คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5874/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 มีลักษณะเป็นการกำหนดให้ลูกจ้างเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งแต่เพียงทางเดียวกล่าวคือจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานหรือจะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานก็ได้ แต่จะใช้สิทธิพร้อมกันทั้งสองทางไม่ได้ หากลูกจ้างเลือกใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานก็เท่ากับสละสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานอยู่ในตัว
การที่ ณ. ลูกจ้างยื่นฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างต่อศาลแรงงานขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าจ้างที่ค้างถือว่า ณ. เลือกใช้สิทธิที่จะฟ้องต่อศาลแรงงาน จึงหมดสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 แล้วเมื่อต่อมา ณ. ได้ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานอีกในขณะที่คดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเพื่อขอให้โจทก์จ่ายเงินค่าจ้างที่ได้ยื่นฟ้องไว้แล้วและค่าจ้างในเดือนถัดมาต่อเนื่องกัน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเดียวกัน พนักงานตรวจแรงงานจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคำร้องของณ. แม้ต่อมา ณ. จะได้ถอนฟ้องคดีดังกล่าว ก็ไม่ทำให้พนักงานตรวจแรงงานกลับมีอำนาจพิจารณาคำร้องนั้นขึ้นมาอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นกรมในสังกัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานตรวจแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ประจำสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่จตุจักร และเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2542 จำเลยที่ 2 ได้มีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 35/2542 สั่งให้โจทก์จ่ายเงินค่าจ้างพร้อมเงินเพิ่มให้แก่นายณรงค์ อินทนิน ลูกจ้างของโจทก์ รวม 1,536,000 บาท โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว เนื่องจากเดิมเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2541 นายณรงค์ลูกจ้างได้ไปยื่นคำร้องต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่จตุจักร ว่าโจทก์ค้างจ่ายค่าจ้างเดือนพฤศจิกายน 2541 อยู่ 10,000 บาท ขณะเรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินการของพนักงานตรวจแรงงาน เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2542 นายณรงค์ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์เป็นจำเลยต่อศาลแรงงานกลาง ตามคดีหมายเลขดำที่ 398/2542 ขอให้ศาลบังคับให้โจทก์จ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระจำนวน 10,000 บาท และในคดีดังกล่าวได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างหลายครั้ง โดยมียอดเงินอัตราค่าจ้างไม่เหมือนเดิมและเพิ่มขึ้นทุกครั้ง ศาลจึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง นายณรงค์จึงถอนฟ้องไปเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2542 ต่อมาวันที่ 18 มีนาคม 2542 นายณรงค์ยื่นฟ้องโจทก์เป็นคดีใหม่ต่อศาลแรงงานกลาง ตามคดีหมายเลขดำที่ 4391/2542 โดยบรรยายฟ้องว่าได้รับค่าจ้างเดือนละ 43,000 บาท ต่อมาวันที่ 27 กันยายน 2542 ขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล นายณรงค์ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานว่าโจทก์ค้างชำระค่าจ้างตั้งแต่เดือนธันวาคม 2541 ถึงปัจจุบัน การที่จำเลยที่ 2 วินิจฉัยคำร้องดังกล่าวและออกคำสั่งที่ 35/2542 จึงเป็นการขัดต่อขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 ถึง 125 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยคำร้องดังกล่าวอีก ทั้งการที่โจทก์และนายณรงค์ยังมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างกันอยู่ ทำให้โจทก์ไม่อาจจ่ายค่าจ้างให้แก่นายณรงค์ได้ จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์จงใจไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่นายณรงค์โดยปราศจากเหตุอันสมควร คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่ 35/2542 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2542

จำเลยทั้งสองให้การว่า นายณรงค์ อินทรนิน เป็นลูกจ้างของโจทก์ได้รับค่าจ้างในอัตราเดือนละ 35,000 บาท วันที่ 30 พฤศจิกายน 2541 โจทก์ลดค่าจ้างของนายณรงค์เหลือ 25,000 บาท โดยไม่ได้รับความยินยอมจากนายณรงค์และจ่ายค่าจ้างให้แก่นายณรงค์เพียงจำนวนดังกล่าว ต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2541 นายณรงค์มาร้องเรียนโจทก์ต่อพนักงานตรวจแรงงาน เรื่องค่าจ้างสำหรับเดือนพฤศจิกายน 2541 ที่ขาดอยู่จำนวน 10,000 บาท และค่าจ้างเดือนธันวาคม 2541 จำนวน 35,000 บาท ต่อมาวันที่ 22 มกราคม 2542 จำเลยที่ 2 เรียกโจทก์มาไกล่เกลี่ยโจทก์ยอมรับว่าในวันที่ 29 มกราคม 2542 จะนำเงินค่าจ้างจำนวน 45,000 บาท มาชำระให้แก่นายณรงค์ แต่ถึงวันนัดกลับนำเงินมาชำระเพียง 10,000 บาท ซึ่งนายณรงค์ไม่ยินยอมรับเงินจำนวนดังกล่าวและได้ขอถอนคำร้องเพื่อนำคดีไปฟ้องร้องที่ศาลแรงงานกลาง ข้อเรียกร้องของนายณรงค์จึงระงับไปตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2542 และโจทก์ได้ถอนเงินจำนวน 10,000 บาท คืนไปแล้ว ต่อมาวันที่ 27 กันยายน 2542 นายณรงค์มายื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่าโจทก์ค้างจ่ายค่าจ้างตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน2541 ถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2542 จำเลยที่ 2 ออกคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 35/2542 ตามคำร้องของนายณรงค์ฉบับลงวันที่ 27 กันยายน 2542 มิใช่ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม 2541 และตามคำร้องทั้งสองฉบับ มีประเด็นเรื่องค่าจ้างซ้ำกันเพียงเฉพาะเดือนพฤศจิกายน 2541 เท่านั้น ส่วนค่าจ้างตั้งแต่เดือนธันวาคม 2541 ตลอดมา ไม่มีประเด็นในคำร้องเดิม และไม่ใช่ประเด็นที่โจทก์และนายณรงค์เป็นคู่ความกันอยู่ในศาลแรงงานกลาง ทั้งการคำนวณเงินเพิ่มก็ไม่ได้คำนวณจากค่าจ้างในเดือนพฤศจิกายน 2541 อีกทั้งโจทก์เคยจ่ายค่าจ้างให้แก่นายณรงค์ในอัตราเดือนละ 35,000 บาท ดังนั้น ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่ายังไม่ทราบว่าค่าจ้างของนายณรงค์เป็นจำนวนเท่าใดเพราะยังไม่มีคำพิพากษาฟังไม่ขึ้น โจทก์มีเจตนาที่จะไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่นายณรงค์ลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานจึงชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการออกคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 124 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 35/2542 กับทั้งตามคำฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 กระทำการใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และข้อเรียกร้องของนายณรงค์ตามคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 4391/2542 กับคำร้องที่ร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแตกต่างกัน ข้อเรียกร้องที่ร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานส่วนใหญ่เป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นภายหลังจากนายณรงค์ยื่นฟ้องแล้ว ประกอบกับไม่มีกฎหมายใดห้ามลูกจ้างที่ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลแล้วมิให้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานอีก การที่นายณรงค์ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 พนักงานตรวจแรงงาน จึงมีอำนาจพิจารณาคำร้องของนายณรงค์ โจทก์รู้อยู่แล้วว่า นายณรงค์ได้รับค่าจ้างในอัตราเดือนละ 35,000 บาท การที่โจทก์ยกเอาการยื่นคำร้องและการฟ้องคดีต่อศาลของนายณรงค์มาเป็นข้ออ้างว่ายังมีการโต้แย้งเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างและยังไม่มีคำพิพากษาของศาลว่านายณรงค์มีสิทธิได้รับค่าจ้างในอัตราเดือนละเท่าใด เพื่อไม่จ่ายค่าจ้างให้นายณรงค์จึงฟังไม่ขึ้น คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่ 35/2542 จึงชอบแล้ว พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายณรงค์ อินทนิน เป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งผู้ควบคุมงานก่อสร้างตั้งแต่ปี 2531 ต่อมาเดือนมกราคม จนถึงเดือนตุลาคม 2541 โจทก์ได้ลดค่าจ้างของนายณรงค์เหลืออัตราเดือนละ 35,000 บาท โดยนายณรงค์ยอมรับค่าจ้างอัตรานี้ตลอดมา จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2541 โจทก์ได้จ่ายค่าจ้างให้แก่นายณรงค์เพียง 25,000 บาท ต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2541 นายณรงค์ไปยื่นคำร้องที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่จตุจักรว่าโจทก์ค้างจ่ายค่าจ้างเดือนพฤศจิกายน 2541 อยู่ 10,000 บาท ต่อมาวันที่ 22 มกราคม 2542 โจทก์โดยนายจรูญสุวรรณฉัตรชัย กรรมการผู้จัดการได้ไปพบพนักงานตรวจแรงงาน และยอมรับที่จะนำเงินค่าจ้างที่ค้างอยู่จำนวน 10,000 บาท และค่าจ้างสำหรับเดือนธันวาคม 2541 จำนวน 35,000บาท รวม 45,000 บาท มาชำระให้แก่นายณรงค์ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่จตุจักร ภายในวันที่ 29 มกราคม 2542 แต่เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2542 นายณรงค์ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลแรงงานกลางตามคดีหมายเลขดำที่ 398/2542 ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระจำนวน 10,000 บาท ซึ่งโจทก์ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องหลังวันที่ 22 มกราคม 2542 แต่ก่อนวันที่ 29 มกราคม 2542 โจทก์นำเงินไปวางต่อพนักงานตรวจแรงงานเพียง 10,000 บาท ซึ่งนายณรงค์ไม่ยอมรับและขอถอนคำร้องไป โจทก์ได้ถอนเงินจำนวนดังกล่าวกลับคืนไปเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2542 ในคดีหมายเลขดำที่ 398/2542 นายณรงค์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องรวม 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 28 มกราคม 2541 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2542 เป็นการแก้ไขอัตราค่าจ้างรวมทั้งค่าจ้างของเดือนพฤศจิกายน 2541 ด้วย ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และศาลเห็นว่าคำฟ้องและคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องทั้ง 2 ครั้ง ของนายณรงค์ยอดเงินไม่เคยเหมือนกันและเพิ่มขึ้นทุกครั้ง จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง นายณรงค์ได้ถอนฟ้องคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2542 ปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ 3257/2542 ต่อมาวันที่ 18 มีนาคม 2542 นายณรงค์ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลแรงงานกลางอีกครั้งตามคดีหมายเลขดำที่ 4391/2542 ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าจ้างบางส่วนของเดือนมกราคม 2541 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2541 และค่าจ้างของเดือนธันวาคม 2541 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2542 พร้อมดอกเบี้ยแก่นายณรงค์ ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลนายณรงค์ได้ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ขอให้โจทก์จ่ายค่าจ้างของเดือนพฤศจิกายน 2541 ถึงเดือนกันยายน 2542 พร้อมเงินเพิ่มตามกฎหมายแก่นายณรงค์คือคำร้องที่พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งในคดีนี้ เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งในคดีนี้แล้ว นายณรงค์จึงได้ถอนฟ้องคดีดังกล่าวที่ศาลแรงงานกลาง ปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ 16635/2542 อัตราค่าจ้างของนายณรงค์คือเดือนละ 35,000 บาท ถูกต้องตามที่พนักงานตรวจแรงงานวินิจฉัย และโจทก์ได้ค้างจ่ายแก่นายณรงค์ซึ่งเป็นค่าจ้างบางส่วนของเดือนพฤศจิกายน 2541 เป็นเงิน 10,000 บาท และค่าจ้างของเดือนธันวาคม 2541 จนถึงเดือนกันยายน 2542 อีก 10 เดือนรวมเป็นเงิน 360,000 บาท ตามที่พนักงานตรวจแรงงานวินิจฉัยจริง เหตุที่โจทก์ไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้เนื่องจากระหว่างนั้นมีการนำเรื่องไปร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานและนำคดีมาฟ้องศาล ซึ่งยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ว่าอัตราค่าจ้างของนายณรงค์เป็นจำนวนเท่าใด และนายณรงค์ได้เคยติดต่อขอรับค่าจ้างจากโจทก์เรื่อยมา แต่เนื่องจากข้อโต้แย้งยังไม่ยุติเกี่ยวกับจำนวนเงิน ค่าจ้าง โจทก์จึงยังไม่ได้จ่ายเงินเดือนให้ ในชั้นพนักงานตรวจแรงงาน พนักงานตรวจแรงงานมีความเห็นให้โจทก์ในฐานะนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 360,000 บาท ให้นายณรงค์ และนายณรงค์เคยทำหนังสือขอรับค่าจ้างจากโจทก์ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2542 ครั้งที่ 2 ลงวันที่ 5 เมษายน 2542 มีใจความว่า ขอให้โจทก์จ่ายค่าจ้างแก่นายณรงค์ตามที่ได้เคยเจรจากันที่ศาลแรงงานกลางในคดีหมายเลขดำที่ 4391/2542 แต่โจทก์ในฐานะนายจ้างไม่เคยจ่ายค่าจ้างดังกล่าวให้แก่นายณรงค์จนกระทั่งนายณรงค์ได้ไปร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานในวันที่ 27 กันยายน 2542 และโจทก์ได้ชำระค่าจ้างค้างจำนวน 360,000 บาท ให้แก่นายณรงค์แล้วเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2543 โดยให้นายณรงค์รับไปจากเงินที่โจทก์นำมาวางต่อศาลพร้อมฟ้องคดีนี้

พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า การที่นายณรงค์ยื่นฟ้องโจทก์ที่ศาลแรงงานกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 4391/2542 แล้ว ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณานายณรงค์ไปยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยที่ 2 จะมีอำนาจพิจารณาคำร้องของนายณรงค์หรือไม่นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้และลูกจ้างมีความประสงค์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน” แสดงว่า เมื่อเข้ากรณีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 123 นอกจากลูกจ้างจะมีสิทธิฟ้องร้องนายจ้างต่อศาลแรงงานกลางตามแนวทางปกติแล้วกฎหมายยังกำหนดแนวทางใหม่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 ถึงมาตรา 125 โดยให้ลูกจ้างมีสิทธิร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเสียก่อน เมื่อพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนและมีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว หากนายจ้างหรือลูกจ้างไม่พอใจคำสั่ง จึงจะนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อให้ศาลแรงงานพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งบทบัญญัติตามมาตรา 123 ดังกล่าวมีลักษณะกำหนดให้ลูกจ้างจะต้องเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งแต่เพียงทางเดียว กล่าวคือจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานหรือจะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานก็ได้ แต่จะใช้สิทธิพร้อมกันที่เดียวทั้งสองทางไม่ได้ หากลูกจ้างเลือกใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานตามแนวทางปกติก็เท่ากับสละสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานซึ่งเป็นแนวทางใหม่ไปแล้วอยู่ในตัว ดังนั้น การที่นายณรงค์ลูกจ้างยื่นฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 4391/2542 ขอให้บังคับโจทก์จ่ายค่าจ้างที่ค้างพร้อมดอกเบี้ย จึงถือว่านายณรงค์เลือกใช้สิทธิที่จะดำเนินการต่อโจทก์ด้วยการฟ้องต่อศาลแรงงานกลางจึงหมดสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 แล้ว เมื่อปรากฏว่าต่อมานายณรงค์ได้ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน อีกในขณะที่คดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงาน เพื่อขอให้โจทก์จ่ายเงินค่าจ้างที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลางไว้แล้วและค่าจ้างในเดือนถัดมาต่อเนื่องกัน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับค่าจ้างค้างจ่ายที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง พนักงานตรวจแรงงานจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคำร้องของนายณรงค์ แม้ต่อมานายณรงค์จะได้ถอนฟ้องคดีดังกล่าวไปจากศาลก็ไม่ทำให้พนักงานตรวจแรงงานซึ่งไม่มีอำนาจพิจารณาคำร้องของนายณรงค์อยู่เดิมกลับมีอำนาจพิจารณาคำร้องนั้นขึ้นมาอีก คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานคือจำเลยที่ 2 ที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่ 35/2542 ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2542

Share