คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5848/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การฟ้องขอให้ผู้รับโอนโอนนาให้แก่ผู้เช่านาโดยอ้างว่าผู้ให้เช่าขายนาไปโดยมิได้แจ้งให้ผู้เช่านาทราบนั้น ผู้เช่าจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายเสียก่อน กล่าวคือผู้เช่าจะต้องร้องขอต่อคชก.ตำบล เพื่อวินิจฉัยก่อน ตามมาตรา 54 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 เมื่อ คชก.ตำบล วินิจฉัยเป็นประการใด ผู้ไม่พอใจมีสิทธิอุทธรณ์ต่อ คชก.จังหวัด ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัย แต่ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ คชก.ตำบล มีคำวินิจฉัยมิฉะนั้นให้ถือว่าคำวินิจฉัยนั้นเป็นที่สุด และหากมีการอุทธรณ์ต่อไปยัง คชก.จังหวัด และยังไม่พอใจคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัด ผู้ไม่พอใจจึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำวินิจฉัย แต่จะต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ คชก.จังหวัด มีคำวินิจฉัย ตามมาตรา 56 และ 57 คำว่า อาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลต่อ คชก.จังหวัดตาม มาตรา 56 ของพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 หมายความว่า “มีสิทธิ” คู่กรณีจะใช้สิทธิก็ได้ ไม่ใช้สิทธิก็ได้ กล่าวคือเมื่อ คชก.ตำบล มีคำวินิจฉัยแล้ว ไม่ว่าฝ่ายใดจะพอใจหรือไม่พอใจก็ตามมีสิทธิที่จะเลือกอุทธรณ์ต่อ คชก.จังหวัดหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าเลือกที่จะไม่อุทธรณ์ต่อ คชก.จังหวัด คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลก็ถึงที่สุด ตามมาตรา 56 วรรคสอง เมื่อถึงที่สุดแล้วคู่กรณีจะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบล ไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์หรือฟ้องต่อศาล เมื่อโจทก์ใช้สิทธิขอซื้อนาพิพาทภายในกำหนดเวลาสองหรือสามปีต่อ คชก.ตำบล หรือ คชก.จังหวัด แล้ว แม้ คชก.ตำบล หรือ คชก.จังหวัดจะได้มีคำวินิจฉัยเลยกำหนดสองปีหรือสามปีตามมาตรา 54 วรรคแรกก็ถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วโจทก์ยังมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัด ต่อศาลภายในกำหนดเวลาตาม มาตรา 57 วรรคแรก ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เช่านาโฉนดเลขที่ 28662 ตำบลโคกหม้ออำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน77 ตารางวา จากนายชาญ พุทธิจุล มีกำหนดเวลาเช่า 3 ปี ต่อมาวันที่29 ธันวาคม 2530 ซึ่งอยู่ในระหว่างอายุสัญญาเช่า นายชาญขายนาที่โจทก์เช่าแก่จำเลยในราคา 50,000 บาท โดยมิได้แจ้งโจทก์ก่อนและจำเลยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์เป็นผู้เช่าและประสงค์จะซื้อจึงเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 โจทก์แจ้งให้จำเลยโอนที่นาให้โจทก์ในราคา 50,000 บาทแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 28662ตำบลโคกหม้อ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี ให้โจทก์ในราคา50,000 บาท หากจำเลยไม่ไปโอนขายที่ดินให้โจทก์ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนา และให้จำเลยรับค่าที่ดิน50,000 บาท จากโจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะนายชาญได้เสนอขายนาให้โจทก์ก่อนแล้วราคา 280,000 บาทแต่โจทก์ไม่ซื้อจึงได้เสนอขายให้จำเลยในราคา 300,000 บาท แต่เนื่องจากนายชาญได้ยืมเงินจำเลยไป 250,000 บาท จึงได้หักหนี้เงินกู้จากราคาที่ดินและชำระค่าที่ดินให้เป็นเงินสด 50,000 บาท โจทก์ไม่คัดค้านทั้งยังได้ขอเช่านาจากจำเลยต่อมา โดยได้ชำระค่าเช่าปีที่ 2 ให้ 1,100 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2530 โจทก์ได้ทำสัญญาเช่านาพิพาทจากนายชาญ พุทธิจุล มีกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2530ถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2533 วันที่ 29 ธันวาคม 2530 นายชาญขายนาพิพาทให้จำเลย โจทก์ทราบเรื่องจึงได้ขอให้จำเลยขายนาพิพาทให้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมขาย ต่อมาวันที่ 22 มิถุนายน 2532โจทก์ยื่นเรื่องราวต่อ คชก.ตำบล (คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรประจำตำบล) เพื่อบังคับให้จำเลยขายนาพิพาทแก่โจทก์ วันที่ 5 สิงหาคม2532 คชก.ตำบล มีมติว่าไม่สามารถบังคับให้จำเลยขายนาพิพาทแก่โจทก์ โจทก์มิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบล ต่อ คชก.จังหวัด(คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัด) แต่ได้นำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลคดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า การฟ้องขอให้ผู้รับโอนโอนนาให้แก่ผู้เช่านาโดยอ้างว่าผู้ให้เช่าขายนาไปโดยมิได้แจ้งให้ผู้เช่านาทราบนั้น ผู้เช่าจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายเสียก่อนกล่าวคือผู้เช่าจะต้องร้องขอต่อ คชก.ตำบล เพื่อวินิจฉัยก่อนตามมาตรา 54 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 เมื่อ คชก.ตำบล วินิจฉัยเป็นประการใด ผู้ไม่พอใจมีสิทธิอุทธรณ์ต่อ คชก.จังหวัด ภายในสามสิบวันแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัย แต่ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ คชก.ตำบลมีคำวินิจฉัย มิฉะนั้นให้ถือว่าคำวินิจฉัยนั้นเป็นที่สุด และหากมีการอุทธรณ์ต่อไปยัง คชก.จังหวัด และยังไม่พอใจคำวินิจฉัยคชก.จังหวัด ผู้ไม่พอใจจึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำวินิจฉัย แต่จะต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่คชก.จังหวัด มีคำวินิจฉัยทั้งนี้ตามมาตรา 56 และ 57 ของบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฎว่า โจทก์ผู้เช่านาได้ร้องขอต่อ คชก.ตำบลเพื่อพิจารณาให้จำเลยผู้รับโอนขายนาพิพาทให้แก่โจทก์ คชก.ตำบลพิจารณาคำร้องขอของโจทก์แล้ว วินิจฉัยว่าไม่สามารถบังคับให้จำเลยขายนาพิพาทให้แก่โจทก์ได้ โจทก์มิได้อุทธรณ์ต่อ คชก.จังหวัด แต่กลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้นั้น เป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายที่ให้อุทธรณ์ต่อ คชก.จังหวัดเสียก่อนเมื่อไม่พอใจคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัด จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์หรือฟ้องต่อศาล เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง อำนาจฟ้องนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นมาวินิจฉัยได้ ที่โจทก์ฎีกาว่า มาตรา 56บัญญัติว่า อาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบล ต่อ คชก.จังหวัดโดยใช้ถ้อยคำว่า”อาจ” ไม่ใช่ “ต้อง” ซึ่งน่าจะแปลว่า โจทก์จะฟ้องโดยอุทธรณ์ต่อ คชก.จังหวัด ก่อนหรือไม่ก็ได้นั้น เห็นว่า คำว่า “อาจ”ในบทกฎหมายดังกล่าวหมายความว่า “มีสิทธิ” คู่กรณีจะใช้สิทธิก็ได้ ไม่ใช้สิทธิก็ได้ กล่าวคือ เมื่อ คชก.ตำบล มีคำวินิจฉัยแล้วไม่ว่าฝ่ายใดจะพอใจหรือไม่พอใจก็ตาม มีสิทธิที่จะเลือกอุทธรณ์ต่อ คชก.จังหวัด หรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าเลือกที่จะไม่อุทธรณ์ต่อคชก.จังหวัด คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลก็ถึงที่สุด ตามมาตรา 56 วรรคสอง เมื่อถึงที่สุดแล้ว คู่กรณีจะต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบล ไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์หรือฟ้องต่อศาลที่โจทก์ฎีกาว่า หากโจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบล ต่อคชก.จังหวัดระหว่างรอคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัด โจทก์อาจเสียสิทธิในการฟ้องร้องต่อศาลเพราะจะเลยอายุความสองและสามปีตามมาตรา 54 วรรคแรก นั้น เห็นว่าหากโจทก์ใช้สิทธิขอซื้อนาพิพาทภายในกำหนดเวลาสองหรือสามปีต่อ คชก.ตำบล หรือ คชก.จังหวัดแล้ว แม้ คชก.ตำบล หรือ คชก.จังหวัดจะได้มีคำวินิจฉัยเลยกำหนดสองปีหรือสามปีตามมาตรา 54 วรรคแรกก็ถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วโจทก์ยังมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัด ต่อศาลภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 57 วรรคแรก ได้”
พิพากษายืน

Share