แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18 และมาตรา 19 กำหนดให้ผู้รับประเมินหรือบุคคลผู้พึงชำระค่าภาษีมีหน้าที่ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยนำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้นเป็นหลักในการคำนวณภาษี ซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา ดังนี้ทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในปี 2538 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องยื่นรายการทรัพย์สินภายในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2539 เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการประเมินและแจ้งจำนวนภาษีที่ต้องชำระไปยังจำเลย ภาษีดังกล่าวเรียกว่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2539 ที่โจทก์ระบุว่าเป็นการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2539โดยนำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วมาคำนวณตามแบบแจ้งรายการจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
จำเลยได้รับแจ้งคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540หากจำเลยยังไม่พอใจคำชี้ขาดก็อาจนำคดีไปสู่ศาล เพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้องได้ แต่ต้องทำภายในสามสิบวันนับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ. 2475 เมื่อจำเลยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่มีสิทธิโต้แย้งต่อศาลว่าการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินไม่ชอบในการโต้แย้งนั้นไม่ว่าผู้รับประเมินจะอยู่ในฐานะโจทก์หรือจำเลยผู้รับประเมินก็หมดสิทธิดังกล่าวเช่นเดียวกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2539 และค่าเพิ่มจำนวน 166,414.32 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายให้จำเลยเข้าใจ ซึ่งสภาพแห่งข้อหาตลอดทั้งข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับ กล่าวคือ โจทก์บรรยายฟ้องว่าเป็นภาษีของปี 2539 แต่เมื่อดูตามเอกสารเห็นได้ชัดว่าเป็นภาษีของปี 2538 จำเลยไม่ทราบว่าจะต่อสู้ว่าเป็นภาษีของปีไหนจึงจะตรงประเด็นตามที่โจทก์ฟ้อง หลังจากโจทก์แจ้งผลการอุทธรณ์และยอดหนี้การเสียภาษีให้ทราบแล้ว จำเลยได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาโจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ฟ้องและเรียกเก็บภาษีผิดเพราะเป็นภาษีของปี 2538 มิใช่ปี 2539 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องโจทก์คำนวณภาษีสูงกว่าความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน160,617.66 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้ใช้ที่ดินและอาคารประกอบกิจการโรงแรมตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2538 และต่อมาเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี2539 เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์กำหนดค่ารายปีและค่าภาษีที่ต้องชำระตามกฎหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ไต่สวนตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยแล้ว จึงได้กำหนดประเภทแห่งทรัพย์สินค่าภาษีแห่งทรัพย์สิน ค่าภาษีที่จำเลยจะต้องเสีย โดยมีหลักเกณฑ์ตามคำแนะนำการคำนวณค่ารายปีของกระทรวงมหาดไทย โจทก์ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบแล้ว เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18 และมาตรา 19กำหนดให้ผู้รับประเมินหรือบุคคลผู้พึงชำระค่าภาษีมีหน้าที่ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี โดยนำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้นเป็นหลักในการคำนวณภาษี ซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา ดังนี้ ทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในปี 2538 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องยื่นรายการทรัพย์สินภายในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2539 เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการประเมินและแจ้งจำนวนภาษีที่ต้องชำระไปยังจำเลย ภาษีดังกล่าวเรียกว่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี2539 ที่โจทก์ระบุปีภาษี 2539 โดยนำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วมาคำนวณตามแบบแจ้งรายการจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฟ้องโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว
ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า จำเลยจะต้องรับผิดชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเพียงใด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยได้รับแจ้งคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 หากจำเลยยังไม่พอใจคำชี้ขาดก็อาจนำคดีไปสู่ศาล เพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้องได้ แต่ต้องทำภายในสามสิบวันนับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 เมื่อจำเลยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 31 วรรคหนึ่งจำเลยจึงไม่มีสิทธิโต้แย้งต่อศาลได้ว่า การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินไม่ชอบ ในการโต้แย้งนั้นไม่ว่าผู้รับประเมินจะอยู่ในฐานะโจทก์หรือจำเลย ผู้รับประเมินก็หมดสิทธิดังกล่าวเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามในเรื่องจำนวนห้องพักที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโรงแรมของจำเลยมีห้องพักเพียงจำนวน 119 ห้อง ไม่ใช่จำนวน 124 ห้อง ดังที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ประเมินนั้น เห็นว่า ตามแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2539 ระบุว่าโรงแรมของจำเลยมี 119 ห้องนายทองปนเจ้าหน้าที่จัดเก็บรายได้ของโจทก์ก็เบิกความว่าโรงแรมของจำเลยมีห้องพักจำนวน 119 ห้อง เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องให้จำเลยชำระค่าภาษีตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ประเมิน ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ ต้องนำสืบให้ประจักษ์ว่า การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โรงแรมของจำเลยมีห้องพัก จำนวน 119 ห้อง การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์นำห้องพักรวมจำนวน 124 ห้อง มาคำนวณค่ารายปีและค่าภาษีจึงเกินกว่าจำนวนห้องพักที่มีอยู่จริง การคำนวณค่ารายปีและค่าภาษีในส่วนที่เกินไปจำนวน 5 ห้อง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายให้หักจำนวนห้องพักเตียงเดี่ยวและเตียงคู่ซึ่งมีอัตราค่าเช่าวันละ900 บาท ออกเสีย 5 ห้อง เป็นเวลา 5 เดือนครึ่ง คงเหลือค่ารายปี1,668,754.92 บาท คิดเป็นค่าภาษี 208,594.37 บาท และให้ลดลงอีกร้อยละ 30 ตามคำชี้ขาดของเทศมนตรีเป็นค่าภาษี146,016.06 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์จำเลยค้างชำระภาษีจึงต้องรับผิดค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10แห่งค่าภาษีที่ค้างตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ. 2475 มาตรา 42 และ 43(4) จำนวน 14,601.60 บาท รวมเป็นค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินและเงินเพิ่มจำนวน160,617.66 บาท
พิพากษายืน