คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1094/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการฯ มาตรา 4 ได้กำหนดบทนิยามผู้อยู่ในอุปการะให้หมายความว่า “ผู้ที่ได้อยู่ในความอุปการะของผู้ตายตลอดมาโดยจำเป็นต้องมีผู้อุปการะ และความตายของผู้นั้นทำให้ได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะ” ซึ่งมีความหมายว่า ผู้ที่จะได้รับบำเหน็จตกทอดจะต้องได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ที่เป็นหลักดูแลให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลโจทก์ตลอดมาคือ ร. แม้ต่อมาศาลจะมีคำสั่งให้โจทก์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและอยู่ในความพิทักษ์ของ พ. ก็เพื่อประโยชน์ในการจัดการทรัพย์สินของโจทก์ ซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกของบิดามารดาและเงินฝากของโจทก์ในธนาคารเท่านั้น หามีผลให้ พ. เปลี่ยนฐานะเป็นผู้ให้ความอุปการะโจทก์ไม่ นอกจากนี้เมื่อ พ. ถึงแก่ความตาย ร. ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญและเป็นผู้พิทักษ์ของโจทก์ตามคำสั่งศาลแทน พ. กับ ส. ซึ่งพักอาศัยอยู่ด้วยกันและพี่คนอื่น ๆ ก็ยังช่วยกันดูแลให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลโจทก์ตามปกติอยู่เช่นเดิม เพียงแต่ขาดความช่วยเหลือในส่วนของ พ. ไปบ้างเท่านั้น โจทก์จึงไม่ได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้อยู่ในอุปการะของ พ. ผู้ตาย ตามความหมายแห่ง พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการฯ มาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 478,566 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 478,566 บาท นับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ถึงแก่กรรม นางสาวพัชรินทร์ เภกานนท์ ผู้พิทักษ์ของโจทก์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 478,566 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบและไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นบุตรของนายชิตและนางบุญเรือน เภกานนท์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 7 คน โจทก์ซึ่งเป็นบุตรคนสุดท้องเป็นบุคคลปัญญาอ่อนมาตั้งแต่กำเนิด ต้องอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของบิดามารดามาโดยตลอด จนกระทั่งบิดามารดาถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2521 และวันที่ 9 พฤษภาคม 2522 ตามลำดับ ต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2530 ศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งให้โจทก์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความพิทักษ์ของนางสาวพัชชา เภกานนท์ พี่สาว ตามคำสั่งของศาลแพ่งธนบุรี เอกสารหมาย จ.3 นางสาวพัชชารับราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาย้ายไปประจำอยู่ที่วิทยาลัยครูฉะเชิงเทรา ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันราชภัฏฉะเชิงเทรา นางสาวพัชชาเกษียณอายุราชการได้รับบำนาญเหตุสูงอายุรายเดือนเดือนละ 15,952.20 บาท ต่อมาวันที่ 14 เมษายน 2539 นางสาวพัชชาถึงแก่ความตาย ตามสำเนาใบมรณบัตร เอกสารหมาย จ.7 นางสาวพัชรินทร์ เภกานนท์ พี่สาวโจทก์อีกคนหนึ่งได้ขอเบิกบำเหน็จตกทอดให้แก่โจทก์ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้อยู่ในอุปการะของนางสาวพัชชาต่อสถาบันราชภัฏฉะเชิงเทรา จำเลยที่ 2 พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า นางสาวพัชชาไม่ได้เป็นผู้อุปการะโจทก์อยู่เป็นประจำ และความตายของนางสาวพัชชาไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอด ตามเอกสารหมาย จ.13 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสอง ประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดของนางสาวพัชชาตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 4 ได้กำหนดบทนิยามผู้อยู่ในอุปการะว่าให้หมายความว่า “ผู้ที่ได้อยู่ในความอุปการะของผู้ตายตลอดมา โดยจำเป็นต้องมีผู้อุปการะ และความตายของผู้นั้นทำให้ได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะ” ซึ่งมีความหมายว่า ผู้ที่จะได้รับบำเหน็จตกทอดจะต้องได้รับความช่วยเหลือเกื้อกูลจากผู้ตายตลอดเวลา และความตายของผู้นั้น ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะ สำหรับกรณีของโจทก์นั้น ได้ความจากตัวโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า ในช่วงที่นางสาวพัชชารับราชการอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โจทก์พักอาศัยอยู่กับนางสาวพัชรินทร์และนางสาคร (ไม่ปรากฏนามสกุล) พี่สาวกับพวกหลาน ๆ มีนางสาวพัชรินทร์เป็นหลักในการดูแลโจทก์ พี่น้องคนอื่น ๆ มาช่วยดูแลเป็นครั้งคราว กับได้ความจากนายวิชัย เภกานนท์ พี่ชายโจทก์ ซึ่งเบิกความเป็นพยานโจทก์ตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่าระหว่างที่นางสาวพัชชาไปรับราชการอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา นางสาวพัชชาจะเดินทางกลับบ้านที่กรุงเทพมหานครในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เวลาโจทก์ไปพบแพทย์นางสาครจะเป็นผู้พาไป ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของโจทก์พี่น้องจะช่วยเหลือกันเท่าที่จะทำได้ ซึ่งข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวแสดงว่าโจทก์พักอาศัยอยู่ที่บ้านของบิดามารดาตั้งแต่เกิดตลอดมา โดยอาศัยรวมอยู่กับพี่คนอื่น ๆ อีกหลายคน หลังจากบิดามารดาถึงแก่ความตายแล้ว โจทก์ก็คงอยู่ที่บ้านหลังดังกล่าวร่วมกับนางสาวพัชรินทร์และนางสาคร กับบุตรของนางสาคร ผู้ที่เป็นหลักดูแลให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลโจทก์ตลอดมาคือนางสาวพัชรินทร์ แม้ต่อมาศาลแพ่งธนบุรีจะมีคำสั่งให้โจทก์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและอยู่ในความพิทักษ์ของนางสาวพัชชา ก็เพื่อประโยชน์ในการจัดการทรัพย์สินของโจทก์ ซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกของบิดามารดาและเงินฝากของโจทก์ในธนาคารเท่านั้น หามีผลทำให้นางสาวพัชชาเปลี่ยนฐานะเป็นผู้ให้ความอุปการะโจทก์ไม่ นอกจากนี้เมื่อนางสาวพัชชาถึงแก่ความตาย นางสาวพัชรินทร์ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญและเป็นผู้พิทักษ์ของโจทก์ตามคำสั่งศาลแทนนางสาวพัชชากับนางสาครซึ่งพักอาศัยอยู่ด้วยกันและพี่คนอื่น ๆ ก็ยังช่วยกันดูแลให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลโจทก์ตามปกติอยู่เช่นเดิม เพียงแต่ขาดความช่วยเหลือในส่วนของนางสาวพัชชาไปบ้างเท่านั้น โจทก์จึงไม่ได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้อยู่ในอุปการะของผู้ตายตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 4 ดังกล่าวแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้อยู่ในอุปการะของนางสาวพัชชานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้ออื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

Share