คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14122/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษา ขั้นตอนแรกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องขอให้ออกหมายบังคับคดี ขั้นตอนต่อไปต้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีและขั้นตอนสุดท้ายเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้
โจทก์ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษา นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลย แต่ผู้แทนโจทก์ส่งเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการยึดไม่ครบจึงยึดที่ดินไม่ได้ ผู้แทนโจทก์ไม่ไปพบและแถลงว่าจะดำเนินคดีต่อไปหรือไม่ และไม่ไปแถลงนำยึดทรัพย์ตามคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ภายหลังมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปรับเงินค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือคืน ปัจจุบันยังไม่มีการยึดทรัพย์ สำนวนบังคับคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างรอปลดเผา หากโจทก์ประสงค์จะบังคับคดีจะต้องตั้งเรื่องบังคับคดีใหม่ เช่นนี้จึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ดำเนินการต่างๆ ตามขั้นตอนครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคืนต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ 11 แปลง แก่ผู้ร้อง
ทายาทของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่คัดค้าน
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคืนต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 3988, 4067, 4078, 4149, 4150, 4152, 4153, 4156, 4157, 4158 และ 4163 ตำบลไร่น้อย อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี แก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นรับฟังมา ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาโดยคู่ความไม่โต้เถียงเป็นอย่างอื่นฟังได้ว่า คดีนี้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 1 จำนวน 11 แปลง คือ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 3988, 4067, 4078, 4149, 4150, 4152, 4153, 4156, 4157, 4158 และ 4163 ตำบลไร่น้อย อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โดยโจทก์ส่งมอบต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้ง 11 แปลง ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดถือไว้ ที่ดินทั้ง 11 แปลงดังกล่าวที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดในคดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2558 ให้กันเงินกึ่งหนึ่งที่ได้จากการขายทอดตลาดให้แก่นางปุ่น เนื่องจากที่ดินดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างนางปุ่นกับจำเลยที่ 1 ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลฎีกาพิพากษายืน และก่อนที่นางปุ่นจะถึงแก่ความตายได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินทั้ง 11 แปลง ในส่วนของนางปุ่นให้แก่ผู้ร้องคดีนี้ซึ่งเป็นบุตรของนางปุ่นกับจำเลยที่ 1 และยังแสดงเจตนาไว้อีกด้วยว่าที่ดินดังกล่าวในขณะนั้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้กันเงินกึ่งหนึ่งที่ได้จากการขายทอดตลาดแล้วได้เงินกึ่งหนึ่งก็ขอยกเงินทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องด้วย ต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางปุ่น ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินทั้ง 11 แปลง ทั้งในฐานะที่เป็นทายาทและเป็นผู้รับพินัยกรรมของนางปุ่น ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินทั้ง 11 แปลง นั้น ได้ความจากเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าผู้แทนโจทก์นำเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการยึดมายื่นไม่ครบจึงไม่สามารถยึดที่ดินดังกล่าวได้เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีหนังสือแจ้งผู้แทนโจทก์ให้ไปพบเพื่อแถลงว่ายังประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปหรือไม่และให้มาแถลงนำยึดทรัพย์ แต่ก็ไม่มีการติดต่อเพื่อดำเนินการใด ๆ ภายหลังเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์มารับเงินค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือคืน ซึ่งต่อมาโจทก์มอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปรับเงินแล้ว ปัจจุบันยังไม่มีการยึดที่ดินทั้ง 11 แปลง แต่อย่างใด และสำนวนบังคับคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างรอปลดเผา หากโจทก์ยังประสงค์จะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองก็จะต้องตั้งเรื่องบังคับคดีใหม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่โจทก์ได้ดำเนินการร้องขอให้บังคับคดีภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แล้ว หากต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการต่อไปแม้จะพ้นกำหนด 10 ปีแล้ว คำพิพากษาดังกล่าวก็ไม่สิ้นผลบังคับ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการต่อไปได้ นั้น เห็นว่า คดีนี้หนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้เงิน เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำบังคับ เป็นกรณีที่ต้องตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ปัญหาว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องดำเนินการบังคับคดีไปถึงขั้นตอนใดจึงจะถือว่าได้มีการร้องขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปีแล้ว เมื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 275 และมาตรา 278 จะเห็นได้ว่า การร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาต้องดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนแรกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ขั้นตอนต่อไปต้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดี และขั้นตอนสุดท้ายเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้ เมื่อพิจารณาขั้นตอนดังกล่าวมา ปรากฏว่าคดีนี้ผู้แทนโจทก์นำเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการยึดมายื่นไม่ครบจึงไม่สามารถยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 ได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีหนังสือแจ้งผู้แทนโจทก์ให้ไปพบเพื่อแถลงว่ายังประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปหรือไม่ และให้มาแถลงยึดทรัพย์ แต่ก็ไม่มีการติดต่อเพื่อดำเนินการใด ๆ จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการยึดที่ดินทั้ง 11 แปลง ดังกล่าว และสำนวนบังคับคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างรอปลดเผา เช่นนี้จึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ดำเนินการต่าง ๆ ตามขั้นตอนครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา กรณีย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 1 และเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ไม่มีสิทธิยึดต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินทั้ง 11 แปลงไว้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคืนต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้ง 11 แปลง ให้แก่ผู้ร้อง ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ข้ออื่นนอกจากนี้ แม้วินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่วินิจฉัยให้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share