คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5865/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เจ้าของรถที่จะต้องชำระเงินค่าเสียหายเบื้องต้นคืนให้แก่สำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยพร้อมเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯมาตรา 26 นั้น หมายถึงเจ้าของรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายซึ่งมิได้จัดให้มีการประกันความเสียหายตามมาตรา 23(1) ไว้เท่านั้น แต่เมื่อจำเลยเป็นผู้ประสบภัยจากรถยนต์ของผู้อื่นที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย จำเลยจึงมิใช่เจ้าของรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายตามมาตรา 23(1)
เจตนารมณ์ของการประกาศใช้ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯก็เพื่อให้ผู้ประสบภัยจากรถได้รับการเยียวยารักษาทันท่วงทีจากบริษัทประกันภัยหรือสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ แล้วให้บริษัทหรือสำนักงานดังกล่าวมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากเจ้าของรถ ผู้ขับขี่รถที่ก่อให้เกิดความเสียหายเพราะความจงใจหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ มาตรา 31 โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยชำระค่าเสียหายเบื้องต้นคืนให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวน 14,940 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากวันที่ 2 เมษายน 2542 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,120 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราเดียวกันจากต้นเงิน 14,940 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ที่ต้องวินิจฉัยว่าการที่จำเลยมิได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถจักรยานยนต์ของจำเลยและเมื่อจำเลยเป็นผู้ประสบภัยจากรถ แล้วสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่จำเลยไปแล้ว จำเลยในฐานะเจ้าของรถมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้แก่สำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยพร้อมด้วยเงินเพิ่มอีกร้อยละยี่สิบของจำนวนค่าเสียหายเบื้องต้นตามมาตรา 7, 23(1), 25, 26 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย ดังนั้น การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยขับรถจักรยานยนต์ของจำเลยซึ่งมิได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 7ไปตามถนนพหลโยธิน มีรถยนต์ผู้อื่นเลี้ยวกลับตัดหน้ารถของจำเลย จำเลยไม่สามารถชะลอหรือหยุดรถได้ทันจึงเฉี่ยวชนกับรถของผู้อื่นดังกล่าวเป็นเหตุให้จำเลยได้รับบาดเจ็บเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช จำเลยมอบอำนาจให้โรงพยาบาลดังกล่าวขอรับค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยเขต 2 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่สำนักงานคุ้มครองผู้เอาประกันภัยเขต 2 อนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นเงิน 14,940 บาท เป็นค่ารักษาพยาบาลให้แก่จำเลยไป โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยใช้เงินตามจำนวนค่าเสียหายเบื้องต้นที่โจทก์จ่ายไปคืนให้แก่โจทก์ พร้อมเงินเพิ่มร้อยละยี่สิบเห็นว่า เจ้าของรถที่จะต้องชำระเงินค่าเสียหายเบื้องต้นคืนให้แก่สำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย พร้อมเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัติผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 26นั้น หมายถึงเจ้าของรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายซึ่งมิได้จัดให้มีการประกันความเสียหายตามมาตรา 23(1) ไว้เท่านั้น แต่จำเลยเป็นผู้ประสบภัยจากรถยนต์ของผู้อื่นที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย จำเลยจึงมิใช่เจ้าของรถที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 23(1) แต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยมิได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยตามมาตรา 7 ถือว่าจำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายดังกล่าวอันมีโทษทางอาญา เมื่อก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น จึงต้องรับผิดตามมาตรา 23(1) ด้วยนั้น ก็เป็นส่วนความรับผิดในทางอาญาของจำเลยครอบคลุมให้จำเลยต้องรับผิดตามมาตรา 23(1) ประกอบมาตรา 26 ด้วยไม่ ดังจะเห็นได้จากเจตนารมณ์ของการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ว่า “…เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับชดใช้ค่าเสียหายและได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นที่แน่นอนและทันท่วงที สมควรกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ…” ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประสบภัยจากรถได้รับการเยียวยารักษาทันท่วงทีจากบริษัทประกันภัยหรือสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ แล้วให้บริษัทหรือสำนักงานดังกล่าวมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากเจ้าของรถ ผู้ขับขี่รถที่ก่อให้เกิดความเสียหายเพราะความจงใจหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพ.ศ. 2535 มาตรา 31 ด้วยเหตุผลดังวินิจฉัยมา โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยชำระค่าเสียหายเบื้องต้นคืนให้แก่โจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share