แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าโจทก์ทำสัญญาค้ำประกันการที่จำเลยกู้เงินจากธนาคารโดยทำหนังสือมอบสิทธิการรับเงินฝากประจำของโจทก์ให้แก่ธนาคารผู้ให้กู้ต่อมาโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันได้ชำระเงินแทนจำเลยตามจำนวนที่ค้างอยู่ให้แก่ธนาคารโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยซึ่งจำเลยก็ให้การยอมรับว่าจำเลยได้กู้เงินจากธนาคารตามฟ้องและโจทก์ได้ทำหนังสือมอบสิทธิการรับเงินฝากประจำของโจทก์ให้แก่ธนาคารที่จำเลยกู้เงินทั้งยอมรับว่าโจทก์ได้ชำระเงินแทนจำเลยไปจริงอันเป็นการต่อสู้คดีได้ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริงในคำฟ้องฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม แม้การที่โจทก์ทำหนังสือมอบสิทธิการรับเงินฝากให้ไว้แก่ธนาคารผู้ให้กู้จะมิใช่การค้ำประกันตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา680แต่ก็เป็นเรื่องความตกลงกันในทางฝากเงินเพื่อเป็นประกันหนี้อันเป็นสัญญารูปแบบหนึ่ง เมื่อโจทก์ชำระหนี้แก่ธนาคารแทนจำเลยตามที่จำเลยขอร้องโดยจำเลยรับจะชำระเงินคืนโจทก์และธนาคารผู้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยก็ยอมรับชำระหนี้แล้วจำเลยจึงต้องใช้เงินคืนโจทก์ตามข้อสัญญาที่โจทก์และจำเลยได้ตกลงกันไว้ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์อยู่ในฐานะผู้ค้ำประกันอันจะรับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยจำเลยได้นั้นเป็นเพียงการสำคัญผิดในฐานะของโจทก์ซึ่งมิใช่ข้อสาระสำคัญเพราะโจทก์ได้บรรยายไว้ในคำฟ้องอย่างชัดเจนว่าโจทก์ได้ชำระเงินกู้ที่จำเลยค้างชำระแทนจำเลยและขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระหนี้ที่โจทก์ชำระแทนไปดังกล่าวแก่โจทก์ เมื่อคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งถึงข้อเท็จจริงที่ปรากฎอย่างใดแล้วย่อมเป็นหน้าที่ของศาลที่จะปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องว่าโจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินคืนในฐานะใดตามกฎหมายไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142แต่ประการใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินจากธนาคาร โดยมีโจทก์เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาโจทก์ได้ชำระหนี้แทนจำเลยแก่ธนาคารรวมเป็นเงิน 222,562.54 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน222,562.54 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้ค้ำประกันจึงไม่มีอำนาจฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกัน และการที่โจทก์ชำระเงินแทนจำเลยนั้นจำเลยตกลงจะผ่อนชำระเงินคืนแก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท ซึ่งจำเลยได้ชำระเงินให้โจทก์ตามข้อตกลงจนกระทั่งโจทก์ขาดการติดต่อกับจำเลย โจทก์จึงต้องบังคับจำเลยตามข้อตกลงดังกล่าว ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 217,562.54 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่28 พฤษภาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่12 กุมภาพันธ์ 2531 จำเลยทำสัญญากู้เงินธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัดสาขาบางลำพู และสาขาบางกะปิ ผู้ให้กู้เป็นเงินจำนวน484,424 บาท และ 260,000 บาท และจำเลยขอให้โจทก์ทำหนังสือมอบสิทธิการรับเงินฝากที่โจทก์ฝากไว้แก่ธนาคารผู้ให้กู้ทั้งสองสาขาเป็นหลักประกันการชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยโจทก์ยินยอมและทำหนังสือมอบสิทธิการรับเงินฝากให้แก่ธนาคารผู้ให้กู้ทั้งสองสาขา โดยยินยอมให้ธนาคารผู้ให้กู้หักเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ดังกล่าวมาชำระหนี้เงินกู้ในกรณีจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้เงินกู้ได้ จำเลยผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคารผู้ให้กู้ทั้งสองสาขาตลอดมาจนเหลือหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระแก่ธนาคารผู้ให้กู้ทั้งสองสาขาเป็นเงินรวม 222,562.54 บาท จำเลยขอให้โจทก์ชำระหนี้ส่วนที่ค้างทั้งหมดแทนจำเลย และโจทก์ได้ชำระหนี้จำนวนดังกล่าวแทนจำเลยไปแล้วเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2535 ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2535จำเลยชำระหนี้คืนให้โจทก์ 5,000 บาท แล้วไม่ชำระให้โจทก์อีกเลย
พิเคราะห์แล้ว จำเลยฎีกาในประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์บรรยายฟ้องไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพราะสิทธิของโจทก์เป็นเพียงผู้จำนำสิทธิซึ่งมีตราสารแก่ธนาคารโจทก์ไม่อยู่ในฐานะผู้ค้ำประกันอันจะรับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยจำเลยได้ ฟ้องโจทก์ทำให้จำเลยเข้าใจผิดไม่อาจต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้อง เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาบางลำพู และสาขาบางกะปิเป็นเงินจำนวน 484,425 บาท และ 260,000 บาท โจทก์เข้าทำสัญญาค้ำประกันจำเลยโดยทำหนังสือมอบสิทธิการรับเงินฝากประจำของโจทก์ให้แก่ธนาคารผู้ให้กู้ต่อมาโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันได้ชำระเงินแทนจำเลยตามจำนวนที่ค้างอยู่ให้แก่ธนาคารทั้งสองสาขา โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยซึ่งตามคำให้การจำเลยก็ยอมรับว่าจำเลยได้กู้เงินจากธนาคารตามฟ้องและโจทก์ได้ทำหนังสือมอบสิทธิการรับเงินฝากประจำของโจทก์ให้แก่ธนาคารที่จำเลยกู้เงิน ทั้งยอมรับว่าโจทก์ได้ชำระเงินแทนจำเลยไปจริงอันเป็นการต่อสู้คดีได้ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริงในคำฟ้องฟ้องโจทก์จึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาโดยครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้วฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยฎีกาในประการต่อมาว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดใช้เงินที่โจทก์ชำระแทนจำเลยไปจำนวน 222,562.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์เพราะโจทก์ไม่อยู่ในฐานะผู้ค้ำประกันอันจะรับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยจำเลยได้เห็นว่า แม้การที่โจทก์ทำหนังสือมอบสิทธิการรับเงินฝากให้ไว้แก่ธนาคารผู้ให้กู้จะมิใช่การค้ำประกันตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 ก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องความตกลงกันในทางฝากเงินเพื่อเป็นประกันหนี้อันเป็นสัญญาอีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อจำเลยให้การและนำสืบยอมรับว่าการที่โจทก์ชำระหนี้จำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้ให้กู้แทนจำเลยเป็นเพราะจำเลยขอร้องให้โจทก์ชำระแทนและจำเลยรับว่าจะชำระเงินคืนให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ชำระหนี้แทนจำเลยไปตามที่จำเลยขอร้องและธนาคารผู้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยก็ยอมรับชำระหนี้แล้วจำเลยจึงต้องใช้เงินต้นแก่โจทก์ตามข้อสัญญาที่โจทก์และจำเลยได้ตกลงกันไว้ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์อยู่ในฐานะผู้ค้ำประกันอันจะรับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยจำเลยได้นั้น เห็นว่า เป็นกรณีการสำคัญผิดในฐานะของโจทก์ซึ่งมิใช่ข้อสาระสำคัญ เพราะโจทก์ได้บรรยายไว้ในคำฟ้องอย่างชัดเจนว่า โจทก์ได้ชำระเงินกู้ที่จำเลยค้างชำระแทนจำเลย และขอศาลบังคับให้จำเลยชำระหนี้ที่โจทก์ชำระแทนไปดังกล่าว มิใช่ให้จำเลยชำระหนี้คืนโจทก์เพราะเหตุธนาคารผู้ให้กู้ใช้สิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์มาชำระหนี้เงินกู้ของจำเลย แล้วโจทก์รับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยแต่อย่างใด ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาในประการต่อมาว่า การที่จำเลยขอร้องให้โจทก์ชำระหนี้แทนเท่ากับจำเลยขอกู้ยืมเงินจากโจทก์เพื่อมาชำระหนี้ให้แก่ธนาคารจึงต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น เห็นว่า ฎีกาจำเลยข้อนี้เป็นข้อที่จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยฎีกาในประการสุดท้ายว่า ศาลไม่มีอำนาจหน้าที่ปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องว่าโจทก์เรียกให้จำเลยใช้เงินคืนในฐานะใดเพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ขัดกับมาตรา 142 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น เห็นว่า เมื่อคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์แสดงให้เห็นได้โดยชัดแจ้งถึงข้อเท็จจริงที่ปรากฎอย่างใดแล้ว ย่อมเป็นหน้าที่ของศาลที่จะปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องว่าโจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินคืนในฐานะใดตามกฎหมายหาเป็นการพิพากษาเกินคำขอดังฎีกาจำเลยไม่
พิพากษายืน