คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5845/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อรถยนต์ของกลางเป็นพาหนะที่จำเลยใช้คุ้มกันช่วยเหลือขณะทำการปล้นทรัพย์ และใช้นำตัวเจ้าทรัพย์ไปทำร้ายร่างกายระหว่างทำการปล้นทรัพย์ด้วย รถยนต์ของกลางดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันมีและพาอาวุธปืนพกและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วร่วมกันใช้อาวุธดังกล่าวและรถยนต์เก๋งเป็นพาหนะร่วมกันปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี, 83, 91และพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340,340 ตรี จำคุกคนละ 30 ปี ฐานมีอาวุธปืนฯ ตามมาตรา 7, 72 จำคุกคนละ 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนฯ ตามมาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ จำคุกคนละ6 เดือน รวมจำคุกคนละ 32 ปี 6 เดือน ริบของกลางรวมทั้งรถยนต์จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสี่ฎีการะหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2, ที่ 3 ขอถอนฎีกาศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3ปล้นทรัพย์และวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ส่วนรถยนต์ของกลางนั้นได้ความจากร้อยตำรวจเอกจารึกผู้จับกุมจำเลยที่ 3 ที่ 4 และบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.8 ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ได้ใช้รถยนต์ของกลางเป็นพาหนะคุ้มกันช่วยเหลือขณะที่ทำการปล้นทรัพย์และได้ความว่าจำเลยทั้งสามใช้รถยนต์ของกลางนำตัวนายอุดมไปทำร้ายร่างกายระหว่างการปล้นทรัพย์ด้วย จึงฟังได้ว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิด”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1, ที่ 2, ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share