แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสี่,340 ตรี,289,80,83 ให้ลงโทษตามมาตรา340 วรรคสี่ และมาตรา 340 ตรี อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ระหว่างพิจารณาชั้นอุทธรณ์จำเลยขอถอนอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์อนุญาต ศาลอุทธรณ์พิจารณาเฉพาะข้อหาที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289ประกอบด้วยมาตรา 80 หนักกว่าโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา340 วรรคสี่ และมาตรา 340 ตรีหรือไม่แล้วพิพากษาแก้เป็นว่าลงโทษตามมาตรา 289 ประกอบด้วยมาตรา 80 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำเลยฎีกาว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง จึงเป็นฎีกาโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลอุทธรณ์เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83,288, 289, 340, 340 ตรี ริบรถยนต์ของกลาง จำเลยให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสี่, 340 ตรี, 289, 80, 83 ให้ลงโทษตามมาตรา340 วรรคสี่และมาตรา 340 ตรี ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก 25 ปี ริบรถยนต์ของกลาง โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ต่อมาจำเลยขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าลงโทษตามมาตรา 289 ประกอบมาตรา 80 จำคุกตลอดชีวิตนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยเคยยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง แต่ระหว่างพิจารณาชั้นอุทธรณ์ จำเลยได้ขอถอนอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ก็อนุญาตให้จำเลยถอนอุทธรณ์แล้ว ศาลอุทธรณ์คงพิจารณาเฉพาะข้อหาที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ประกอบด้วยมาตรา 80 หนักกว่าโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสี่ และมาตรา 340 ตรีหรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์ไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาที่ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เพราะจำเลยได้ถอนอุทธรณ์ไปเสียแล้ว ดังนั้น ปัญหาที่ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ย่อมยุติลงตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยฎีกาว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง จึงเป็นฎีกาโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาจำเลย