 11602/2543 และที่ 11611/2543 ของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 11602/2543 และที่ 11611/2543 ของศาลชั้นต้นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาเห็นสมควรเป็นพับ