คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5857/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์ที่จำเลยรุกล้ำนั้นคิดเป็นเนื้อที่ 1 ไร่เศษแต่โจทก์ขอคิดเพียง 1 ไร่ เพื่อจะนำมาคำนวณเป็นทุนทรัพย์ แต่เมื่อทำแผนที่พิพาทแล้วปรากฏว่าที่ดินของโจทก์ที่ถูกจำเลยรุกล้ำมีเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 73 ตารางวา ก็ตาม จำนวนเนื้อที่ดินพิพาทตามฟ้องก็เป็นเพียงแต่การกะประมาณไว้เท่านั้น เมื่อเจ้าพนักงานไปรังวัดทำแผนที่พิพาท ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยนำชี้ว่าที่พิพาทอยู่ในเส้นสีม่วงและรับรองว่าแผนที่พิพาทถูกต้อง จึงต้องถือว่าที่ดินที่พิพาทกันคือที่ดินที่อยู่ภายในเส้นสีม่วง การที่ศาลล่างพิพากษาว่าจำเลยนำรังวัดรุกล้ำที่ดินของโจทก์เนื้อที่1 ไร่ 3 งาน 73 ตารางวาจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม ได้ไปยื่นคำขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมแล้วจำเลยกับพวกนำรังวัดที่ดินโฉนดเลขที่ 65 ด้านที่ติดกับที่ดินโจทก์เป็นแนวตรงซึ่งไม่ถูกต้อง ทำให้รูปแผนที่ในโฉนดของจำเลยด้านทิศตะวันออกรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ส่วนที่กว้างที่สุดประมาณ 7 เมตร เนื้อที่ 1 ไร่เศษ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยนำโฉนดที่ดินเลขที่ 76813 ตำบลศีรษะจรเข้น้อย อำเภอบางพลีจังหวัดสมุทรปราการ ให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี เพิกถอนการออกโฉนดที่ดินบางส่วน และแก้ไขรูปแผนที่โฉนดทางด้านทิศตะวันออกให้เป็นไปตามแนวคันดินซึ่งเป็นแนวเขตที่ดินระหว่างที่ดินของโจทก์กับที่ดินของจำเลย โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด หากไม่ไปให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การว่า แนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 64 ทางทิศตะวันตกเป็นเส้นตรง เหตุที่รูปแผนที่ในโฉนดเลขที่ 64 เป็นเส้นโค้งเพราะสมัยก่อนใช้มือวาดแผนที่ในโฉนดไม่ได้ใช้อุปกรณ์ทันสมัยเช่นปัจจุบัน เจ้าพนักงานที่ดินได้มีหมายเรียกให้โจทก์ไประวังและรับรองแนวเขตโดยชอบแล้ว แต่โจทก์ไม่ไประวังแนวเขตเอง เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินโดยถูกต้องไม่ได้รุกล้ำที่ดินโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยนำโฉนดที่ดินเลขที่ 76813 ตำบลศีรษะจรเข้น้อยอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ไปให้เจ้าพนักงานที่ดิน สำนักงานที่ดิน จังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี เพิกถอนส่วนที่จำเลยนำรังวัดรุกล้ำที่ดินโจทก์เนื้อที่ 1 ไร่3 งาน 73 ตารางวา ตามแนวเส้นสีม่วงจากหลักเขตที่ 5158 หลักไม้ที่ 2 ถึงที่ 9 ถึงหลักเขตที่ 1694 ที่ปรากฏในแผนที่พิพาท เอกสารหมาย จ.1 โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายหากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 64 ตำบลศีรษะจรเข้น้อย อำเภอบางพลีใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการตามเอกสารหมาย จ.5 เดิมจำเลยกับพวกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 65ตำบลศีรษะจรเข้น้อย อำเภอบางพลีใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ดังกล่าวทางด้านทิศตะวันตกตามเอกสารหมาย จ.6 ต่อมาเมื่อปี 2537 จำเลยกับพวกได้ขอรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม ในการรังวัดแบ่งแยกจำเลยได้นำเจ้าพนักงานไปชี้แนวเขตที่ดินด้านที่ติดต่อกับที่ดินของโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้ไประวังแนวเขต เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินตามที่จำเลยนำชี้และแบ่งแยกที่ดินให้จำเลยแปลงที่ติดกับที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตกตามเอกสารหมาย จ.7 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าที่ศาลล่างทั้งสองไม่ยกปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374, 1375 และโจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามมาตรา 1382 เป็นการไม่ชอบหรือไม่ เห็นว่าตามคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยไม่มีประเด็นข้อพิพาทในปัญหาดังกล่าว ทั้งมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนดังที่จำเลยฎีกา การที่ศาลล่างทั้งสองไม่ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงชอบแล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปว่าจำเลยนำรังวัดที่ดินรุกล้ำที่ดินของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า นางพเยาว์เข้าทำนาในที่ดินพิพาทเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี ตั้งแต่นายสุกรีเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จนกระทั่งโอนมาเป็นของโจทก์ นางพเยาว์ย่อมทราบแนวเขตที่ดินของโจทก์ดี ซึ่งนางพเยาว์เบิกความยืนยันว่ามีคันนาเป็นแนวเขตที่ดินระหว่างที่ดินของโจทก์กับที่ดินของจำเลย คันนามีลักษณะเป็นเส้นโค้ง ไม่เป็นเส้นตรง นายพัดน้องชายจำเลยก็เบิกความยอมรับว่า ที่ดินของโจทก์กับที่ดินของจำเลยใช้คันนาเป็นแนวเขต ที่ดินทางด้านทิศตะวันตกซึ่งติดกับที่ดินของจำเลยก็มีลักษณะเป็นเส้นโค้งเล็กน้อย ที่นางพเยาว์เบิกความว่าแนวเขตซึ่งเป็นคันนามีลักษณะเป็นเส้นโค้งจึงสอดคล้องกับที่จำลองแผนที่หลังโฉนดของโจทก์ในด้านทิศตะวันตกมีลักษณะเป็นเส้นโค้งเล็กน้อย ซึ่งนายพรเทพ สวัสดิสรรพ์ เจ้าพนักงานที่ดินผู้ทำแผนที่พิพาทเบิกความว่า แผนที่อย่างเก่าลากตามแนวเส้นที่ครอบครอง ฉะนั้นรูปร่างในแผนที่กับที่ดินจริงอาจไม่ตรงกัน เส้นโค้งที่ปรากฏก็เป็นการลากเส้นตามแนวเขตที่เจ้าของที่ดินครอบครองตามความเป็นจริง แสดงว่าแนวเขตที่ดินที่ติดต่อกันทางด้านทิศตะวันตกระหว่างที่ดินของโจทก์กับที่ดินของจำเลยเป็นเส้นโค้ง มิได้เป็นเส้นตรงตามที่จำเลยนำชี้การที่จำเลยนำชี้แนวเขตที่ดินเป็นเส้นตรงเมื่อมีการรังวัดแบ่งแยกที่ดินของจำเลย จึงเป็นการไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าในการรังวัดแบ่งแยกที่ดินของจำเลยกับพวก จำเลยได้นำรังวัดรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์จริง ซึ่งนายพัดก็ยอมรับว่าจากการรังวัดที่ดินของจำเลย ทำให้จำเลยได้ที่ดินเกินมา 1 ไร่เศษ ซึ่งก็คือที่ดินส่วนของโจทก์นั่นเอง

คดีมีปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนส่วนที่จำเลยนำรังวัดรุกล้ำที่ดินของโจทก์เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 73 ตารางวา เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าที่ดินของโจทก์ที่จำเลยรุกล้ำนั้นคิดเป็นเนื้อที่ 1 ไร่เศษ แต่โจทก์ขอคิดเพียง 1 ไร่ เพื่อจะนำมาคำนวณเป็นทุนทรัพย์ แต่เมื่อทำแผนที่พิพาทแล้วปรากฏว่าที่ดินของโจทก์ที่ถูกจำเลยรุกล้ำมีเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 73 ตารางวา ก็ตาม จำนวนเนื้อที่ดินพิพาทตามฟ้องโจทก์ก็เป็นเพียงแต่กะประมาณกันไว้เท่านั้น เมื่อเจ้าพนักงานไปรังวัดทำแผนที่พิพาท ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยนำชี้ว่าที่พิพาทอยู่ในเส้นสีม่วงและรับรองว่าแผนที่พิพาทถูกต้อง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องถือว่าที่ดินพิพาทกันคือที่ดินที่อยู่ภายในเส้นสีม่วงนั่นเอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยนำวัดรุกล้ำที่ดินของโจทก์เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 73 ตารางวา ตามแผนที่พิพาทจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share