แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.วิ.พ. มาตรา 286 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอื่น เงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี… (3) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน นอกจากที่กล่าวไว้ใน (2) ที่นายจ้างจ่ายให้…เป็นจำนวนรวมกันไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท หรือตามที่ศาลเห็นสมควร…” ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี มี 4 กรณี คือตาม (1) ถึง (4) แห่งมาตรา 286 ดังนั้น หากเงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงิน มิใช่เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์ หรือรายได้อื่นตามมาตรา 286 (3) แล้ว แม้ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทก็ย่อมอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีการที่โจทก์ทำงานที่โรงพยาบาล ส. ของบริษัท ป.
โดยสถานพยาบาลเป็นผู้เก็บค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์กำหนดเอง เมื่อหักค่าใช้จ่ายไว้ส่วนหนึ่งจึงจะจ่ายเงินให้โจทก์ตามสัญญาการใช้สถานที่ในการประกอบวิชาชีพอิสระ เงินจำนวนดังกล่าวที่โจทก์ได้รับจากบริษัท ป. แม้ไม่ใช่ค่าจ้างเนื่องจากโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างก็ตาม แต่เงินจำนวนดังกล่าวก็อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีเนื่องจากไม่ใช่เงินที่อยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 286 (3) เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีสิทธิอายัดสิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อบริษัท ป. ได้ กรณีไม่มีเหตุต้องเพิกถอนการอายัด
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยโจทก์ตกลงจ่ายค่าการศึกษาทั้งหมดของบุตรของโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นผู้เยาว์ทั้งสามคนไปจนบรรลุนิติภาวะ โดยโจทก์จะเป็นฝ่ายจ่ายให้แก่โรงเรียนที่บุตรผู้เยาว์ทั้งสามศึกษาอยู่ตามใบเสร็จที่จ่ายจริง หากจำเลยทดรองจ่ายไปก่อนให้นำใบเสร็จมาเบิกคืนจากโจทก์ได้ หากโจทก์ผิดข้อตกลงตามสัญญา โจทก์ยินยอมให้จำเลยบังคับคดีได้ทันที ต่อมาจำเลยร้องขอให้บังคับคดีเนื่องจากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ วันที่ 21 กรกฎาคม 2557 เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อบริษัทปิยะศิริ จำกัด
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการอายัดสิทธิเรียกร้องของโจทก์
จำเลยไม่ยื่นคำคัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมในวันดังกล่าว เมื่อปลายปี 2556 และปี 2557 จำเลยได้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าเรียนพิเศษค่ารถนักเรียน ค่าชุดการแสดง ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่ารองเท้านักเรียน ค่ามัดจำหนังสือ ค่าหนังสือเรียน ค่าประกันอุบัติเหตุ ค่าเรียนชมรมดนตรี ค่าเปียโน และค่ารักษาพยาบาลของบุตรทั้งสาม รวมเป็นเงิน 249,967 บาท ไปก่อนโดยอ้างว่าเป็นการปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้างต้น โจทก์มีสิทธิได้รับเงินจากบริษัท ปิยะศิริ จำกัด (โรงพยาบาลสุขุมวิท) แต่โจทก์ไม่ชำระเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยอันเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีหนังสือลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 แจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องในการรับเงินของโจทก์ไปยังบริษัทปิยะศิริ จำกัด ที่โจทก์มีสิทธิได้รับโดยส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ ซึ่งบริษัท ปิยะศิริ จำกัด ได้รับหนังสือแล้วเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ต่อมาวันที่ 17 ธันวาคม 2557 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งเตือนบริษัท ปิยะศิริ จำกัด ให้ส่งเงินตามที่อายัดอีกโดยมีการปิดหนังสือที่อาคารอันเป็นภูมิลำเนาของบริษัทเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2558
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยมีสิทธิอายัดสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากบริษัท ปิยะศิริ จำกัด หรือไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอื่นเงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปนี้ ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี… (3) เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์หรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของพนักงาน ลูกจ้าง หรือคนงาน นอกจากที่กล่าวไว้ใน (2) ที่นายจ้างจ่ายให้…เป็นจำนวนรวมกันไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท หรือตามที่ศาลเห็นสมควร…” เห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี มี 4 กรณี คือ ตาม (1) ถึง (4) แห่งมาตรา 286 ดังนั้น หากเงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงิน มิใช่เงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์หรือรายได้อื่นตามมาตรา 286 (3) แล้ว แม้ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทก็ย่อมอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี การที่โจทก์อ้างว่า เงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากบริษัท ปิยะศิริ จำกัด เป็นการได้รับตามสัญญาการใช้สถานที่ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมอิสระ ไม่ใช่ค่าจ้าง เนื่องจากโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้าง ซึ่งหากเป็นจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างแล้ว เงินจำนวนดังกล่าวก็อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เนื่องจากไม่ใช่เงินที่อยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 286 (3) ฎีกาของโจทก์ประการแรกฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการที่สองว่า เงินค่าการศึกษาของบุตรทั้งสามต้องเป็นการศึกษาของโรงเรียนรัฐบาลหรือไม่ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระบุเพียงว่า โจทก์จะเป็นฝ่ายจ่ายกับโรงเรียนที่บุตรผู้เยาว์ทั้งสามศึกษาอยู่ หามีข้อความใดระบุว่าต้องเป็นโรงเรียนรัฐบาลไม่ ทั้งขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น บุตรผู้เยาว์คนโตศึกษาอยู่ที่โรงเรียน ส. ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน นอกจากนี้ ตามเอกสารใบเสร็จรับเงินและสำเนาการส่งข้อความอิเล็กทรอนิกส์โต้ตอบระหว่างโจทก์และครูประจำชั้นของบุตรผู้เยาว์ ก็ปรากฏว่าเป็นใบเสร็จรับเงินของโรงเรียนดังกล่าวเมื่อปี 2556 และเป็นการโต้ตอบกันในเรื่องการชำระค่าเล่าเรียนของบุตรผู้เยาว์ระหว่างเดือนมีนาคม ถึงพฤศจิกายน 2556 ยิ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่า ค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตรผู้เยาว์ไม่จำต้องเป็นการศึกษาของโรงเรียนรัฐบาล ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าได้ชำระค่าให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ทั้งสามแล้วตามเอกสารแนบท้ายอุทธรณ์นั้นก็เป็นคนละส่วนกับที่จำเลยชำระภายหลัง สำหรับสลากออมสินที่โจทก์ฎีกาว่าได้มอบให้แก่จำเลยแล้วนั้น ก็ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยได้รับหรือเป็นการรับว่าเป็นการชดใช้เงินที่จำเลยชำระไปก่อน ทั้งเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากล่าวมาโดยชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ฎีกาของโจทก์ประการที่สองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า จำเลยผิดสัญญาโดยไม่ยอมให้โจทก์ติดต่อบุตรผู้เยาว์อันเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิอายัดสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากบริษัทปิยะศิริ จำกัด หรือไม่ และฐานะของโจทก์ผู้ให้เปลี่ยนไปจึงไม่จำต้องชำระค่าการศึกษาของบุตรผู้เยาว์ทั้งสามต่อไปหรือไม่ แม้จำเลยจะผิดสัญญาไม่ยอมให้โจทก์ติดต่อกับบุตรผู้เยาว์ทั้งสามก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะไปว่ากล่าวเป็นคดีต่างหาก หากระทบถึงสิทธิที่บุตรผู้เยาว์ทั้งสามจะต้องได้รับค่าใช้จ่ายในการศึกษาจากโจทก์ซึ่งจำเลยได้ชำระไปแทนก่อนไม่ ส่วนที่ว่าฐานะของโจทก์เปลี่ยนไปนั้น โจทก์ไม่ได้ตั้งประเด็นไว้ในคำร้องจึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากล่าวมาโดยชอบในศาลชั้นต้นดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย แม้โจทก์จะฎีกาต่อมาศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย ฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายฟังไม่ขึ้นเช่นกัน อนึ่ง เมื่อวินิจฉัยปัญหาทั้งสามประการดังกล่าวมาแล้ว จึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนการอายัดตามคำร้องขอของโจทก์ ฎีกาของโจทก์ทุกประการฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ