แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จอดรถในที่มีเครื่องหมายห้ามจอดรถ โดยไม่แสดงเครื่องหมายว่ารถเสียเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจเคลื่อนย้ายรถของโจทก์ไปมอบให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน แต่โจทก์เพิ่งนำหลักฐานการเป็นเจ้าของรถมาแสดงต่อจำเลยที่ 2 เมื่อเวลาล่วงเลยไปเกือบ 3 เดือน จำเลยที่ 2 ก็คืนรถให้โจทก์ไปดังนี้ จำเลยที่ 2 มิได้มีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 และในฐานะส่วนตัวจงใจหรือประมาทเลินเล่อได้ยึดรถยนต์ของโจทก์ไว้โดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายหรือโดยผิดพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 เป็นเวลา 70 วัน ทำให้โจทก์ไม่ได้ใช้รถต้องเช่ารถยนต์วันละ 500 บาท ตลอดเวลาที่ถูกยึดเป็นเงิน 35,000 บาท และค่าเสียหายอื่นๆ รวมเป็นเงิน 6,700 บาท ทำให้ขาดรายได้ไปเดือนละ 10,000 บาท รวม 3 เดือนเป็นเงิน 30,000 บาท กับค่าที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถอีกเดือนละ 6,000 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในค่าเสียหายเป็นเงิน 89,700 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบและกฎหมายในฐานะข้าราชการตำรวจ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 2 จงใจหรือประมาทเลินเล่อหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอย่างไรและฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุม โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้องรถยนต์ของโจทก์เป็นรถเก่าราคาไม่เกิน 20,000 บาท โจทก์ไม่ได้เสียค่าซ่อมรถหรือเช่ารถยนต์ของผู้อื่นมาใช้ โจทก์ไม่ได้ขาดรายได้และโจทก์ไม่ได้เสียหายจากการที่ไม่ได้ใช้รถ
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 27,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…ศาลฎีกาได้ตรวจดูแผนที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งโจทก์ในฐานะผู้ต้องหาได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องไว้ด้วย ปรากฏว่ามีรถยนต์ของโจทก์คันเดียวจอดอยู่ริมซอยด้านที่มีป้ายจราจรห้ามจอดรถเฉพาะวันคี่ปักไว้ ส่วนฟากตรงข้ามด้านที่มีป้ายจราจรห้ามจอดรถเฉพาะวันคู่ปักไว้มีรถของผู้อื่นหลายคันจอดอยู่ ทั้งโจทก์ยังให้การในชั้นสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาข้อหาจอดรถในเขตที่มีเครื่องหมายห้ามจอดรถในลักษณะกีดขวางการจราจรและจอดรถที่เครื่องยนต์ขัดข้องไว้ในทางเดินรถในลักษณะกีดขวางการจราจรโดยไม่แสดงเครื่องหมาย …ไว้ว่ารถเสียและไม่ได้เปิดฝากระโปรงหน้าและหลังของรถไว้จริง ปรากฏตามคำให้การชั้นสอบสวนของโจทก์เอกสารหมาย จ.2จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเชื่อว่าโจทก์กระทำผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ เจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจเคลื่อนย้ายรถของโจทก์ไปมอบให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นร้อยเวรจราจรประจำสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์อันเป็นสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุเก็บรถไว้ได้เพื่อสืบหาเจ้าของรถและเรียกค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายและค่าเก็บรถต่อไปตามระเบียบกรมตำรวจเอกสารหมาย ล.1 จำเลยที่ 2 ในฐานะพนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจเปรียบเทียบปรับโจทก์ในข้อหากระทำผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ ได้ การที่โจทก์ไม่ยอมเสียค่าปรับโดยอ้างว่าไม่ได้กระทำผิดและขอให้ดำเนินคดีต่อไป แต่อ้างว่าเป็นเจ้าของรถและขอรถคืนโดยมีบัตรประจำตัวประชาชนและใบอนุญาตให้ขับขี่รถมาแสดงไม่มีหลักฐานการเป็นเจ้าของรถมาแสดง ซึ่งโจทก์ก็เบิกความยอมรับในข้อนี้ จำเลยที่ 2 ซึ่งไม่รู้จักโจทก์มาก่อนย่อมมีสิทธิไม่คืนรถให้แก่โจทก์ได้ในระหว่างทำการสอบสวนดำเนินคดีเพราะหากคืนรถให้โจทก์ไปโดยที่โจทก์ไม่มีหลักฐานการเป็นเจ้าของรถมาแสดง จำเลยที่ 2ย่อมเสี่ยงต่อความรับผิดกรณีที่โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถและมีเจ้าของรถที่แท้จริงนำหลักฐานการเป็นเจ้าของรถมาแสดงเพื่อขอรับรถคืนในภายหลัง เป็นความผิดของโจทก์เองที่ไม่นำหลักฐานการเป็นเจ้าของรถมาแสดงเพื่อขอรับรถคืนไปเสียตั้งแต่แรกโจทก์เพิ่งนำหลักฐานการเป็นเจ้าของรถมาแสดงต่อจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2525 เป็นเวลาภายหลังจากเกิดเหตุแล้วเกือบ 3 เดือน ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็คืนรถให้โจทก์ไปจึงเห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามระเบียบข้อบังคับโดยสุจริตมิได้มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ การที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องโจทก์ในข้อหาที่จำเลยที่2 สอบสวนโจทก์นั้นไม่มีผลทำให้การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นละเมิดต่อโจทก์ไปได้ เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง คดีนี้แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาขึ้นมาศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ได้ เพราะเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น’
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์.