คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 585/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยทั้งสองได้ตกลงกันภายหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้ทราบว่าวันที่ 31 ธันวาคม 2538 ซึ่งเป็นวันนัดโอนห้องชุดพิพาทที่ตกลงนัดกันไว้เดิมเป็นวันหยุดราชการ กรณีเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองมิได้ถือเอาวันที่ 31 ธันวาคม 2538 ตามที่ตกลงกำหนดในหนังสือสัญญาจะซื้อขายกันไว้เดิมเป็นวันจดทะเบียนโอนห้องชุดพิพาทต่อไปแล้ว หากแต่โจทก์และจำเลยทั้งสองมีข้อตกลงกันใหม่โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายไปติดต่อกรมที่ดินก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2538 แล้วแจ้งให้โจทก์ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน 7 วัน เมื่อโจทก์รับว่าจำเลยทั้งสองได้ใช้โทรศัพท์ติดต่อมายังโจทก์ในระหว่างวันที่ 4 – 28 ธันวาคม 2538 อยู่หลายครั้ง เพื่อนัดวันโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาท เท่ากับโจทก์ยินยอมให้จำเลยทั้งสองแจ้งวันนัดโอนทางโทรศัพท์โดยมิได้ถือเอาข้อตกลงในหนังสือสัญญาที่ให้แจ้งวันนัดโอนให้โจทก์ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน 7 วัน เป็นสาระสำคัญ ปรากฏว่าในวันที่ 29 ธันวาคม 2538 ซึ่งเป็นวันนัดโอน โจทก์ไม่ไปรับโอนห้องชุดพิพาท จึงฟังได้ว่าโจทก์ตกเป็นผู้ผิดสัญญา จำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิริบมัดจำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะขายห้องชุดให้แก่โจทก์ในราคา 500,000 บาท ในวันทำสัญญาโจทก์ได้วางมัดจำไว้แล้วเป็นเงิน 100,000 บาท จำเลยทั้งสองสัญญาจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้โจทก์ พร้อมรับเงินส่วนที่เหลือภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2538 โดยจำเลยทั้งสองจะเป็นฝ่ายติดต่อกับสำนักงานที่ดินพร้อมทั้งแจ้งกำหนดนัดโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 7 วัน แต่จำเลยทั้งสองไม่ได้ดำเนินการติดต่อกับสำนักงานที่ดินและไม่ได้แจ้งวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ทราบ เมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาโอนแล้ว โจทก์ไม่ประสงค์จะซื้อกรรมสิทธิ์ห้องชุดต่อไป จึงบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายแก่จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงต้องคืนมัดจำพร้อมดอกเบี้ยและชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 207,958 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะขายกับโจทก์จริง ในการทำสัญญามีการตกลงว่าจำเลยจะไปติดต่อกับกรมที่ดินก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2538 และจะแจ้งให้โจทก์ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน 7 วัน เพื่อทำการโอน แต่โจทก์ไม่ได้ให้ที่อยู่ของโจทก์ไว้ คงให้แต่เพียงหมายเลขโทรศัพท์ของโจทก์แก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น จำเลยทั้งสองติดต่อกับโจทก์ทางโทรศัพท์ขอให้ส่งที่อยู่มาให้ เพื่อที่จะได้แจ้งวันนัดโอนให้ทราบ แต่โจทก์ให้แจ้งกำหนดนัดโอนทางโทรศัพท์ก็ได้ ต่อมาจำเลยทั้งสองแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 29 ธันวาคม 2538 แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องคืนมัดจำและชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขาย โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงนัดจดทะเบียนโอนห้องชุดพิพาทกันในวันที่ 31 ธันวาคม 2538 ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ตรวจดูหนังสือสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวปรากฏว่า วันที่ 31 ธันวาคม 2538 ซึ่งเป็นวันนัดโอนเป็นวันหยุดราชการ จึงได้ตกลงกันให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ไปติดต่อกรมที่ดินก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2538 หากนัดโอนวันใดแล้วให้แจ้งให้โจทก์ทราบ โดยจำเลยที่ 2 ได้เขียนบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมไว้ในหนังสือสัญญาจะซื้อขายตรงที่มีเครื่องหมายดอกจันว่า “ผู้จะขายจะเป็นฝ่ายไปติดต่อกรมที่ดินก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2538 และจะแจ้งให้ผู้จะซื้อทราบก่อน 7 วัน เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อทำการโอนและรับเงินส่วนที่เหลืออีก 400,000 บาท”
ในการทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายห้องชุดพิพาทกันนี้ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่า ขณะทำสัญญาโจทก์ให้ไว้แต่เพียงหมายเลขโทรศัพท์ที่บ้านโจทก์และหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโจทก์เพื่อใช้สำหรับติดต่อกันเท่านั้น ซึ่งต่อมาจำเลยทั้งสองได้ใช้โทรศัพท์ติดต่อมายังโจทก์หลายครั้งเพื่อเป็นการนัดวันโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาท เท่ากับโจทก์ยินยอมให้จำเลยทั้งสองแจ้งวันนัดโอนห้องชุดพิพาทให้โจทก์ทราบทางโทรศัพท์โดยมิได้ถือเอาข้อตกลงในหนังสือสัญญาที่ให้แจ้งวันนัดโอนให้โจทก์ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน 7 วัน เป็นสาระสำคัญ ข้อเท็จจริงจึงมีเหตุผลและน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองได้แจ้งให้โจทก์ไปรับโอนห้องชุดพิพาทในวันที่ 29 ธันวาคม 2538 เมื่อปรากฏว่าในวันที่ 29 ธันวาคม 2538 ซึ่งเป็นวันนัดโอน โจทก์ไม่ไปรับโอนห้องชุดพิพาท กรณีจึงฟังได้ว่าโจทก์ตกเป็นผู้ผิดสัญญา เมื่อตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายระบุไว้ชัดแจ้งว่า ถ้าผู้จะซื้อผิดสัญญา ผู้จะขายจำเป็นต้องริบเงินมัดจำทันที จำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิริบมัดจำจำนวน 100,000 บาท ที่โจทก์วางไว้ตามข้อสัญญาดังกล่าวได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันว่าโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญา ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกมัดจำและค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองโดยพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยข้ออ้างประการอื่น ๆ ในฎีกาของโจทก์ต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 2,000 บาท แทนจำเลยทั้งสอง.

Share