คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5872/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองหรือเจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุชนกับรถจักรยานยนต์ของโจทก์ ในวันเกิดเหตุลูกจ้างของจำเลยขับรถยนต์ของจำเลยไปในทางการที่จ้างโดยประมาทเป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กายและได้รับอันตรายสาหัสและต้องเสียหายเพียงใด แม้โจทก์ทั้งสองจะมิได้ระบุชื่อลูกจ้างของจำเลยก็ตามก็เป็นเพียงรายละเอียด สาระสำคัญของคำฟ้องในส่วนนี้คงมุ่งเน้นแต่เพียงว่าคนขับรถยนต์คันเกิดเหตุเป็นลูกจ้างขับรถยนต์ไปในทางการที่จ้างของจำเลยหรือไม่เท่านั้น คำฟ้องดังกล่าวจึงไม่เคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2532 เวลากลางวันโจทก์ที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์โดยมีโจทก์ที่ 2 นั่งซ้อนท้ายตามหลังรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4ย-7334 กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองและมีลูกจ้างของจำเลยเป็นผู้ขับในทางการที่จ้าง ลูกจ้างของจำเลยได้ขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่อเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ที่ 1 พลิกคว่ำ โจทก์ที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กาย นอกจากนั้นโจทก์ที่ 1 ยังต้องเสียค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเสียหาย รวมค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1เป็นเงิน 17,330 บาท ส่วนโจทก์ที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัสรวมค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 215,471 บาท ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ฟ้องเคลือบคลุม จำเลยไม่ต้องรับผิดเพราะขณะเกิดเหตุจำเลยมิใช่ผู้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวและผู้ขับก็มิใช่ลูกจ้างของจำเลย อีกทั้งผู้ขับรถยนต์คันดังกล่าวมิได้ประมาท โจทก์ที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทจึงเกิดเฉี่ยวชนกันค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองสูงเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1เป็นเงิน 12,717 บาท แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 182,196 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะข้อกฎหมาย ส่วนฎีกาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาจึงไม่รับ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองเคลือบคลุมเพราะโจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายฟ้องว่าคนขับรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าเป็นลูกจ้างของจำเลยเป็นใครชื่ออะไร โจทก์ทั้งสองเสียหายอย่างไร และโจทก์ทั้งสองไม่ได้บรรยายฟ้องถึงอาชีพของโจทก์ทั้งสอง ทั้งไม่ได้บรรยายว่าเพราะเหตุใดโจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายฟ้องให้จำเลยเข้าใจว่าโจทก์ทั้งสองมีอาการทนทุกขเวทนาอันเกิดจากการถูกกระทำละเมิดอย่างไรนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองมีอาชีพค้าขาย ส่วนจำเลยเป็นผู้ครอบครองหรือเจ้าของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 4ย-7334กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นรถยนต์คันเกิดเหตุ ในวันเกิดเหตุลูกจ้างของจำเลยขับรถยนต์ของจำเลยไปในทางการที่จ้างของจำเลยโดยประมาทเป็นเหตุให้ปลายเหล็กแบบที่บรรทุกอยู่บนรถยนต์ของจำเลยและโผล่ล้ำออกมาทางท้ายรถยนต์เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ที่ 1ที่โจทก์ที่ 1 ขับตามหลังมา โดยมีโจทก์ที่ 2 นั่งซ้อนท้ายมาด้วยเป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ของโจทก์ที่ 1 พลิกคว่ำทำให้รถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย ทั้งทำให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กายและได้รับอันตรายสาหัสตามลำดับ และโจทก์ทั้งสองได้บรรยายฟ้องด้วยว่า โจทก์ทั้งสองได้รับอันตรายแก่กายตรงไหน อย่างไรมีความทุกขเวทนาในระหว่างรักษาตัวจนไม่สามารถประกอบกิจการงานในอาชีพได้ตามปกติแค่ไหน เพียงไร ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเท่าไร คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายว่าคนขับรถยนต์ของจำเลยคันเกิดเหตุเป็นใครชื่ออะไรนั้นศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ทั้งสองได้บรรยายฟ้องแล้วว่าคนขับรถยนต์คันเกิดเหตุเป็นลูกจ้างขับรถยนต์ไปในทางการที่จ้างของจำเลยแม้โจทก์ทั้งสองจะไม่ได้ระบุชื่อคนขับรถยนต์คันนั้นมาในฟ้องด้วยก็เป็นเพียงรายละเอียดเพราะโจทก์ทั้งสองอาจจะไม่ทราบว่าลูกจ้างของจำเลยคนนั้นชื่ออะไรก็เป็นได้สาระสำคัญของคำฟ้องในส่วนนี้คงมุ่งเน้นแต่เพียงว่าคนขับรถยนต์คันเกิดเหตุเป็นลูกจ้างขับรถยนต์ไปในทางการที่จ้างของจำเลยหรือไม่เท่านั้นก็เพียงพอ การที่โจทก์ทั้งสองไม่ได้ระบุชื่อคนขับรถยนต์คันเกิดเหตุมาในฟ้อง จึงไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์ทั้งสองเสียไปแต่อย่างใด ส่วนสาระที่เกี่ยวกับโจทก์ทั้งสองมีอาชีพอะไรโจทก์ทั้งสองเสียหายอย่างไร และโจทก์ทั้งสองมีสิทธิอะไรที่ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายเอาแก่จำเลย รวมทั้งการทนทุกขเวทนาอันเกิดจากการถูกกระทำละเมิดในระหว่างที่โจทก์ทั้งสองต้องพักรักษาตัวอยู่นั้น ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้บรรยายฟ้องไว้โดยชัดแจ้งและครบถ้วนแล้ว คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นคำฟ้องที่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติบังคับไว้แล้ว จึงเป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์ หาได้เคลือบคลุมดังที่จำเลยฎีกาไม่ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share