แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 บัญญัติไว้เพียงว่า เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเพราะผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินที่ผู้ให้เช่าซื้อรับไว้และกลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อเท่านั้น การที่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อกำหนดให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อต้องชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดในขณะที่โจทก์มีสิทธิกลับเข้าครอบครองรถยนต์ ย่อมเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องซ้ำซ้อนกัน ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนสัญญาเลิกกันได้ คงเรียกได้แต่ค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองทรัพย์อยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม และค่าเสียหายอื่นที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดนอกเหนือจากค่าเสียหายอันเกิดจากการใช้ทรัพย์โดยชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ หมายเลขทะเบียน 7 ป – 2554กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ในราคา 140,208 บาท มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 5 โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ยังครอบครองใช้รถยนต์โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากส่งคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคา 110,000 บาท และชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ 46,736 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ 56,000 บาทและค่าเสียหายอีกวันละ 200 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคา
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากส่งคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคา 80,000บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 14,000บาท และชำระค่าเสียหายอีกวันละ 50 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 28 มกราคม 2542)จนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคา แต่ไม่เกิน 100 วัน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงินรวม 26,000 บาท และชำระค่าเสียหายอีกวันละ 50 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคา แต่ไม่เกิน 360 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิ แอโร่ บอดี้ หมายเลขทะเบียน 7 ป – 2554กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ในราคา 140,208 บาท ตกลงผ่อนชำระ 24 งวด งวดละ5,842 บาท ภายในวันที่ 5 ของทุก ๆ เดือน ติดต่อกันไป เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 5พฤษภาคม 2540 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 จำเลยที่ 1ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 5 ประจำวันที่ 5 กันยายน 2540 เป็นต้นมา วันที่ 24เมษายน 2541 โจทก์บอกเลิกสัญญาและให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์แล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันบอกเลิกสัญญาตามฟ้องได้หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระจากจำเลยที่ 1 เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 มิได้ห้ามหรือจำกัดสิทธิเรียกร้องของผู้เช่าซื้อในการเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ และตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 1 วรรคสอง ได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาจนครบถ้วนแก่เจ้าของจนถึงวันบอกเลิกสัญญา ซึ่งไม่ใช่ข้อสัญญาที่กำหนดให้ชดใช้ค่าเสียหายล่วงหน้า แต่เป็นข้อสัญญาตามกฎหมายที่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ที่เกิดขึ้นตามผลของสัญญาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 บัญญัติไว้แต่เพียงว่า เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาเพราะผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินที่ผู้ให้เช่าซื้อรับไว้ และกลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อเท่านั้น การที่โจทก์กำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดในขณะที่โจทก์มีสิทธิกลับเข้าครอบครองรถยนต์ ย่อมเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องซ้ำซ้อนกัน ไม่สอดคล้องตามบทบัญญัติของกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนสัญญาเลิกกันอีกได้ โจทก์คงเรียกได้เพียงค่าที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อตลอดเวลาที่ครอบครองทรัพย์อยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม และค่าเสียหายเพราะเหตุอื่นที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดนอกเหนือจากค่าเสียหายอันเกิดแต่การใช้ทรัพย์โดยชอบ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 1 วรรคสอง ที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ระบุว่าเมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่ก่อนสัญญาเลิกกันนั้นเห็นว่า ข้อกำหนดในสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้า แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะเรียกร้องมาเป็นค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไม่ได้เรียกร้องเป็นค่าเสียหายฐานผิดสัญญาต่อโจทก์ก็ตาม แต่ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์กล่าวว่าโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งพอถือได้ว่าโจทก์ได้เรียกค่าเสียหายฐานจำเลยใช้รถยนต์อันเป็นทรัพย์ของโจทก์มาตลอดเวลา ที่จำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองอยู่ ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายพอสมควรแก่ความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน