คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5844/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องคดีโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาสองข้อคือข้อแรก โจทก์จำเลยได้ตกลงกันประกอบกิจการและจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยโจทก์เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ข้อที่สองจำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนขอให้บังคับให้จำเลยร่วมรับผิดต่อเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน จำเลยให้การรับว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดแต่ปฏิเสธว่าไม่เคยสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า หนี้ของห้างหุ้นส่วนตามฟ้องผูกพันจำเลยหรือไม่เพียงใด ซึ่งศาลล่างทั้งสองเห็นว่า แม้จำเลยจะสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจำเลยก็ไม่ต้องรับผิดอย่างไม่จำกัดจำนวน เพราะกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1088 วรรคหนึ่ง เป็นกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก แต่คดีนี้ไม่ใช่กรณีบุคคลภายนอกเรียกร้องให้จำเลยรับผิด เป็นเรื่องระหว่างหุ้นส่วนด้วยกันเอง จึงต้องบังคับตามสัญญาหุ้นส่วนซึ่งเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ข้อแรก ฉะนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยดังกล่าว จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1088 วรรคหนึ่งซึ่งบัญญัติว่า ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวนนั้น เป็นบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอกเนื่องจากบุคคลภายนอกอาจไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้ใดเป็นหุ้นส่วนจำพวกใด ส่วนระหว่างหุ้นส่วนด้วยกันเองผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าผู้ใดเป็นหุ้นส่วนจำพวกใดและมีหน้าที่อย่างใด หากยินยอมให้มีการกระทำผิดหน้าที่ ผู้ที่ให้ความยินยอมไม่มีสิทธิจะอ้างกฎหมายมาตราดังกล่าวขึ้นบังคับผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันอย่างบุคคลภายนอกได้ กรณีของผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันต้องบังคับตามสัญญาห้างหุ้นส่วน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยได้ร่วมกันประกอบกิจการค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ โดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ใช้ชื่อว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดพริตติเอ็นเตอร์ไพรส์ มีโจทก์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์จำเลยลงหุ้นเป็นเงินสดคนละ 245,000 บาท ในการดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วนดังกลา่ว จำเลยสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนแสดงตนให้คนทั่วไปเข้าใจว่าจำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ต่อมาเมื่อปี 2528 โจทก์จำเลยตกลงหยุดกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดพริตติเอ็นเตอร์ไพรส์ แต่มิได้จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนตามวิธีการของกฎหมายโจทก์จำเลยได้ตกลงแบ่งทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนกันไปแล้วต่อมาปี 2531 กรมสรรพากรมีหนังสือแจ้งให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดพริตติ เอ็นเตอร์ไพรส์ ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2528 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2528เพิ่มเติมพร้อมเบี้ยปรับเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,729,008 บาทโจทก์ได้ผ่อนชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่กรมสรรพากรไปแล้วการที่จำเลยสอดเข้าเกี่ยวข้องในการจัดการงานของห้างหุ้นส่วน และได้รับการแบ่งทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนไป จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวครึ่งหนึ่ง เป็นเงินจำนวน864,504 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 864,504 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัดพริตติ เอ็นเตอร์ไพรส์ โดยรับผิดไม่เกินจำนวนเงินที่จำเลยลงหุ้นคือ 245,000 บาท จำเลยไม่เคยสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนหากจะฟังว่าจำเลยสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนก็เป็นเรื่องที่จำเลยต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ต่อบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดจำนวน แต่ในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน จำเลยต้องรับผิดไม่เกินจำนวนเงินที่ลงหุ้น หนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่โจทก์อ้างมาในฟ้อง เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังจำเลยออกจากการเป็นหุ้นส่วน โจทก์ได้ยื่นรายการภาษีประจำปี 2528 ภายหลังสิ้นปี 2528 แล้วและยื่นรายการภาษีเงินได้ด้วยความประมาทเลินเล่อ หรือจงใจหลีกเลี่ยงภาษีโดยไม่นำเงินชดเชยภาษีส่งออกมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ และได้นำรายจ่ายต้องห้ามมาหักเป็นรายจ่าย จึงต้องถูกประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้รวมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม จำเลยมิได้มีส่วนรู้เห็นแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน และไม่ใช่กรณีที่บุคคลภายนอกเรียกร้องให้จำเลยรับผิด แต่เป็นเรื่องระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนกันเอง ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนจึงต้องบังคับไปตามสัญญาหุ้นส่วน เมื่อโจทก์จำเลยรับกันว่า ห้างหุ้นส่วนได้หยุดกิจการและมีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างหุ้นส่วนไปแล้วเท่ากับจำเลยได้ถอนเงินลงหุ้นจากสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนไป โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยให้รับผิดตามจำนวนเงินที่จำเลยรับจะลงหุ้น พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 245,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาข้อแรกว่า โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาให้จำเลยรับผิดในฐานะเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดแต่ได้สอดเข้าไปจัดกิจการของห้างหุ้นส่วน จำเลยจึงต้องร่วมรับผิดในหนี้ค่าภาษีเงินได้ที่กรมสรรรพากรเรียกเก็บเงินเอาจากห้าง แต่ทางพิจารณาไม่ได้ความว่าหนี้ค่าภาษีเงินได้ เป็นหนี้ที่เกิดจากการที่จำเลยสอดเข้าไปจัดการ ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดตามสัญญาหุ้นส่วนจึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 นั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาสองข้อคือ ข้อแรกโจทก์จำเลยได้ตกลงกันประกอบกิจการและจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยโจทก์เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ข้อที่สองจำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน ขอให้บังคับให้จำเลยร่วมรับผิดต่อเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน จำเลยให้การรับว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด แต่ปฏิเสธว่าไม่เคยสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าหนี้ของห้างหุ้นส่วนตามฟ้องผูกพันจำเลยหรือไม่เพียงใดซึ่งศาลล่างทั้งสองเห็นว่า แม้จำเลยจะสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดอย่างไม่จำกัดจำนวน เพราะกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1088 วรรคหนึ่ง เป็นกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก แต่คดีนี้ไม่ใช่กรณีบุคคลภายนอกเรียกร้องให้จำเลยรับผิดเป็นเรื่องระหว่างหุ้นส่วนด้วยกันเอง จึงต้องบังคับตามสัญญาหุ้นส่วนซึ่งเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ข้อแรก ฉะนั้นการที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยดังกล่าวจึงไม่เป็นการวินิจิฉัยนอกฟ้อง
โจทก์ฎีกาว่า กรณีของโจทก์เป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1088 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่าถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน จำเลยจึงต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ทั้งหมดที่ได้เกิดขึ้นโดยไม่จำกัดจำนวนนั้น เห็นว่าการที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวก็เพื่อป้องกันมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน เพราะหน้าที่ดังกล่าวเป็นของหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจก่อให้เกิดหนี้ระหว่างห้างหุ้นส่วนกับบุคคลภายนอกได้ฉะนั้นหากหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน ก็ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดจำนวนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอก เนื่องจากบุคคลภายนอกอาจไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือผู้ใดเป็นหุ้นส่วนจำพวกใด ส่วนระหว่างหุ้นส่วนด้วยกันเอง ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าผู้ใดเป็นหุ้นส่วนจำพวกใดและมีหน้าที่อย่างใด หากยินยอมให้มีการกระทำผิดหน้าที่ ผู้ที่ให้ความยินยอมไม่มีสิทธิจะอ้างกฎหมายมาตราดังกล่าวขึ้นบังคับผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันอย่างบุคคลภายนอกได้ กรณีของผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันต้องบังคับตามสัญญาห้างหุ้นส่วน
พิพากษายืน

Share