คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5868/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์โอนที่ดินให้ ส. มีการจดทะเบียนเป็นการซื้อขาย ต้องด้วยคำนิยามว่า ขาย ตามมาตรา 91/1 (4) และเป็นการโอนภายใน 5 ปี เข้าลักษณะเป็นทางค้าหรือหากำไร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) และ พ.ร.ฎ. ฉบับที่ 244 แม้การขายที่ดินของโจทก์สืบเนื่องมาจากสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม ก็ไม่เป็นเหตุที่จะไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ยกเลิกการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ. 73.1 ) เลขที่ 02010270 – 25461007 – 006 – 00112 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2546 และเพิกถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 11901 ตำบลจรเข้บัว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ. 73.1) เลขที่ 02010270 – 25461007 – 006 – 00112 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2546 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สภ.2/อธ.1/7/40/2547 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 และเพิกถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 11901 เลขที่ดิน 1163 หน้าสำรวจ 8541 ตำบลจรเข้บัว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การทำนิติกรรมขายอสังหาริมทรัพย์พิพาทของโจทก์ดังกล่าวอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่ เพียงใด ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/1 (4) บัญญัติว่า “ขาย หมายความรวมถึงสัญญาจะขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้ ให้เช่าซื้อ หรือจำหน่าย จ่าย โอนไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่” การที่โจทก์โอนที่ดินให้แก่นางสาวแสงทองตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัดธัญบุรีดังกล่าว มีการจดทะเบียนนิติกรรมเป็นการซื้อขาย ต้องด้วยคำนิยามคำว่า “ขาย” ดังกล่าว โจทก์เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำพยานที่บันทึกไว้ล่วงหน้าว่า โจทก์ซื้อฝากที่ดินดังกล่าวในราคา 3,500,000 บาท มีกำหนด 1 ปี โดยได้ตรวจสอบแล้วว่าที่ดินมีอยู่จริง ราคาประมาณ 9,000,000 บาท ดังนั้น หากผู้ขายฝากไม่มาไถ่ทรัพย์นั้นคืนภายในกำหนด โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวซึ่งมีราคาสูง และในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินคืน โจทก์ยังคงได้ผลประโยชน์อันเป็นสินไถ่ ประกอบกับการที่โจทก์ต้องโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่นางสาวแสงทองเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น โดยไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จึงเข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 การทำนิติกรรมการขายที่ดินของโจทก์ดังกล่าวอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แม้การขายที่ดินดังกล่าวของโจทก์ให้แก่นางสาวแสงทองสืบเนื่องจากนางสาวแสงทองฟ้องโจทก์เป็นจำเลยที่ 2 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 793/2536 มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอม โจทก์ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าว และโจทก์รับซื้อฝากที่ดินจากนายสราวุฒิในราคา 3,500,000 บาท แต่ได้รับเงินจากนางสาวแสงทองเพียง 3,000,000 บาท โจทก์ได้เงินน้อยกว่าการรับซื้อฝากที่ดินไว้ ก็ไม่เป็นเหตุที่โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแต่อย่างใด เพราะฐานภาษีธุรกิจเฉพาะเรียกเก็บจากรายรับ มิได้เรียกเก็บจากกำไร ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย…
พิพากษากลับ ให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ. 73.1) เลขที่ 02010270 – 25461007 – 006 – 00112 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2546 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ สภ.2/อธ.1/7/40/2547 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 โดยคำนวณภาษีที่ต้องชำระและเงินเพิ่มจากรายรับ 3,000,000 บาท คำขออื่นของโจทก์ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.

Share