คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 828/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

มูลหนี้ตามฟ้องเดิมเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์พร้อมกับทำสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันการชำระหนี้ ต่อมาจำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์เพื่อขยายเวลาชำระหนี้ แต่จำเลยผิดนัด ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ดังกล่าวกับขอให้บังคับจำนอง ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยเป็นเรื่องอ้างว่า ภาระหนี้ของจำเลยที่มีต่อโจทก์ตามฟ้องเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพประเภทจัดชั้นสงสัยจะสูญ แต่โจทก์ไม่โอนให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยภายในกำหนดเวลาที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยกำหนด โจทก์ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยฯ ขอให้บังคับโจทก์นำเงินค่าชดเชยมาหักชำระหนี้ของจำเลยดังกล่าว แม้ข้ออ้างของจำเลยตามฟ้องแย้งจะเกี่ยวกับหนี้ที่จำเลยมีต่อโจทก์ตามฟ้อง แต่ก็เป็นเรื่องขอให้โจทก์รับผิดจ่ายค่าชดเชยเพราะเหตุไม่โอนหนี้ดังกล่าวให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยตามกฎหมาย ซึ่งการกระทำของโจทก์ดังกล่าวจะเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยหรือไม่นั้นเป็นคนละส่วนกับมูลหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องคดีเดิมที่จะรวมพิจารณาพิพากษาไปในคดีเดียวกัน ชอบที่จะนำคดีไปฟ้องร้องเป็นอีกกรณีหนึ่งต่างหาก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์ จำเลยได้จำนองที่ดินเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าวและยอมให้โจทก์ทำสัญญาประกันภัยหลักทรัพย์ที่จำนองโดยจำเลยเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยและโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมาจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้กับโจทก์ยอมรับว่าจำเลยค้างชำระหนี้โจทก์เป็นเงิน 11,684,968.89 บาท และทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อขยายเวลาชำระหนี้ แต่จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์บางส่วนแล้วผิดนัด ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 9,865,718.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,276,600 บาท และชำระดอกเบี้ยค่าประกันภัยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 41,466.78 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้บังคับจำนองโดยขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบ
จำเลยให้การแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามฟ้อง ดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองเป็นโมฆะ โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นไม่ชอบ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นเอกสารปลอมและไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ภาระหนี้ที่จำเลยมีต่อโจทก์เป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพประเภทสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญ โจทก์มีหน้าที่ต้องโอนให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยภายในเวลาที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยกำหนดตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของจำเลยจากโจทก์ และจำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบแล้ว ต่อมาบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบกำหนดวันรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของจำเลย กรณีดังกล่าวถือเป็นการบอกกล่าวการโอนตามกฎหมายแล้ว บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยจึงได้ไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย โจทก์ซึ่งหมดสิทธิเรียกร้องตามกฎหมายแล้วจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดี การที่โจทก์ไม่โอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามคำสั่งของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยโจทก์ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 เป็นรายวัน วันละ 500,000 บาท และต้องนำเงินดังกล่าวมาลดหย่อนหนี้ของจำเลย เมื่อโจทก์จงใจทำผิดกฎหมายโดยนำคดีมาฟ้องหลังจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยกำหนดวันรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของจำเลยเป็นเวลา 51 วัน โจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยคิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 25,500,000 บาท และต้องเสียค่าชดเชยนับถัดจากวันฟ้องวันละ 500,000 บาท จนกว่าโจทก์จะถอนฟ้อง ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์นำเงินค่าชดเชยมาชำระหนี้ของจำเลย และปลดจำนองที่ดินทุกแปลงพร้อมกับคืนโฉนดที่ดินทั้งหมดให้แก่จำเลย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การ คำให้การเพิ่มเติม ส่วนฟ้องแย้งไม่รับเนื่องจากไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องแย้ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องแย้งเกี่ยวกับฟ้องเดิมหรือไม่ เห็นว่า มูลหนี้ตามฟ้องเดิมเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์พร้อมกับทำสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันการชำระหนี้ ต่อมาจำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์เพื่อขยายเวลาชำระหนี้ แต่จำเลยผิดนัด ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ดังกล่าวกับขอให้บังคับจำนอง ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยเป็นเรื่องอ้างว่าภาระหนี้ของจำเลยที่มีต่อโจทก์ตามฟ้องเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพประเภทจัดชั้นสงสัยจะสูญ แต่โจทก์ไม่โอนให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยภายในกำหนดเวลาที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยกำหนด โจทก์ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ขอให้บังคับโจทก์นำเงินค่าชดเชยมาหักชำระหนี้ของจำเลยดังกล่าว แม้ข้ออ้างของจำเลยตามฟ้องแย้งจะเกี่ยวกับหนี้ที่จำเลยมีต่อโจทก์ตามฟ้อง แต่ก็เป็นเรื่องขอให้โจทก์รับผิดจ่ายค่าชดเชยเพราะเหตุไม่โอนหนี้ดังกล่าวให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยตามกฎหมาย ซึ่งการกระทำของโจทก์ดังกล่าวจะเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยหรือไม่นั้นเป็นคนละส่วนกับมูลหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องคดีเดิมที่จะรวมพิจารณาพิพากษาไปในคดีเดียวกัน ชอบที่จะนำคดีไปฟ้องร้องเป็นอีกกรณีหนึ่งต่างหาก ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share